ตามรายงาน e-Conomy Southeast Asia ของ Google, Temasek และ Bain & Co. คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของฟิลิปปินส์จะมีมูลค่ายอดขายรวม (GMV) สูงถึง 80,000 – 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2573 โดยจะมีอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) ที่ร้อยละ 20 ซึ่งเป็นอัตราเติบโต CAGR เร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ควบคู่ไปกับประเทศเวียดนาม สำหรับในปีนี้ เศรษฐกิจดิจิทัลของฟิลิปปินส์เติบโตร้อยละ 13 มีมูลค่า GMV อยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าในปี 2568 จะมีมูลค่า อยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ ตามรายงานระบุว่าแม้ว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในฟิลิปปินส์จะเป็นกลุ่มผู้ใช้ที่มีส่วนร่วมมากที่สุดในโลก แต่การมีส่วนร่วมทางดิจิทัลในภาคส่วนต่างๆ ยังคงอยู่ในระดับต่ำซึ่งเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นถึงช่องว่างขนาดใหญ่สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัลในระยะกลางถึงระยะยาวเมื่อรายได้เติบโตขึ้น นอกจากนี้ ในรายงานระบุว่าการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลส่วนใหญ่ขับเคลื่อนโดยภาคอีคอมเมิร์ซ ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 21 ต่อปี สู่ระดับมูลค่า 2.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2568 และคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2573 ในขณะที่สื่อออนไลน์ (Online Media)คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 19 ต่อปี มีมูลค่าเป็น 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2568 และจะภายในปี 2573 จะมีมูลค่าสูงถึง 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสื่อออนไลน์ครอบคลุมการโฆษณา การสตรีมเพลง การเล่นเกม และวิดีโอออนดีมานด์ สำหรับการเดินทางออนไลน์ (Online Travel) ซึ่งรวมถึงเที่ยวบินและโรงแรม คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2568 โดยจะมีอัตรา CAGR อยู่ที่ร้อยละ 18 และการบริการขนส่งและจัดส่งอาหาร (Transport and food delivery services) คาดว่าจะเติบโต ร้อยละ 19 ต่อปีเป็น 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2568 และเพิ่มเป็น 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2573 ทั้งนี้ ตามรายงานระบุว่า ผู้ให้บริการขนส่งทั้งในประเทศและระดับภูมิภาคกำลังขยายไปยังนอกเมืองอื่นๆ เพื่อกระตุ้นการเติบโตในระยะยาว รวมทั้งผู้ให้บริการต่างๆ เริ่มขยายการให้บริการรถสองล้อเพื่อเป็นทางเลือกที่ประหยัดกว่า
นอกจากนี้ ตามรายงานระบุว่าภาคบริการทางการเงินดิจิทัล (Digital Financial Service Sector) ของฟิลิปปินส์คาดว่า จะเติบโตอย่างรวดเร็วจนถึงปี 2573 โดยได้รับแรงหนุนจากการชำระเงินดิจิทัลเป็นหลักโดยคาดว่าในปีนี้จะมีอัตราเติบโตร้อยละ 17 มีมูลค่าอยู่ที่ 9.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีนี้ และ จะมีอัตราเติบโตร้อยละ 16 ต่อปี มีมูลค่าเป็น 1.26 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2568 และเพิ่มสูงถึง 2.20 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2573 ทั้งนี้ เนื่องจากการชำระเงินแบบดิจิทัลได้รับความสนใจมากขึ้นทำให้ เห็นถึงการเติบโตของระบบการชำระเงินแบบ e-wallet และแบบบัญชีต่อบัญชี (A2A) อย่างรวดเร็วที่สุดเนื่องจากต้นทุนที่ลดลงสำหรับร้านค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชำระเงิน A2A ที่ไม่เป็นทางการคาดว่าการนำไปใช้ของร้านค้าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากการมองข้ามการลงทะเบียนบัญชีธุรกิจอย่างเป็นทางการกับผู้ให้บริการการชำระเงินดิจิทัล นอกจากนี้ ในรายงานคาดการณ์ว่าสินเชื่อดิจิทัลจะมียอดเงินกู้ 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2568 และจะมีมูลค่าแตะ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2573 โดยการประกันภัยดิจิทัล และสินทรัพย์ภายใต้การบริหารเพื่อความมั่งคั่งทางดิจิทัลคาดว่าจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญจนถึงปี 2573
เศรษฐกิจดิจิทัลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ตามรายงาน e-Conomy Southeast Asia ของ Google, Temasek และ Bain & Co. ยังได้คาดการณ์ว่า ในปีนี้เศรษฐกิจดิจิทัลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตร้อยละ 11 จากปี 2566 ที่ชะลอตัว ร้อยละ 20 และคาดว่าในปี 2568 เศรษฐกิจดิจิทัลจะมีมูลค่า 2.95 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากการประมาณการครั้งก่อนซึ่งอยู่ที่ 3.30 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเห็นว่าภาคเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังแสดงวิถีการเติบโตเชิงบวกโดยการเดินทางและการขนส่งจะเติบโตเกินระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดฯ ภายในปี 2567 ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกอบด้วย 11 ประเทศ ซึ่งมีประชากรมากกว่าครึ่งพันล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นประชากรอายุน้อย มีการใช้สมาร์ทโฟนอย่างแพร่หลาย และมีจำนวนชนชั้นกลางเพิ่ม มากขึ้น ทำให้ภูมิภาคดังกล่าวเป็นหนึ่งในตลาดอินเทอร์เน็ตที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกโดยเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 20 ต่อปีในช่วงปี 2566-2568 และคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 4.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2568 ซึ่งเติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมกับฟิลิปปินส์ โดยการชำระเงินดิจิทัลจะยังคงเติบโตในเวียดนาม เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากรัฐบาลการลงทุนจากธนาคารพาณิชย์ และความนิยมอย่างกว้างขวางของการใช้รหัส QR ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวคาดว่าจะเร่งตัวขึ้น เนื่องจากธนาคารกลางของประเทศดังกล่าวส่งเสริมการชำระเงินแบบไร้เงินสดในพื้นที่ชนบท และพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้ ตามรายงานซึ่งครอบคลุมถึงอินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ แสดงให้เห็นว่าเงินทุนภาคเอกชนสำหรับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลได้ลดลงสู่ระดับปี 2560 จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2564 อย่างไรก็ตาม เงินสดสำรองสำหรับการลงทุนยังคงเพิ่มขึ้นแม้ว่านักลงทุนจะระมัดระวังมากขึ้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์ Business World
บทวิเคราะห์และข้อคิดเห็น
– เศรษฐกิจดิจิทัลของฟิลิปปินส์มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ช่วยกระตุ้นให้ ชาวฟิลิปปินส์เกิดการยอมรับการใช้อีคอมเมิร์ซ หรือการทำธุรกิจซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์อย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้ตลาดอีคอมเมิร์ซฟิลิปปินส์เป็นตลาดหนึ่งที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกลายเป็นตลาดที่น่าสนใจและเพิ่มความน่าดึงดูดจากจำนวนผู้ใช้งานขยายตัวอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยหนุนจากคนฟิลิปปินส์ใช้เวลาไปกับการท่องอินเตอร์เน็ตเฉลี่ยสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภครุ่นใหม่ที่หันมาใช้บริการออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก มีความสะดวกสบายในการใช้งาน มีโปรโมชั่นมากมายและประหยัดเวลา รวมทั้งทั้งมีสินค้าหลากหลายให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อ ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซฟิลิปปินส์มีช่องทางและโอกาสในการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์อีกมากมาย และทำให้มีจำนวนธุรกิจอีคอมเมิร์ซหน้าใหม่ทั้งในและต่างประเทศเข้าสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา
– ด้วยกระแสนิยมของยุคดิจิทัลและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงในการหันไปพึ่งพาช่องทางออนไลน์ และยอมรับการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจ/ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินธุรกิจสู่ดิจิทัลมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการใช้นวัตกรรมดิจิทัลมาขับเคลื่อนธุรกิจจึงไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไปแต่เป็นสิ่งจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และต้องเร่งปรับ รูปแบบธุรกิจสู่ระบบดิจิทัลเพื่อสร้างความได้เปรียบและความหยืดหยุ่นในการเติบโตในอนาคต ทั้งนี้ จากคาดการณ์เศรษฐกิจดิจิทัลของฟิลิปปินส์จะเติบโตอีกมาก ในระยะต่อไป ดังนั้น ผู้ประกอบการควรปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจมาเป็นแนวดิจิทัลมากขึ้น พัฒนาช่องทางออนไลน์และเพิ่มทักษะเทคนิคการขายออนไลน์เพื่อเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายสินค้าและเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ของผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ เนื่องจากการขยายตลาดด้วยช่องทางเดิมๆ อาจเป็นไปด้วยความลำบากและไม่สามารถเข้าถึง ผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ได้อย่างทั่วถึง โดยอาจพิจารณาเป็นพันธมิตรการขายร่วมกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซท้องถิ่นและแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนที่เป็นที่นิยมในฟิลิปปินส์ในการใช้เป็นช่องทางในการเจาะตลาดเข้าสู่ประเทศฟิลิปปินส์ได้อีกทางหนึ่ง
——————————————————
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา
17 พฤศจิกายน 2566
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)