สถาบันวิจัยแห่งหนังสือพิมพ์ Handelsblatt (HRI- Handelsblatt Research Institute) ได้คาดการณ์ตัวเลขทางเศรษฐกิจของเยอรมนีว่า เป็นช่วงขาลง ซึ่งแตกต่างไปจากสถาบันอื่น ๆ ทั้งนี้ HRI คาดว่า หลังจากที่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2023 ที่ลดลงแล้ว ตัวเลข GDP ในปี 2024 และปี 2025 น่าจะลดลง 0.3% ด้วยเช่นกัน ซึ่งเรียกได้ว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมนีอ่อนแอยาวนานมากที่สุด นับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจของประเทศเคยหดตัวต่อเนื่องติดต่อกันจำนวน 16 ไตรมาส ก็ได้กลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2005 โดยเศรษฐกิจของประเทศประคองตัวดีมาได้ยาวจนถึงช่วงการเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินของโลก ในปลายปี 2008 ซึ่งตอนนั้นเศรษฐกิจได้หดตัวเพียง 2 ปีติดต่อกัน ซึ่งนั่นก็นับว่าหนักหนามากแล้ว แต่สำหรับครั้งนี้อาจใช้เวลานานกว่านั้น ที่จะทำให้เศรษฐกิจประเทศกลับมาดีขึ้นได้อีกครั้งและไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่หลังสงคราม ที่เศรษฐกิจของเยอรมันจะหดตัว 3 ปีติดต่อกัน ดังนั้น หลายฝ่ายจึงได้ออกมาตั้งคำถามว่า แล้วอะไรรออยู่ข้างหน้าสำหรับเยอรมนี นาย Bert Rürup ผู้อำนวยการของ HRI ได้ชี้แจงผลที่ตามมาของเศรษฐกิจขาลงนี้ว่า “การลดลงของผลการจัดทำบัญชีประชาชาติ (National Accounting) ซึ่งจะนำไปสู่รายได้จากภาษีน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้” และยังได้กล่าวเสริมอีกว่า “ไม่ว่ารัฐบาลจะต้องการจะชนะใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วยการเข็นเอาโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจใดออกมาก ก่อนการเลือกตั้งในระดับประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ก็ไม่สามารถหาเงินงบประมาณมาพอที่จะทำได้” มาตรการการรักษาเสถียรภาพอย่างสมดุล (Balanced Budget Amendment, Ger: Schuldenbremse) ที่กำกับดูแลโดยรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ก็ไม่อนุญาตให้กู้ยืมเงินใด ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ นาย Rürup ยังได้กล่าวอีกว่า งบประมาณของรัฐบาลกลางในปี 2025 “ยังคงถูกยึดติดกับกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี” ปัจจุบันก็ยังไม่สามารถมองเห็นแนวโน้มที่จะสามารถแก้ไขปัญหาในเชิงนโยบายและเศรษฐกิจได้ และจากการคาดการณ์ของ HRI การขยายตัวของ GDP ที่แท้จริงในปีหน้า น่าจะต่ำกว่าระดับช่วงก่อนเกิดวิกฤตในปี 2019 เล็กน้อย เรียกได้ว่า เยอรมนีสูญเสียการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปเป็นเวลา 6 ปี ซึ่งสาเหตุหลักมาจากวิกฤติการณ์ในในอุตสาหกรรมต่าง ๆ นั่นเอง หลังจากหักลบอัตราแปรปรวนตามฤดูกาลออกแล้ว ปัจจุบันปริมาณการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอยู่ในระดับเดียวกับช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2010 เท่านั้นเอง สาเหตุหลักเป็นเพราะคำสั่งซื้อยังคงลดลงเรื่อย ๆ ทำให้ปริมาณคำสั่งซื้อที่ตกค้างอยู่จึงทยอยหดตัวอย่างต่อเนื่อง
ในวาระการประชุมของทุกภาคส่วนอุตสาหกรรมที่สำคัญในประเทศต่างก็เร่งหาทางออกด้วยการเข็นเอามาตรการประหยัดเงินงบประมาณของตนออกมาแบบครบวงจร โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมผู้สร้างเครื่องจักรและโรงงานเยอรมนี (VDMA -Verband Deutscher Maschinen- und Anlagenbau) ได้ลดการประเมินปริมาณการผลิตของภาคอุตสาหกรรมลง โดยในปีนี้ คาดว่า ปริมาณการผลิตของภาค อุตสาหกรรมจะหดตัวลง 8% และตามมาด้วย 2% ในปี 2025 แทนที่ภาคอุตสาหกรรมจะสามารถนำเงินที่หายไปนี้มาลงทุนในระบบเทคโนโลยีให้มีความทันสมัย เสริมสร้างประสิทธิผล และเป็นมิตรกับสภาพอากาศ มากขึ้น กลับกลายเป็นว่า การจ้างงานหลายแสนตำแหน่งในเยอรมนีกลับตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้างแทน โดยหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เกิดทัศนคติ “ไม่กล้าทำอะไร” กับของกลุ่มผู้บริหารจำนวนมาก คือ การขาดเสถียรภาพ/ความไม่แน่นอน ซึ่งเป็นผลมาจาก (1) ความไม่แน่นอนนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐอเมริกาที่กำลังจะมาถึง (2) บทบาทของจีนในอนาคตในด้านภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจโลก (3) จะจัดหาพลังงานอย่างไรให้เพียงพอในอนาคต (4) ปัญหาประชานิยมที่เพิ่มมากขึ้นจนทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมเยอรมัน และ (5) การตื่นตระหนกต่อบทบาทของชาวต่างชาติในประเทศจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ เห็นได้ชัดว่า ผู้มีอำนาจตัดสินใจในบริษัทต่าง ๆ เริ่มลดความเชื่อมั่นในความสามารถของรัฐบาลกลางเยอรมันที่จะสามารถเอาชนะความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้าลงเรื่อย ๆ ดังนั้น จึงเป็นการตัดสินใจที่ค่อนข้างมีเหตุผลหากผู้บริหารของบริษัทต่าง ๆ ที่จะรอดูสถานการณ์ทางธุรกิจต่าง ๆ ให้แน่ใจก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรลงไป โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีความไม่แน่นอนสูง อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวในด้านการลงทุนก็ส่งผลต่อการพัฒนาตัวเศรษฐกิจจนส่งผลให้กำลังทางเศรษฐกิจถูกเลื่อนออกไปก่อน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเล็กน้อยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ได้ หลังจากที่ภาคอุตสาหกรรมลดการลงทุนในโรงงานและระบบในระดับกลางในช่วงปี 2023 จากการคาดการณ์ของ HRI การลงทุนด้านโรงงานและระบบ ในปี 2024 น่าจะลดลง 6.4% โดยการลงทุนเหล่านี้รวมถึงลงทุนในวัสดุอุปกรณ์ของโรงงานที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ เช่น เครื่องจักร คาดว่า ในปี 2025 การลงทุนดังกล่าวจะลดลง 3% และจะลดลงอยู่ในระดับเดียวกันกับปี 2015 เลยทีเดียว โดยการชะลอและลดการการลงทุนของภาคเอกชนในปัจจุบันเป็นอันตรายต่อโอกาสการเติบโตของเศรษฐกิจ และการจ้างงานในอนาคต นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-2019 ที่ผ่านมา จำนวนพนักงานในภาคอุตสาหกรรมก็ทยอยลดลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนเกิดวิกฤติโควิด-2019 (ไตรมาสสุดท้ายของปี 2019) การจ้างงานในภาคการผลิตลดลง 3.7% ในช่วงต้นฤดูร้อนปี 2024 (เทียบเท่ากับ 289,000 คน) ในทางกลับกัน การสร้างงานในภาครัฐกลับเพิ่มขึ้นเป็นหลัก เมื่อลองคำนวณเชิงคณิตศาสตร์ตามสถิติแล้ว หมายความว่า ตำแหน่งวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ (Mechatronics Engineering) ด้านรถยนต์ที่ทำงานเต็มเวลา 1 คน จะถูกแทนที่ด้วยตำแหน่งพี่เลี้ยงเด็กนอกเวลาจำนวน 2 คน นอกจากนี้สถานการณ์ (1) ข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการรายงานเกือบทุกวันว่าย่ำแย่ (2) การวางแผนลดตำแหน่งการจ้างงาน และ (3) การประกาศล้มละลายที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ข่าวเหล่านี้ล้วนสร้างความกังวลให้กับผู้บริโภค แม้แต่ค่าจ้างจริงจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ก็ไม่สามารถช่วยกระตุ้นการบริโภคของครัวเรือนในระยะยาวได้ ผู้บริโภคจำนวนมากต่างก็ระมัดระวังในการจับจ่ายเพิ่มทุนสำรองขยายการออมทรัพย์ไว้รับมือกับช่วงเวลาที่เลวร้ายมากขึ้น ความซบเซาของเศรษฐกิจระดับมหภาคอย่างต่อเนื่องมีแนวโน้มที่จะทำให้ผู้ว่าจ้างในภาคเอกชนพยายามรักษาการเพิ่มค่าจ้างไม่ให้สูงขึ้นเกินขอบเขตที่รับได้ ความต้องการล่าสุดของสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมเหล็ก (Industriegewerkschaft Metall, IG Metall) ที่ต้องการให้มีการเพิ่มค่าจ้างขึ้น 7% เป็นเรื่องที่ไม่ตอบสนองกับสถานการณ์ในระยะสั้น โดยเมื่อพิจารณาถึงวิกฤติอุตสาหกรรมในปัจจุบันแล้ว ความต้องการดังกล่าวก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ในระยะยาวอีกด้วย นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป นโยบายปลอดภาษีอากรในการจ่ายเงิน “โบนัสเงินเฟ้อ” ให้กับลูกจ้าง ซึ่งผู้ว่าจ้างจำนวนมากใช้นโยบายอยู่จะสิ้นสุดลง เรียกได้ว่า ปัจจุบันผู้ว่าจ้างบิดเบือนการพัฒนาตัวของค่าจ้างปัจจุบันไว้อยู่ เว้นแต่ว่าการให้เงิน “โบนัสเงินเฟ้อ” ซึ่งเป็นเงินที่ให้แบบครั้งเดียวเหล่านี้จะถูกแปลงเป็นการขึ้นเงินเดือนอย่างถาวร อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา ระดับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นเกือบ 20% ที่ผู้บริโภคชาวเยอรมันต้องรับมือมา มีแนวโน้มว่า ระดับราคาสินค้าจะคงที่สูงในระดับนี้ต่อไป อัตราเงินเฟ้อในเยอรมนีเมื่อเร็ว ๆ นี้ลดลงเหลือ 1.9% แต่การที่อัตราเงินเฟ้อลดลงไม่ได้หมายความว่า ราคาสินค้าจะลดลงเพียงแต่เพียงเพิ่มขึ้นช้าลงเท่านั้น
แม้ว่าจะมีการเพิ่มค่าจ้างเมื่อเร็ว ๆ นี้ แต่ค่าจ้างที่แท้จริง (หลังจากนำอัตราเงินเฟ้อมาหักลบ) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2024 ยังคงอยู่ในระดับเดียวกันกับช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2017 ซึ่งสถิติของสำนักงานสถิติประจำประเทศเยอรมนี (Statistisches Bundesamt) ได้ออกมายืนยันความรู้สึกของพลเมืองจำนวนมาก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพวกเขารู้สึกว่ายากจนลง และหากไม่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือมีการขยายการผลิตเพิ่มขึ้นก็จะทำให้ไม่มีการกระจายทางเศรษฐกิจโดยรวมในประเทศเกิดขึ้น การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างจึงกลายเป็นเกมส์ที่มีผลรวมเป็น “ศูนย์” สำหรับเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากรายได้ของบริษัทและทรัพย์สินขยายตัวเท่ากันกับรายได้ที่ลดลง การเติบโตทางเศรษฐกิจที่หายไปกำลังส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงฤดูร้อน ปริมาณการประกาศล้มละลายในระยะยาวก้าวแตะระดับสูงสุดในประวัติการณ์ ในเดือนกรกฎาคม ตามการคาดการณ์ของสถาบัน Leibniz เพื่อการวิจัยทางเศรษฐกิจ แห่งเมือง Halle (IWH – Leibniz-Institut für Wirtschaftsforschung Halle) แจ้งให้ทราบว่า จากข้อมูลอย่างเป็นทางการ ปริมาณการประกาศล้มละลายเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หรือสูงกว่าปริมาณของปีก่อน 37% และสูงกว่าค่าเฉลี่ยเดือนกรกฎาคมในช่วงปี 2016 – 2019 ถึง 46% อีกด้วย บริษัท Allianz Trade บริษัทประกันภัยสินเชื่อคาดว่า ในปีนี้จะมีบริษัทประกาศล้มละลายประมาณ 21,500 ราย ซึ่งมากกว่าปีก่อนหน้าถึง 21% และสำหรับปีที่จะถึงนี้ คาดว่า บริษัทอีกราว 22,000 แห่ง อาจจะล้มละลายได้เช่นกัน โดยเฉพาะในภาคธุรกิจการก่อสร้างและค้าปลีกน่าจะมีการล้มละลายเป็นหลัก จากข้อมูลของสำนักงานจัดหางานของรัฐบาลกลางเยอรมนี (BA – Bundesagentur für Arbeit) พบว่า พนักงานที่ตกงานในปัจจุบันเป็นเรื่องยากมากที่จะหางานใหม่ได้ การขยายตัวของตลาดแรงงานในปัจจุบัน ได้รับแรงหนุนจากข้อเท็จจริงที่ว่า ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่ง เช่น Bayer, Henkel, Thyssen-Krupp Steel และล่าสุด Volkswagen ได้ออกมาประกาศลดจำนวนพนักงานจำนวนมาก นอกจากนี้ เป็นไปได้ที่จะมีการปลดพนักงงานเพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจของบริษัท (Betriebsbedingte Kündigung) อีกด้วย (ผู้แปล : ในเยอรมนีการปลดพนักงานด้วยเหตุผลดังกล่าวทำได้ง่ายกว่าการปลดด้วยเหตุผลอื่น) นาง Andrea Nahles ผู้บริหารหลัก BA ได้ออกมายืนยันเมื่อนำเสนอรายงานตลาดแรงงานล่าสุดของว่า “ตลาดแรงงานเริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง (Economic Stagnation) ทำให้การว่างงาน และระยะเวลาการทำงานต่ำกว่าเกณฑ์ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน” เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว BA ได้ลงทะเบียนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 176,000 คน ซึ่งสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเกือบ 15,000 คนต่อเดือน HRI สันนิษฐานว่า แนวโน้มเชิงลบของตลาดแรงงานจะยังคงดำเนินต่อไป และการเปลี่ยนแปลงจะขยายตัวขึ้นต่อไป ในปีปัจจุบันคาดว่า จำนวนผู้ว่างงานจะเพิ่มขึ้น 180,000 คน หรือสู่ระดับเฉลี่ย 2.79 ล้านคนต่อปี ตามการคาดการณ์นี้ ในปี 2025 ซึ่งเป็นปีเลือกตั้งใหญ่ของประเทศเป็นไปได้ที่จำนวนผู้ว่างงานจะสูงกว่า 3 ล้านคน นับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ต้นปี 2015 เป็นต้นมา โดย HRI คาดว่า ในช่วงกลางปีดังกล่าวจะมีผู้ว่างงานเฉลี่ยที่ 3.01 ล้านคนโดยประมาณ นอกจากนี้ปั ญหาด้านการคุณภาพการศึกษาในประเทศเยอรมนีแสดงให้เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในตลาดแรงงานอีกด้วย ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากระบุว่า คนหนุ่มสาวจำนวนมากขาดทักษะพื้นฐานที่นายจ้างต้องการ ตรงกันข้ามกับสถาบันวิจัยเศรษฐกิจอื่นๆ HRI ไม่ได้คาดการณ์ว่า การบริโภคในครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคตอันใกล้นี้ โดย HRI คาดว่า ปีนี้และปีหน้าการบริโภคภาคในครัวเรือนน่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% เท่านั้น ซึ่งหมายความว่า การบริโภคในครัวเรือนนี้ยังสามารถที่จะชดเชยการลดลงของ 2023 ได้เพียงปีเดียวเท่านั้น ในปี 2025 การบริโภคในครัวเรือนไม่น่าจะสูงกว่าในปีก่อนเกิดวิกฤตโคโรน่าปี 2019 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการบริโภคในครัวเรือนมีส่วนรับผิดชอบต่อ GDP ของประเทศประมาณครึ่งหนึ่ง ทำให้การบริโภคในครัวเรือนไม่สามารถเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการผลักดันการขยายตัวของค่า GDP ได้ ในส่วนสถานการณ์ธุรกิจก่อสร้างก็มีความยังคงไม่มั่นคง แม้ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมก็ตาม HRI คาดการณ์ว่า การลงทุนในธุรกิจก่อสร้างจะลดลง 3.4% ในปีนี้ และลดลงอีก 2.5% ในปีหน้า ซึ่งหมายความว่า ในปี 2025 การลงทุนในธุรกิจก่อสร้างจะต่ำกว่าระดับในปี 2013 เล็กน้อย ธุรกิจก่อสร้างที่อยู่อาศัยยังขาดแรงดันอย่างหนัก เพราะปัญหาอยู่ที่ราคาการก่อสร้างกลับไม่ตกแม้ว่าอุปสงค์จะอ่อนตัวลงก็ตาม บริษัทอสังหาริมทรัพย์จะต้องให้เช่าห้องชุดใหม่ที่สร้างในราคาประมาณ 16 – 20 ยูโรต่อ 1 ตารางเมตร จึงจะสามารถชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ แต่ตลาดในปัจจุบันไม่สามารถเรียกค่าเช่าที่สูงขนาดนี้ได้ทำให้ สิ่งนี้ทำให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ต้องหยุดโครงการก่อสร้างจำนวนมาก ผลลัพธ์ที่ได้คือ บริษัทก่อสร้างที่อยู่อาศัย 1 ใน 2 บริษัท ออกมาบ่นเรื่องการขาดการก่อสร้างที่อยู่อาศัย สหภาพอุตสาหกรรมเพื่อการก่อสร้าง – เกษตร – สิ่งแวดล้อม (IG Bau – Industriegewerkschaft Bauen-Agrar-Umwelt) และสมาคมผู้เช่าเยอรมัน (DMB – Deutsche Mieterbund) จึงออกมาเรียกร้องให้มีรัฐบาลกลางและรัฐต่าง ๆ สร้างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อต่อสู้กับปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัย ในอนาคตรัฐบาลกลางและรัฐต่าง ๆ ควรสนับสนุนการก่อสร้างอาคารชุดใหม่ด้วยเงิน 20 พันล้านยูโรต่อปี แต่ปัจจุบันก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่า จะหาเงินดังกล่าวมาจากที่ใด
ก่อนหน้านี้ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของเยอรมนีมักจะสามารถสิ้นสุดลงด้วยอุปสงค์จากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น การส่งออกที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้รายได้ในประเทศเพิ่มขึ้นผ่านการขยายการลงทุน กำไรที่เพิ่มขึ้น และค่าจ้างที่สูงขึ้น แต่เมื่อการค้าโลกอยู่ในช่วงขาลง เนื่องจากนโยบายที่มุ่งปกป้องสินค้า และบริการที่ผลิตภายในประเทศ (Protectionism – ลัทธิการคุ้มครองทางการค้า) กลับมาได้รับการยอมรับจากสังคมโลกอีกครั้ง นอกจากนี้ กลยุทธ์ของจีนที่มุ่งการแยกส่วนสินค้าที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ก็มีส่วนช่วยผลักดันระบบ Protectionism ขึ้นไปอีก นอกจากนี้ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของเยอรมนีอย่างกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร (Euro Zone) ก็ยังไม่เติบโตมากนัก ในขณะที่จีนเองก็กำลังดิ้นรนหนีภาวะเงินฝืดและมีแนวโน้มที่พลาดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 5% นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็กลับมาชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายนนี้จะเป็นอย่างไร สหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มที่จะดำเนินกลยุทธ์การพึ่งพาตนเองต่อไป (Protectionism) หากเป็นไปได้สหรัฐฯ ต้องการใช้สินค้า/วัตถุดิบที่ผลิตภายในประเทศ แทนที่การนำเข้า ซึ่ง HRI คาดว่า ในปี 2024 และ 2025 ธุรกิจการส่งออกของเยอรมนีน่าจะยังคงซบเซาต่อไป นาย Rürup กล่าวว่า “เศรษฐกิจของเยอรมนีกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนไม่ว่าจะเป็น การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) การลดการผลิตค่าคาร์บอน (Decarbonization) และปัญหาการพัฒนาตัวของประชากร สิ่งเหล่านี้ กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างหนัก” อย่างไรก็ตามตลอดเกือบ 80 ปีที่ผ่านมา ของประวัติศาสตร์หลังสงคราม เศรษฐกิจของเยอรมนีก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “มีความยืดหยุ่น และปรับตัวได้อย่างน่าทึ่ง นอกจากนี้ยังสามารถเอาชนะการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างบางอย่างได้สำเร็จ” นาย Rürup กล่าวต่อว่า ความรู้สึกของคนในปัจจุบันเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศนั้นดูเหมือนจะ “มืดมนเกินควร เราต้องหวังว่า อย่างน้อยรัฐบาลกลางชุดต่อไปจะมีความกล้าหาญ และมีความแข็งแกร่ง ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจเยอรมนี โดยทำให้เรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นหัวใจหลักของรัฐบาลให้ได้”
จาก Handelsblatt 11 ตุลาคม 2567
อ่านข่าวฉบับเต็ม : เศรษฐกิจเยอรมนีตกติดต่อกัน 3 ปีซ้อน