หน้าแรกTrade insight > เศรษฐกิจสีเขียว กุญแจสู่การเติบโตที่ยั่งยืนของเวียดนาม

เศรษฐกิจสีเขียว กุญแจสู่การเติบโตที่ยั่งยืนของเวียดนาม

การส่งเสริมทางเศรษฐกิจสีเขียวเป็นเรื่องที่เวียดนามและองค์กรระหว่างประเทศจำนวนมากให้ความสำคัญ โดยมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GreenHouse Gas: GHG) อย่างน้อยร้อยละ 55 ภายในปี 2568

ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามได้จัดการประชุม (Green Economy Forum: GEF) 2023 ในกรุงฮานอย โดยรัฐบาลให้ความสำคัญต่อเศรษฐกิจสีเขียว สนับสนุนกลยุทธ์และความสำคัญของสหภาพยุโรป (EU) ในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ เพื่อให้บรรลุข้อตกลงสีเขียว รวมถึงเศรษฐกิจทางทะเลและกลยุทธ์เศรษฐกิจดิจิทัล

นาย ฝ่าม มิงห์ จิญ (Pham Minh Chinh) นายยกรัฐมนตรีระบุว่า เวียดนามและสหภาพยุโรปมีความคิด และ ความมุ่งมั่นในการเติบโตเศรษฐกิจสีเขียวเป็นอย่างมาก

เวียดนามกำลังมุ่งเน้นไปที่การเร่งความก้าวหน้าทางยุทธศาสตร์ 3 ประการในด้านสถาบัน โครงสร้างพื้นฐาน และทรัพยากรมนุษย์ โดยส่งเสริมการเติบโตบนพื้นฐานของเทคโนโลยีและนวัตกรรม เวียดนามเป็นหนึ่งใน 4 ประเทศที่ลงนามในปฏิญญาทางการเมืองเกี่ยวกับการลงนามในความตกลง Just Energy Transition Partnership (JETP) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างเวียดนามและ International Partners Group (IPG) ได้แก่ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐอเมริกา อิตาลี แคนาดา ญี่ปุ่น นอร์เวย์ และเดนมาร์ก และหุ้นส่วนระหว่างประเทศ รวมถึงสหภาพยุโรป ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่ อุดมสมบูรณ์ ได้แก่ พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ เวียดนามพร้อมที่จะแบ่งปันศักยภาพและจุดแข็งของตน และร่วมมือกับพันธมิตรของสหภาพยุโรปในการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพลังงานสีเขียวและพัฒนาพลังงานหมุนเวียน รวมถึงไฮโดรเจนสีเขียว ในขณะเดียวกัน นาย Julien Guerrier เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำเวียดนามกล่าวว่า ด้วยนโยบายและแนวทางแก้ไขเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปี 2565 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสหภาพยุโรปลดลงประมาณร้อยละ 2.5 ในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหภาพเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ประสบความสำเร็จนั้นได้ควบคู่ไปกับการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก

เวียดนามมีความมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็น 0 ภายในปี 2593 ซึ่งมีเป้าหมายเช่นเดียวกับสหภาพยุโรปในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวและคาร์บอนต่ำ โดยช่วยสร้างความร่วมมือทวิภาคี

การแสวงหาการเติบโตอย่างยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งสร้างทั้งโอกาสและความท้าทาย โดยจะเปิดเส้นทางใหม่สำหรับนวัตกรรม การสร้างงาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการสร้างสังคมที่แข็งแกร่งและครอบคลุมมากขึ้น ในขณะเดียวกันจะเปลี่ยนไปสู่รูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

ด้วยการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชน ของสหภาพยุโรปและเวียดนาม ซึ่งสามารถสร้างศักยภาพในอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเติบโตมากขึ้น

นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ผู้ประกอบการของทั้งสองฝ่ายจะต้องหารือเกี่ยวกับมาตรการ เพื่อใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EU-Vietnam Free Trade Agreement: EVFTA) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางการค้าทวิภาคี โดยผู้ประกอบการในยุโรปควรพิจารณาเพิ่มการลงทุนและจัดตั้งศูนย์วิจัยในเวียดนามในสาขาใหม่ๆ เช่น พลังงานทดแทน การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล การเกษตรอัจฉริยะ และอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนเวียดนามให้กลายเป็นศูนย์นวัตกรรมและศูนย์กลางการวิจัยระดับภูมิภาคในด้านการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสีเขียว และสร้างห่วงโซ่คุณค่าไฮโดรเจนสีเขียวในเวียดนาม

                                         (จาก https://vietnamnews.vn/)

ข้อคิดเห็น สคต

เศรษฐกิจสีเขียวควบคู่กับการพัฒนาสังคมและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นสามเสาหลักของการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งยังเป็นแนวทางที่ประเทศต่างๆต้องปฏิบัติตาม โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การปรับเปลี่ยนมาเป็นเศรษฐกิจสีเขียวถือเป็นพลังขับเคลื่อนเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงในอาเซียน การพัฒนาที่ยั่งยืนและการเติบโตสีเขียวกลายเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับต้นๆ ในเป้าหมายการพัฒนาของเวียดนาม ภาครัฐมองหาแนวทางในการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ และคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่ง GreenGrowth เป็นหนึ่งในกระแสสำคัญของโลกที่ ได้รับการตื่นตัวเป็นอย่างมาก ควบคู่ไปกับสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี เวียดนามเป็นประเทศที่มีจุดเด่นหลายอย่าง ทั้งการท่องเที่ยว เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ดังนั้น จึงอาจเป็นโอกาสที่ดีในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจแบบยั่งยืน เพื่อที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตได้ โดยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาแนวทางมาตรการทางเศรษฐกิจสีเขียวของเวียดนาม ในอนาคตเวียดนามจะมีระบบการควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะรวมถึงการปรับมาตรฐานการปล่อยไอเสียจากยานพาหนะอีกด้วย

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login