หน้าแรกTrade insightข้าว > เวียนนาปัง! ยกข้าวหอมมะลิขึ้นโต๊ะมิชลิน ดันขึ้นแท่นสินค้าพรีเมี่ยม รุกผู้นำเข้าขยายตลาด

เวียนนาปัง! ยกข้าวหอมมะลิขึ้นโต๊ะมิชลิน ดันขึ้นแท่นสินค้าพรีเมี่ยม รุกผู้นำเข้าขยายตลาด

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเวียนนา และสำนักส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รุกคืบการสร้างภาพลักษณ์และมูลค่าให้กับข้าวหอมมะลิไทยในต่างประเทศ ยกขึ้นแท่นสินค้าพรีเมี่ยมผ่านกิจกรรม “Thai Hom Mali Rice at Steirereck“ เสิร์ฟข้าวหอมมะลิไทยในรูปแบบอาหาร ออสเตรียนโดยเชฟมิชลินสตาร์ระดับ 2 ดาว

ต่อยอดความสำเร็จจากการผลักดันการนำเข้าข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้มาตรฐานจีไอยุโรปมายังออสเตรียเป็นที่แรกในยุโรปเมื่อปีที่ผ่านมา และตอกย้ำศักยภาพข้าวไทยเหนือสินค้าคู่แข่ง พร้อมรุดเดินหน้ากล่อมผู้ซื้อรายเดิมเพิ่มเติมรายใหม่มุ่งขยายการค้า ตลอดจนสื่อสารผู้บริโภคทุกช่องทางเพื่อสร้างการรับรู้มาตรฐานและเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และกระตุ้นความต้องการบริโภคในวงกว้าง

 

>> คลิกที่นี่เพื่อชมภาพวีดิโอกิจกรรม

 

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2566 นางสาวอรอนุช ผดุงวิถี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเวียนนา ได้จัดกิจกรรม

ส่งเสริมการค้าและการเจราจาธุรกิจการค้าข้าวหอมมะลิไทย ณ ภัตตาคาร Steirereck (ชไตเรอร์เอ็ค) กรุงเวียนนา ซึ่งได้รับมาตรฐาน

มิชลินสตาร์ระดับ 2 ดาว ได้รับการจัดอันดับให้เป็นร้านอาหารที่ดีที่สุดในออสเตรีย และยังติด 1 ใน 50 ร้านอาหารที่ดีที่สุดในโลกเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน โดยมีกิจกรรมหลักคือการสาธิตข้าวหอมมะลิไทยเพื่อชูจุดเด่นของข้าวผ่านวิธีการต่างๆ อาทิ การพิจารณาด้วยสายตา การสัมผัส และการดมกลิ่นข้าวสาร ตลอดจนการลิ้มรสข้าวสวยและข้าวที่นำไปประกอบอาหารท้องถิ่น นำโดยเชฟ Heinz Reitbauer (ไฮนซ์ ไรท์บาวเออร์) ผู้รังสรรค์เมนูอาหารคาวที่เป็นหัวใจของงาน ได้แก่ ข้าวอบทรงเครื่อง (Reisfleisch) และอาหารหวาน ได้แก่ ข้าวในน้ำนม (Milchreis) ซึ่งไม่เพียงสร้างความสุขและความประทับใจอย่างยิ่งแก่ผู้มาร่วมงานแต่ยังเป็นเมนูตัวอย่างที่จะสามารถเชื่อมความรู้สึกระหว่างข้าวหอมมะลิไทยกับผู้บริโภคในออสเตรียได้อย่างเข้าถึงจิตใจอย่างลึกซึ้ง

 

งานนี้ได้รับเกียรติจากนางวิลาวรรณ มังคละธนะกุล เอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา มาเป็นประธาน มีบุคคลสำคัญและกลุ่มเป้าหมายสาขาต่างๆ มาร่วมงาน อาทิ ประธานสภากรุงเวียนนา คนที่ 1 ผู้แทนสภาหอการค้าออสเตรีย ผู้ประกอบการนำเข้าสินค้าอาหาร ผู้ประกอบการค้าส่งและค้าปลีก เชฟจากโรงแรม 5 ดาวและร้านอาหารที่มีชื่อเสียง ผู้สื่อข่าวด้านอาหาร ดารานักแสดง และอินฟลูเอนเชอร์ โดยวัตถุประสงค์หลักของการจัดงาน ได้แก่ การสร้างการรับรู้มาตรฐานและเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย พร้อมกับการโชว์ศักยภาพของข้าวหอมมะลิไทยในการเป็นข้าวคุณภาพสูงที่สามารถนำไปประกอบอาหารใดๆ ก็ได้ ไม่จำกัดเฉพาะอาหารไทย อันจะนำไปสู่การตัดสินใจนำเข้า การจัดจำหน่าย และการใช้ข้าวหอมมะลิไทยเพื่อให้บริการในร้านอาหารและโรงแรม รวมถึงธุรกิจเคเทอริ่ง ตลอดจนการสร้างภาพลักษณ์ของข้าวหอมมะลิไทยให้เป็นสินค้าระดับพรีเมี่ยม ราคาสูงสอดคล้องกับคุณภาพ และไม่ใช่คู่แข่งขันด้านราคากับสินค้าใกล้เคียง

 

การจับมือครั้งประวัติศาสตร์กับภัตตาคาร Steirereck ในครั้งนี้เป็นความสำเร็จก้าวสำคัญของความพยายามในการยกระดับข้าวหอมมะลิไทยในต่างประเทศ เป็นเหตุการณ์ที่ทรงอิทธิพลต่อความสนใจของตลาดออสเตรียและยุโรป รวมถึงการตอบรับของผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมาย งานนี้จึงกลายเป็นเวทีสำคัญที่นักธุรกิจที่เกี่ยวข้องมาพบปะกัน ซึ่งได้มีการเจรจาความร่วมมือทางการค้าข้าวหอมมะลิไทยเกิดขึ้นทันที และยังมีผู้แสดงความประสงค์นำเข้าข้าวหอมมะลิไทยรายใหม่เพิ่มเติมอีกด้วย  นอกจากนี้  เว็บไซต์ Meisterstrasse.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์รวบรวมสินค้าระดับไฮเอนด์ที่มีฐานลูกค้าทั่วยุโรป และวางจำหน่ายข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ได้ในราคาสูงถึง 18 ยูโรต่อกิโลกรัม ยังยกสินค้านี้ขึ้นเป็น Product of the month สอดรับกับการจัดกิจกรรมครั้งนี้ด้วย ทั้งหมดนี้เป็นความสำเร็จที่เป็นไปตามความคาดหมาย ยิ่งไปกว่านั้น ภาพกิจกรรมที่เกิดขึ้นจะเป็นสื่อที่ทรงพลังที่สามารถสื่อสารไปยังผู้บริโภคชนิดที่ใครต่อใครต้องหันมอง แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือการหวังผลระยะยาวในการขยายการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพดีในราคาสูง เพื่อการนำรายได้กลับสู่ประเทศและเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างยั่งยืน

                    

ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นสำนักงานฯ

การประชาสัมพันธ์ข้าวหอมมะลิไทยมีความสำคัญยิ่ง แม้ว่าผู้บริโภคทั่วโลกค่อนข้างรับรู้ดีว่าข้าวไทยมีชื่อเสียงโด่งดังแต่ส่วนใหญ่กลับไม่รู้จักข้าวหอมมะลิไทย (Thai Hom Mali Rice) ในขณะที่ผู้บริโภคเกือบร้อยทั้งร้อยรวมถึงคนไทยเข้าใจผิดว่าข้าวหอมมะลิไทยคือ Jasmine Rice ซึ่งอันที่จริงหมายถึงข้าวหอมทั่วไปและมีวางจำหน่ายอย่างกว้างขวาง จึงเป็นช่องโหว่ที่ทำให้สินค้าของคู่แข่งสามารถเข้าชิงตลาดอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาโดยอาศัยชื่อเสียงของข้าวไทย โดยเฉพาะข้าวหอมจากกัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งต่างใช้ชื่อเรียกว่า Jasmine Rice แต่มีราคาถูกกว่าข้าวไทย นอกจากนี้ ข้าวหอมอื่นๆ ที่ไม่ได้รับการควบคุมมาตรฐานที่ดียังอาจสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของข้าวหอมมะลิไทยอีกด้วย

 

อย่างไรก็ดี ลักษณะพื้นฐานของตลาด อาทิ พฤติกรรมการบริโภค และฐานะทางเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการกำหนดยุทธศาสตร์การส่งเสริมการค้าข้าว ในตลาดที่ไม่ได้บริโภคข้าวเป็นอาหารหลักอย่างยุโรปคงไม่สามารถเน้นการส่งออกเชิงปริมาณได้ แต่ยุโรปเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง ผู้บริโภคยอมจ่ายเงินเพิ่มสำหรับสินค้าคุณภาพและมีคุณค่าด้านอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น สินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งมีผลการศึกษาทางวิชาการพบว่าสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้นมากกว่า 2 เท่า ตราบใดที่ข้าวยังเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ กิจกรรมส่งเสริมการค้าข้าวก็ยังคงเป็นภารกิจสำคัญที่ไม่อาจละทิ้งได้เช่นกัน และต้องไม่ยึดติดกับการส่งออกเชิงปริมาณเพียงอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาการส่งออกเชิงมูลค่าควบคู่ไปด้วย ขายของดีราคาแพง ทำน้อยแต่ได้มากในตลาดที่เหมาะสม

 

ตลอดช่วงเวลากว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเวียนนา ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้เกิดการนำเข้าข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นสินค้าชนิดแรกของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในสภาพยุโรป มายังออสเตรียเป็นครั้งแรกและเป็นที่แรกของยุโรป ยังคงความพยายามอย่างแข็งขันในการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องในทุกรูปแบบเพื่อให้เกิดการค้าที่ยั่งยืนและการขยายตลาดให้กว้างขวางขึ้น ประกอบกับสินค้าที่ถูกนำเข้านั้นได้รับการพิสูจน์ด้วยผลตอบรับที่ดีเยี่ยม จึงส่งผลให้มีการสั่งซื้อเพิ่มจากผู้นำเข้ารายเดิม และยังได้จุดประกายความต้องการนำเข้าของผู้ประกอบการรายใหม่ๆ อีกด้วย ทั้งนี้ หวังว่าประสบการณ์ของตลาดออสเตรียจะถูกใช้เป็นโครงการนำร่องต่อยอดในตลาดอื่นๆ ที่มีพื้นฐานใกล้เคียงกัน ไปจนถึงตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นต่อไป

 

ทั้งนี้ทั้งนั้นการค้าข้าวมิได้มีเพียงมิติของการนำเม็ดเงินเข้าประเทศอย่างเดียวเท่านั้น ข้าวยังเป็นตัวแทนทางวัฒนธรรมของไทย เป็นองค์ประกอบหลักของ Soft power ด้านอาหาร ซึ่งสะท้อนถึงความมีอารยธรรมตั้งแต่โบราณที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นวิถีชีวิตและจิตวิญญาณของคนไทยในปัจจุบัน เป็นภาพลักษณ์ หน้าตา ชื่อเสียง เกียรติภูมิ และอัตลักษณ์ที่เสริมสร้างแบรนด์ประเทศ ซึ่งมีผลต่อความเชื่อและสายตาจากคนภายนอกที่มองมายังประเทศไทย คนไทย และสินค้าอื่นๆ ของไทย และที่สำคัญที่สุดคือการเป็นอาหารหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนไทยทุกหมู่เหล่า เป็นขุมพลังของพลวัตที่ขับเคลื่อนประเทศในด้านต่างๆ ดังนั้น การเสริมสร้างมูลค่าข้าวและส่งต่อค่าตอบแทนที่เป็นธรรมแก่ชาวนาผู้ปลูกข้าวจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะส่งเสริมให้อาชีพนี้ได้รับการรักษาและสืบทอดต่อไปอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กับความเจริญของประเทศ

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเวียนนา

นายสุวัฒน์ สุขสวัสดิ์ ผู้รายงาน

มิถุนายน 2566

 

Login