หน้าแรกTrade insightเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า > เวียดนามยังมีช่องว่างที่จะกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภค

เวียดนามยังมีช่องว่างที่จะกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภค

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.72 ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นภาคบริการที่มีสัดส่วนเกือบร้อยละ 79 นาง Le Thi Hien จากสำนักงานสถิติทั่วไปกล่าวว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยรายได้จากการขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภครวมบริการในช่วง 6 เดือนสุดท้ายของปี 2566 คาดว่าแนวโน้มเติบโตสูง นโยบายกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและส่งเสริมการท่องเที่ยวมีส่วนช่วยรักษาการเติบโตและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจเวียดนาม

โดยเฉพาะยอดค้าปลีกทั้งหมดของสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการในราคาปัจจุบันในช่วง 6 เดือนแรกถูกประเมินที่ 3,016 พันล้านเวียดนามด่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 นอกจากนี้ มูลค่าการค้าปลีกและการบริโภค ในช่วงปี 2562 ถึงช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 มีอัตราลดลงในปี 2563 เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 จากนั้นในปี 2564 มีการขยายตัว(เมื่อเทียบกับปี 2562) และมีการเติบโตในเชิงบวกอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนเข้าใกล้อัตราการเติบโตของปี 2562

ความแตกต่างในอัตราการเติบโตของยอดขายปลีกรวมของสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 เมื่อเทียบกับปี 2565 คือส่วนของที่พัก การจัดเลี้ยง และการท่องเที่ยวในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 ภาคที่พักและการจัดเลี้ยงเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.7 สาขาการเดินทางและการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 65.9 (ในช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 ขยายตัวที่ร้อยละ 98.3) ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การเติบโตของทั้งสองภาคส่วนนี้คือการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศเวียดนามในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้มีจำนวนมากถึง 63.5 ล้านคน

การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากของยอดค้าปลีกรวมจากรายได้สินค้าและบริการของท้องถิ่นที่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวและความบันเทิง เช่น จังหวัดกว๋างนิญ (Quang Ninh) เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 จังหวัดคั้นหว่า (Khanh Hoa) เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 นครดานัง (Da Nang) เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 นอกจากนี้ ผลลัพธ์ของนโยบายกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ นโยบายประกันสังคม และการฟื้นตัวของผู้ประกอบการยังสร้างแรงผลักดันให้การบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นในบางจังหวัดขนาดใหญ่ และจังหวัดที่มีเขตอุตสาหกรรมกระจุกตัว เช่น ฮานอยเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 ไฮฟองเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9

วิเคราะห์ผลกระทบ

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.72 ซึ่งมาจากภาคบริการถึงร้อยละ 79 และยังมีโอกาสเติบโตอีกมากในช่วงครึ่งปีหลัง จากนโยบายกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ยอดค้าปลีกทั้งหมดของสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการในช่วง 6 เดือนแรกเพิ่มขึ้นจากบริการที่พัก การจัดเลี้ยง และการท่องเที่ยวในหลายจังหวัดท่องเที่ยวของเวียดนาม จากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากถึง 63.5 ล้านคน และในจังหวัดที่เป็นเมืองใหญ่รวมถึงเขตอุตสาหกรรม จึงเกิดความต้องการบริโภคสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น

นำเสนอโอกาส/แนวทาง

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศเวียดนามในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 มาจากปัจจัยภาค
การท่องเที่ยวเนื่องจากมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลมายังประเทศเวียดนามเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การเจาะขยายการส่งออกสินค้าและบริการของไทยเข้าสู่ตลาดเวียดนามโดยมองกลุ่มตลาดการท่องเที่ยวเป็นเป้าหมาย จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่ไม่ควรมองข้าม

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login