หน้าแรกTrade insightปาล์มน้ำมัน > เศรษฐกิจมาเลเซียขยายตัวร้อยละ 3.3 ในไตรมาส 3

เศรษฐกิจมาเลเซียขยายตัวร้อยละ 3.3 ในไตรมาส 3

ที่มา : สำนักข่าว BERNAMA 

กรมสถิติมาเลเซีย (DOSM) ได้การเผยแพร่ประมาณการ GDP ล่วงหน้ารายไตรมาสโดยรายงานว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของมาเลเซียในไตรมาสที่สามของปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 3.3 เทียบกับร้อยละ 2.9 ในไตรมาสที่สองของปี 2566

DOSM กล่าวว่าภาคบริการมีตัวเลขเพิ่มขึ้นสูงที่สุดของประเทศส่งผลต่อ GDP ในไตรมาสที่สาม ตามมาด้วยภาคการก่อสร้างยังคงอยู่ในระดับปานกลาง ในขณะที่ภาคเกษตรกรรมมีการฟื้นตัวเล็กน้อย ในส่วนของภาคเหมืองแร่และเหมืองหินและภาคการผลิตหดตัวในไตรมาสที่สาม ในแง่ของผลการดำเนินงานภาคส่วน ภาคบริการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ในไตรมาสที่สามของปี 2566 โดยเป็นผลจากการขายส่งและการขายปลีก การขนส่งและการจัดเก็บและบริการธุรกิจที่มีตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาคการก่อสร้างขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 ภาคเกษตรกรรมขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.8 ซึ่งเป็นผลมาจากการผลิตที่ดีขึ้นของน้ำมันปาล์ม อย่างไรก็ตาม ภาคเหมืองแร่และเหมืองหินลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.1 โดยมีสาเหตุมาจากการผลิตก๊าซธรรมชาติที่ลดลง อีกทั้ง ภาคการผลิตยังลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.1 เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ออปติคอล ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติกลดลง

จากข้อมูลดังกล่าว DOSM ได้รายงานผลรวมของ GDP รวมสามไตรมาสของปี 2566 สรุปได้ว่าเศรษฐกิจของมาเลเซียขยายตัวร้อยละ 3.9 มีการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับปานกลาง

 

ความคิดเห็น สคต.

ประเทศมาเลเซียถือเป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากอัตราการบริโภคในประเทศที่มีเพิ่มสูงขึ้นและรายได้ต่อหัวของประชากรชาวมาเลเซียยังอยู่ในอันดับต้นๆ ของภูมิภาคอาเซียน จากรายงานของกรมสถิติของมาเลเซีย (DOSM) ได้รายงานผลการเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซียในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 นี้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของมาเลเซียซึ่งสำนักงานฯ มองว่ามาเลเซียเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจในการส่งออกสินค้าไทย อีกทั้ง การตอบรับสินค้าไทยที่เข้ามาทำตลาดในมาเลเซียยังมีการตอบรับที่ดีมากอีกด้วย โดยประชากรชาวมาเลเซียมีความหลากหลายในการบริโภคโดยเฉพาะสินค้าและบริการจากประเทศไทยที่ชาวมาเลเซียมีความนิยมบริโภคมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ประชากรชาวมาเลเซียให้ความสำคัญกับเรื่องของมาตรฐานสินค้าและบริการ ประกอบการไทยที่สนใจส่งออกสินค้าเพื่อทำตลาดในประเทศมาเลเซียจะต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ ของประเทศมาเลเซียโดยเฉพาะอย่างยิ่งตราฮาลาลที่ไม่เพียงแต่ชาวมุสลิมในประเทศมาเลเซียจะยอมรับในการบริโภคแล้ว ประชากรในมาเลเซียที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามยังยอมรับตราฮาลาลในเรื่องของมาตรฐานความสะอาดและเป็นหนึ่งในปัจจัยในการเลือกซื้อสินค้าและบริการต่างๆ อีกด้วย

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์

อ่านข่าวฉบับเต็ม : เศรษฐกิจมาเลเซียขยายตัวร้อยละ 3.3 ในไตรมาส 3

Login