หน้าแรกTrade insightเกษตรอื่นๆ > แคนาดาเร่งพัฒนาสติ๊กเกอร์ติดผักและผลไม้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

แคนาดาเร่งพัฒนาสติ๊กเกอร์ติดผักและผลไม้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เมื่อหลายคนหันมาช่วยกันปรับพฤติกรรมให้การบริโภคของตัวเองกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ทำให้มีผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่อยู่รอบตัวมีแนวโน้มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แม้กระทั่งสติ๊กเกอร์แปะผักผลไม้ที่เห็นได้ทั่วไป ก็ยังควรย่อยสลายได้ตามธรรมชาติเช่นกัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และนำมาซึ่งผลกระทบทางตรงในด้านระบบนิเวศ และทางอ้อมถึงชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจต่างๆ อย่างมากมายนั้น มาจากการใช้งานของถุงพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวเรามากมาย สำหรับประเทศแคนาดานับว่าเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่มีการผลักดันการรณรงค์ห้ามใช้พลาสติกอย่างแข็งขัน โดยมีการสั่งห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single Use Plastics) ในร้านค้าปลีกและร้านอาหารมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 และยังให้ผู้ประกอบการเรียกเก็บเงินค่าถุงกระดาษจากลูกค้าที่ต้องการถุงหิ้วนำกลับ นอกจากนั้น ตั้งแต่ปลายปี 2565 รัฐบาลยังประกาศให้มีการสั่งห้ามผลิตและนำเข้าผลิตภัณฑ์ประเภทพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 6 ประเภท อาทิ  หลอด ช้อนส้อมมีดพลาสติก ไม้คนของเหลว บรรจุภัณฑ์สำหรับใส่อาหารและเครื่องดื่มเพื่อนำกลับ เป็นต้น

เมื่อแนวโน้มที่เราจะให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมที่นับวันยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อุตสาหกรรมค้าปลีกจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะแสดงบทบาทในการมีส่วนร่วมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เพราะนอกเหนือจากที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่รัฐกำหนดไว้แล้วนั้น ยังถือเป็นการดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคที่จะเลือกจับจ่ายใช้สอยกับร้านค้าหรือแบรนด์สินค้าที่ให้ความสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น

ในการนี้ จึงนับเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับนาย Joe Sleiman ประธานบริษัท Accu-Label จำกัด ผู้ผลิตสติ๊กเกอร์ติดผักและผลไม้สดประเภทย่อยสลายได้ (compostable)  โดยนาย Joe กล่าวว่า บริษัทได้มีการคิดและพัฒนาสติ๊กเกอร์ที่ผลิตจากวัสดุกระดาษมาตั้งแต่ปี 2554 เพียงเพราะต้องการลดความเสี่ยงจากการที่เด็กๆ อาจจะรับประทานเข้าไปโดยไม่รู้ตัว จนมาถึงปัจจุบันนี้ บริษัทมีการผลิตสติ๊กเกอร์ดังกล่าวจำนวนมากกว่าหลายพันล้านชิ้นต่อปี มีกลุ่มลูกค้ามากกว่า 400 รายทั่วประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ขณะเดียวกัน ทางรัฐบาลแคนาดาก็กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนเกี่ยวกับการจัดทำแนวทางปฏิบัติเพื่อออกระเบียบให้สติ๊กเกอร์ติดผักและผลไม้สด (PLU: Price Look-Up) ต้องย่อยสลายได้ โดยทางการเห็นว่า แม้สติ๊กเกอร์จะเป็นเพียงชิ้นส่วนชิ้นเล็กๆ แต่หากรวมกันหลายชิ้นแล้ว ย่อมส่งให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน จึงจำเป็นต้องมีมาตรการออกมารองรับ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายที่ต้องการลดขยะพลาสติกในแคนาดาให้เหลือศูนย์ภายในปี 2573

นาย Joe Sleiman กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ทางบริษัทได้มีการพัฒนารูปแบบสติ๊กเกอร์ที่สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพ (compostable) จนได้รับการรับรองจากหน่วยงาน Compost Manufacturing Alliance (CMA) เป็นที่เรียบร้อย อย่างไรก็ดี ปัญหาของสติ๊กเกอร์รุ่นนี้คือยังไม่สามารถยึดติดกับผลไม้ที่มีพื้นผิวไม่เรียบลื่น อาทิ กีวี ลูกพีช ได้ดี บริษัทจึงยังต้องมีการศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมต่อไป

ล่าสุดบริษัท Pure Flavor Foods ผู้ปลูกและจำหน่ายผักและผลไม้ในโรงเรือน (Greenhouse) แห่งหนึ่งในแคนาดา ได้เริ่มหันมาใช้สติ๊กเกอร์ที่สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพ (compostable) แทนพลาสติกแบบเดิม เพราะเห็นความสำคัญต่อการรับผิดชอบต่อสังคมแม้จะมีราคาที่สูงกว่าสติ๊กเกอร์แบบพลาสติกก็ตาม นอกจากนั้น ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ลูกค้าที่ซื้อสินค้าในร้านค้าบางรายอาจยังไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างสติ๊กเกอร์รุ่นเดิมหรือแบบย่อยสลายได้ จึงให้สังเกตว่า หากเป็นสติ๊กเกอร์พลาสติกจะมีความเหนียวและเกาะติดผิวผักและผลไม้ได้ดีกว่าแบบย่อยสลายได้  และเชื่อว่าต่อไป ผู้ปลูกรายอื่นๆ จะเริ่มหันมาใช้สติ๊กเกอร์ที่สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพตามกันอย่างแน่นอน

ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ ท่ามกลางวิกฤติขยะพลาสติกที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก และเทรนด์การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมที่นับวันยิ่งจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรมองถึงโอกาสตรงจุดนี้ และนำรูปแบบการใช้บรรจุภัณฑ์หรืออื่นๆ มาปรับใช้ เช่น การใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม งดการใช้พลาสติก รวมถึงผู้ส่งออกที่จะทำการตลาดในแคนาดา ควรให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามนโยบาย BCG Model ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยเป็นที่ต้องการในตลาดแคนาดาเพิ่มขึ้นได้ต่อไป


ที่มา:

จัดทำโดย…สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์

Login