หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > เศรษฐกิจโมร็อกโกส่งสัญญาณบวกขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ย 3-4% ต่อปี : โอกาสของผู้ส่งออกไทย

เศรษฐกิจโมร็อกโกส่งสัญญาณบวกขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ย 3-4% ต่อปี : โอกาสของผู้ส่งออกไทย

 

แม้ว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF จะคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโมร็อกโกจะเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 3-4 ต่อปี แต่ในช่วงปี 2565-2566 อาจยังไม่สามารถขยายตัวได้เท่ากับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 โดยมีอัตราเงินเฟ้ออันเนื่องมาจากราคาอาหารและพลังงานปรับตัวสูงขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญ[1] อย่างไรก็ดี สัญญาณทางเศรษฐกิจของโมร็อกโกหลายตัวชี้ว่า เศรษฐกิจโมร็อกโกได้เริ่มฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาสแรกของปี 2566 โดยบางสาขามีการขยายตัวขึ้นสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของ        โควิด-19 แล้ว โดยเฉพาะการขนส่งทางรถไฟและการท่องเที่ยว[2] ซึ่งเป็นสาขาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจโมร็อกโก

เศรษฐกิจโมร็อกโกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน แต่ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลโมร็อกโกได้ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน การปฏิรูปการคลัง (​Fin Tech) รวมทั้งการเร่งพัฒนาภายในประเทศโดยเฉพาะสาขาศักยภาพ เช่น การนำเทคโนโลยีชั้นสูงมาใช้ในการเกษตร การพัฒนา R&D ในอุตสาหกรรมการผลิต การจูงใจให้เข้าไปทำเหมืองแร่ฟอสเฟต[3] การกระตุ้นการท่องเที่ยว การพัฒนาสตาร์ทอัพและอีคอมเมิร์ซ ซึ่งกลายเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโมร็อกโกให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติเร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ โมร็อกโกยังมีการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) หลายฉบับ โดยเฉพาะ FTA กับสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศในแอฟริกา และยังเป็นสมาชิกของสหภาพอาหรับมาเกร็บ (Arab Maghreb Union) ซึ่งมีเป้าหมายไปสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในแอฟริกาเหนือด้วย

 

ความคิดเห็น/ข้อสังเกต

ในช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา บางประเทศในภูมิภาคแอฟริกาเหนือประสบปัญหาภาวะขาดแคลนเงินตราต่างประเทศจนทำให้ต้องใช้เวลานานในการอนุมัติจ่ายค่าสินค้านำเข้า ขณะที่โมร็อกโกแม้ว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศแอฟริกาเหนืออื่น ๆ แต่ก็น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกไทยที่อาจพิจารณาใช้โอกาสจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สิทธิประโยชน์จาก FTA และความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์และโลจิสติกส์ของโมร็อกโก เพื่อบุกตลาดโมร็อกโกและเป็นประตูการค้าไปสู่ประเทศอื่น ๆ ในสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ข้าว และในสาขาโมร็อกโกให้การส่งเสริม เช่น สิ่งทอ เหมืองแร่ พลังงานหมุนเวียน โครงสร้างพื้นฐาน คมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์

อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกไทยจะต้องศึกษาทำความเข้าใจตลาด กฎระเบียบในการทำการค้า และพฤติกรรมผู้บริโภคของโมร็อกโกอย่างรอบด้าน อีกทั้งต้องติดตามภาวะเงินเฟ้อและสภาพตลาดยุโรปซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของโมร็อกโกด้วย เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดให้โมร็อกโกเป็นจุดหมายปลายทางของสินค้าไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

 

——————————————–

[1] IMF. World Economic Outlook, April 2023. https://www.imf.org/en/Publications/WEO/Issues/2023/04/11/world-economic-outlook-april-2023 และ Morocco World News https://www.moroccoworldnews.com/2023/04/354942/imf-expects-moroccos-economic-growth-to-remain-below-pre-pandemic-level

[2] Morocco World News

[3] โมร็อกโกมีหินแร่ฟอสเฟตกว่าร้อยละ 30 ของโลก ครอบคลุมร้อยละ 40 ของการค้าแร่ฟอสเฟตและกรดฟอสฟอริกของทั้งโลก

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login