หน้าแรกTrade insightการลงทุนระหว่างประเทศ > “เราต้องการที่จะเป็นผู้นำในตลาดโลก” บทสัมภาษณ์เจ้าของ Carrier และ Viessmann

“เราต้องการที่จะเป็นผู้นำในตลาดโลก” บทสัมภาษณ์เจ้าของ Carrier และ Viessmann

นาย David Gitlin เจ้าของบริษัท Carrier จากสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาเปิดเผยในการประชุมนักลงทุนเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ว่า “ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่จะตัดสินใจสำหรับเจ้าของรายใหม่ของบริษัท Viessmann ที่จะเข้าไปเจาะตลาดเครื่องทำความร้อนในภูมิภาคยุโรป ถึงแม้ยุโรปจะเป็นตลาดที่น่าสนใจที่สุด แต่เพราะเราไม่ได้มีรากฐานอยู่อย่างเข้มแข็ง ดังนั้น เราจำเป็นต้องเริ่มทยอยหารือกับทุกบริษัทในยุโรป” ซึ่งที่ผ่านมานาย Gitlin เล่าว่า “เขาเคยทานข้าวเย็นกับ CEO ของธุรกิจเครื่องทำความร้อนมาแทบทุกคนแล้ว ซึ่งนับเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจมากและทำให้เห็นว่า การเจาะตลาดนี้เป็นเรื่องยากมาก เพราะปกติแล้วธุรกิจเครื่องทำความร้อนส่วนใหญ่ จะเป็นธุรกิจครอบครัวที่ดำเนินกิจการแบบรุ่นต่อรุ่น” ในที่สุด Carrier จึงได้ตัดสินใจที่จะร่วมงานกับ Viessmann ซึ่งในบทสัมภาษณ์นี้ เจ้าของ Carrier และ Viessmann ได้ออกมาชี้แจงถึงเหตุผล แผนการในอนาคต และการปรับตัวรับมือกับนโยบายการเมืองในอนาคตต่าง ๆ

Q1 : คุณ Viessmann เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา คุณได้ตัดสินใจที่ขายธุรกิจเครื่องทำความร้อนให้แก่บริษัท Carrier จากสหรัฐอเมริกา แน่นอนแรงจูงใจที่ทำให้บริษัทตัดสินใจเช่นนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากนโยบายที่ว่า ภายในปี 2024 จะห้ามไม่ให้ติดตั้งเครื่องทำความร้อนที่ใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันและแก๊ส อย่างไรก็ดี แม้ว่ากฎหมายดังกล่าวจะยังไม่ผ่านรัฐสภา และสมมุติว่า รัฐบาลไม่มีข้อบังคับนี้คุณก็ยังจะตัดสินใจแบบเดิมหรือเปล่า

นาย Max Viessmann ชี้แจงว่า “เราค่อย ๆ ดำเนินการตัดสินใจอย่างรอบคอบ และจากจุดยืนที่มั่นคง จึงเป็นที่มาที่ทำให้เกิดการควบรวมระหว่างธุรกิจเครื่องปรับอากาศของเรากับพันธมิตรระดับโลกที่แข็งแกร่งเช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันหาทางอนุรักษ์สภาพอากาศของโลกและเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุผลทางการเมืองแต่อย่างใด”

Q2 : แล้วคุณจะทำอย่างไร หากข้อบังคับนี้ช้าหรือไม่เกิดขึ้น

นาย Max Viessmann ชี้แจงว่า “เรามีเทคโนโลยีและข้อเสนอที่น่าสนใจในการติดตั้งระบบปั๊มความร้อนไฟฟ้า (Heat Pump) สำหรับสิ่งปลูกสร้างที่สร้างขึ้นใหม่ ในขณะเดียวกัน เราก็มีจุดยืนที่จะพัฒนาแนวทางการแก้ปัญหาระบบปรับอากาศผ่านไฮโดรเจนแล้ว โดยสินค้าของเราเป็นระบบไฮบริด ดังนั้น ไม่ว่านโยบายการเมืองจะออกมาอย่างไร เราก็น่าจะปรับตัวเข้าได้ไม่ยาก

Q3 : คุณ Gitlin ในอนาคตคุณต้องเข้ามารับผิดชอบธุรกิจเครื่องทำความร้อนของบริษัท Viessmann เรื่องนี้มีความสำคัญแค่ไหน จะมีการห้ามหรืออนุญาตให้ใช้เครื่องทำความร้อนที่ใช้เชื้อเพลิงจากแก๊ส หรือน้ำมันขนาดไหน

นาย David Gitlin เปิดเผยว่า “แนวทางในการแก้ปัญหาของธุรกิจเครื่องปรับอากาศในเวลานี้มีความชัดเจนมาก แต่ระยะเวลาในการปรับตัวหรือการพัฒนาของแต่ละประเทศจะช้าหรือเร็วแตกต่างกันออกไป โดยส่วนใหญ่ธุรกิจนี้กำลังปรับตัวไปสู่การเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ดังนั้นการควบรวมกิจการของ Viessmann กับ Climate Solutions ถือเป็นการปฏิวัติวงการเครื่องทำความร้อน”

Q4 : ในความเห็นของคุณจะดีกว่าไหม หากมีการเพิ่มราคาค่า CO2 สำหรับน้ำมันและแก๊สเข้าไป ตามที่นักการเมืองและผู้ประกอบการบางรายเรียกร้อง แทนที่จะห้ามติดตั้งระบบทำความร้อนที่ใช้แก๊สและน้ำมันแทน

นาย Viessmann ตอบว่า “ที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยเรื่องนี้ในเวทีสาธารณะค่อนข้างบ่อย  โดยประเด็นที่ได้ ทำให้ไม่มีการตั้งคำถามว่า ควรจะเพิ่มราคาค่า CO2 หรือไม่ แต่สิ่งที่ได้เป็นคำถามใหม่ว่า จะเพิ่มราคาค่า CO2 เท่าไรหรืออย่างไรมากกว่า และจะสิ่งสำคัญที่จะต้องถามต่อ ก็คือ ควรที่จะควบคุมราคาค่า CO2 หรือทำให้ราคาค่า CO2 ทันสมัยขึ้น โดยควรจะวางแผนเรื่องนี้ให้ชัดเจนเพราะจะเกี่ยวข้องกับการลงทุนในอนาคตต่อไป”

Q5: คุณคิดจริง ๆ หรือว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะสร้างความชัดเจนได้เร็วเพียงพอ

นาย Viessmann ชี้แจงว่า “เราค่อนข้างมองบวก และเอกชนส่วนใหญ่ได้วางแผนการลงทุนไว้อย่างรอบคอบ โดยในไตรมาสแรกของปี 2023 ยอดขายปั๊มความร้อนเพิ่มขึ้น 110 % ดังนั้น ทิศทางความต้องการของสินค้าจึงค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว และที่สำคัญขณะนี้การประเมินสถานการณ์ด้านธุรกิจทั่วประเทศก็มีสัญญาณที่ดี”

Q6 : ขั้นตอนต่อไปในการควบรวมสองบริษัทคืออะไร

นาย Gitlin กล่าวว่า “เรากำลังทยอยจัดการด้านเอกสารและใบอนุญาตต่าง ๆ จากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยจะใช้เวลาไม่นานนัก และคาดว่าจะตั้งคณะทำงานประมาณ 15-20 คน เพื่อทำการควบรวมสองบริษัท

Q7 : แล้วพวกคุณเตรียมพร้อมกับวันนั้นอย่างไร

นาย Gitlin กล่าวว่า “เราคาดว่า 1 บวก 1 จะสามารถเติบโตก้าวกระโดดเป็น 4 ได้ และคาดว่าเราจะสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วอย่างแน่นอน และน่าจะสามารถนำวิธีการแก้ปัญหาด้านเครื่องปรับอากาศที่เราทำร่วมกับ Viessmann ในเยอรมนี ไปปรับใช้กับลูกค้าในอเมริกาเหนือหรือเอเชียได้เช่นกัน

Q8 : นอกจากกับบริษัท Viessmann แล้ว Carrier ได้คุยกับบริษัทเครื่องทำความร้อนรายอื่นอีกหรือไม่ และมีแนวโน้มที่จะมีการรวมตัวของบริษัทอื่นในยุโรปอีกหรือไม่

นาย Gitlin เปิดเผยว่า “ตอนนี้ Carrier ยังไม่ทราบและยังไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้ อย่างไรก็ดี บริษัท Viessmann Climate Solutions ถือว่าเป็นแบรนด์ที่ยอดเยี่ยมของยุโรป มีพนักงานที่มีคุณภาพ มีกลยุทธ์การขายที่ดี และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวสอดคล้องกับแบรนด์ Carrier เป็นอย่างดี”

Q9 : จากข้อมูลที่เราทราบมาบริษัท Bosch ต้องการซื้อ Carrier การที่คุณเข้ามาซื้อ Viessmann เป็นส่วนหนึ่งในแผนที่จะป้องกันไม่ให้ Bosch เข้ามาซื้อบริษัทไปหรือเปล่า

นาย Gitlin กล่าวว่า “ประเด็นที่ท่านถามไม่ได้มีผลกับการตัดสินใจร่วมงานกับ Viessmann Climate Solutions ประเด็นสำคัญที่ทำให้เราควบรวมธุรกิจ ก็เพื่อสร้างความเข้มแข็งและความหลายหลายให้กับสินค้าของเรา โดยเราตั้งเป้าเป็นผู้นำด้านเครื่องปรับอากาศแบบชาญฉลาดของโลก” นอกจากนี้  สำหรับพนักงานของบริษัท Viessmann Climate Solutions และพนักงาน Carrier แล้ว เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยเรื่องนี้จะสามารถสร้างความปลอดภัยทางสังคมให้แก่ลูกจ้าง และเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้กับบริษัทในเวลาเดียวกัน

Q10 : บริษัท Viessmann ต้องการเงินจำนวนมหาศาลในการปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดเครื่องทำความร้อน ในขณะที่บริษัท Carrier มีหนี้มหาศาลจากการรวมบริษัท Viessmann เข้าด้วยกัน ทำให้ต้องกู้เงินกว่า 8 พันล้าน เมื่อมองหนี้จำนวนมหาศาลนี้แล้วพวกคุณจะใช้อะไรมาลงทุนกับอนาคต

นาย Gitlin เห็นว่า “ในเบื้องต้นเราวางแผนที่จะตัดธุรกิจ “Fire & Security” และ “Commercial Refrigeration” ออกไป โดยคาดว่า เราจะมีเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอัตโนมัติ และสามารถนำเงินดังกล่าวมาลงทุนได้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าได้ บริษัท Viessmann Climate Solutions จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของของบริษัทที่พัฒนาตัวแบบยั่งยืน ซึ่งธุรกิจของเราจะไม่เจริญเติบโตแบบธรรมดา แต่ะจะเป็นการพัฒนาตัวแบบก้าวกระโดดเลยทีเดียว

Q11 : แล้วคุณเจอคนที่จะมาซื้อทั้ง 2 ส่วนธุรกิจหรือยัง

นาย Gitlin แจ้งว่า ขณะนี้มีคนสนใจหลายราย โดยเขาได้คุยกับ CEO ของบริษัทใหญ่ ๆ และกับ Private-Equity กว่า 20 บริษัทแล้ว ซึ่งบริษัทเหล่านี้ได้ติดต่อเข้ามาและแสดงความประสงค์อย่างชัดเจนที่จะเสนอราคาแข่งกัน โดยเราวางแผนที่จะแยกจำหน่ายธุรกิจด้าน “Fire & Security” และ “Commercial Refrigeration” ออกจากกัน สำหรับ “Fire & Security” นั้น เราน่าจะแยกเป็น 2 – 3 ส่วนในการจำหน่าย โดยเราวางแผนที่จะเริ่มการจำหน่ายในช่วงสิ้นฤดูร้อนนี้

Q12 : พวกคุณวางแผนที่จะขยายการลงทุนในธุรกิจระบบปั๊มความร้อนไฟฟ้า (Heat Pump) ในช่วงปีหน้าเลยหรือเปล่า

นาย Gitlin กล่าวว่า “แน่นอนที่สุดโดยเราจะขยายการลงทุนในด้านดังกล่าวในภูมิภาค EU และนับตั้งแต่วันที่เราแยกตัวจาก United Technologies เราก็ได้แจ้งกลุ่มนักลงทุนของเราให้ทราบว่า เราจะเป็นบริษัทที่สามารถเติบโตได้อย่างเป็นรูปธรรมแน่นอน และวางแผนที่จะเจริญเติบโตขึ้นทุก ๆ ปี ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลก ยกตัวอย่างเช่นในช่วงวิกฤติการณ์โควิด-19 เรามีแผนการลงทุนที่มีมูลค่าสูงถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีอยู่ ในปีนี้เราวางแผนใช้เงินด้าน F&E สูงถึง 650 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากที่การรวมบริษัทเสร็จสิ้นลง ธุรกิจวิธีแก้ปัญหาด้านสภาวะอากาศของ Viessmann ก็จะกลายเป็นธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของเรา ซึ่งแน่นอนก็ต้องมีการลงทุนที่พอเพียงในธุรกิจส่วนดังกล่าว”

Q13 : คุณวางแผนที่จะสร้างโรงงานผลิตระบบปั๊มความร้อนไฟฟ้า (Heat Pump) ในยุโรปหรือเปล่า

นาย Gitlin ชี้แจงว่า ตอนนี้บริษัทฯ ยังไม่มีแผนสร้างโรงงานใหม่ โดยเราจะใช้โรงงานเก่าที่มีอยู่เดิมไปก่อน แล้วค่อยขยับขยายต่อไป

Q14 : คุณ Viessmann รู้สึกอย่างไรที่ตัดสินใจเอาธุรกิจครอบครัวออกมาขาย ธุรกิจที่คนรุ่นก่อนได้ร่วมกันสร้างไว้

นาย Viessmann เปิดเผยว่า “เขาค่อนข้างมั่นใจว่าการตัดสินใจครั้งนี้ เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง และเพื่อที่จะหาวิธีแก้ปัญหาด้านสภาวะอากาศและรักษาลูกจ้างให้มีงานทำต่อไปได้ โดยไม่ต้องตกงาน การตัดสินใจแบบนี้จึงถือว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากที่สุดแล้ว สำหรับ การที่บริษัทฯ ที่จะเข้ามาซื้อบริษัทของเรา ไม่ว่าเขาจะหาเงินมาจากการกู้ยืมหรือวิธีใดก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะว่าคนซื้อเขาต้องใช้เงินก้อนใหญ่มาก” นอกจากนี้ ในอนาคต Carrier ได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า จะให้ความสำคัญกับธุรกิจที่หาทางแก้ปัญหาสภาวะอากาศมากขึ้น ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีทิศทางเจริญเติบโตอย่างชัดเจน อีกทั้งบริษัท Carrier เป็นบริษัทที่มีการจัดการที่ดี และมีความแข็งแกร่งทางการเงินนั้นก็แสดงให้เห็นได้จากการจัดอันดับผ่านบริษัทที่รับการจัดอันดับอยู่แล้ว ซึ่งการจัดอันดับนี้ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงตั้งแต่มีการประกาศข้อตกลงจนถึงปัจจุบัน และในการจัดอันดับนี้ก็ยังคงมอง Carrier ว่าเป็นบริษัทที่มีเกรดที่น่าลงทุนอยู่เช่นเดิม

Q15 : บริษัท Carrier จะผลิตปั๊มความร้อนไฟฟ้า (Heat Pump) ปริมาณเท่าไรในแต่ละปี ซึ่งขณะนี้บริษัท Daikin คู่แข่งจากเอเชียสามารถผลิตได้ 250,000 เครื่อง ในยุโรป บริษัท Vaillant กับโรงงานโรงใหม่ในประเทศสโลวาเกียก็สามารถผลิตได้ 300,000 เครื่องต่อปี

นาย Viessmann ชี้แจงว่า โรงงานโรงใหม่ของ Viessmann ในเยอรมนีและโปแลนด์จะสามารถผลิตปั๊มความร้อนไฟฟ้า (Heat Pump) ได้จำนวนมากอย่างแน่นอน ซึ่งนี่ยังไม่รวมกำลังผลิตของโรงงานของ Toshiba เข้าไป

Q16 : ขอตัวเลขที่ชัดเจนกว่านี้ได้หรือเปล่าค่ะ

นาย Gitlin คาดว่า เฉพาะในสหรัฐอเมริกา บริษัท Carrier น่าจะสามารถผลิตได้ประมาณ 2 ล้านเครื่อง

Q17 : ผู้ผลิตที่สามารถผลิตชิ้นส่วนประกอบสำหรับปั๊มความร้อนไฟฟ้า (Heat Pump) ด้วยตนเองมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จะได้เปรียบในการแข่งขัน คุณสร้างมูลค่าเพิ่มในสัดส่วนเท่าใด

นาย Gitlin ชี้แจงว่า ในการผลิตปั๊มความร้อนไฟฟ้า (Heat Pump) ขึ้นมานั้น ชิ้นส่วนที่ใช้โดยส่วนใหญ่เป็นของที่เราผลิตขึ้นเอง โดยเราได้นำเทคโนโลยีของ Toshiba เข้ามาร่วมด้วยกัน

Q18 : การที่คุณ Viessmann เน้นย้ำเสมอว่า การที่คุณตัดสินใจที่จะร่วมงานกับ Carrier นั้นเป็นเพราะพวกคุณมีค่านิยมสอดคล้องกัน พอจะอธิบายให้คนภายนอกเข้าใจได้หรือไม่ ว่าคือค่านิยมใด

นาย Viessmann เปิดเผยว่า เราต้องการที่จะปรับปรุงและก้าวขึ้นเป็นผู้นำเสนอที่จะเสนอวิธีแก้ปัญหาด้านสภาวะอากาศชั้นนำของโลก โดยพนักงานของ Carrier ทุกคนทราบดีว่าทิศทางของบริษัทต้องการจะเป็นไปในทิศทางใด

Q19 : การที่คุณ Viessmann ได้เงินจากการขายธุรกิจเครื่องทำความร้อนในยุโรปกว่า 12 พันล้านยูโร คุณคิดว่าเงินที่ได้มาในรูปของหุ้นในบริษัท Carrier คุณจะลงทุนอย่างไร

นาย Viessmann เปิดเผยว่า ข้อตกลงของเรากับ Carrier และการลงทุนกับบริษัทจะเป็นส่วนหนึ่งในบริษัทในครอบครัวของเรา ซึ่งนาย Viessmann จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการของบริษัท Carrier

Q20 : การที่คุณ Viessmann ถือหุ้นของ Carrier ถึง 7% คุณมีแผนที่จะขยายสัดส่วนการถือหุ้นนี้ออกไปหรือไม่

นาย Viessmann ถึงตอนนี้ ยังไม่แน่ใจว่าจะขยายสัดส่วนการถือหุ้นอีกหรือไม่

Q21 : แล้วคุณจะเอาเงินส่วนต่างที่ไม่ได้นำมาลงทุนกับ Carrier ไปทำอะไรต่อ

นาย Viessmann ชี้แจงว่า “เราอาจจะให้ Viessmann Group นำเงินส่วนนี้ไปลงทุนกับเทคโนโลยีหรือในบริษัทอื่น ๆ ที่ให้ความสำคัญกับการลดการสร้างค่า CO2 รวมถึงงานวิจัยต่าง ๆ นอกจากนี้ เราอาจขยายกิจกรรมด้านการกุศลและ CSR ออกไปด้วย”

Q22 : ในธุรกิจที่เหลือของบริษัท อย่างเช่นธุรกิจเครื่องทำความเย็น Viessmann Investment, กองทุนความเสี่ยงสูง, Viessmann Real Estate และมูลนิธิต่าง ๆ คุณจะให้ความสำคัญกับอะไรมากที่สุด

นาย Viessmann ชี้แจงว่า การลงทุนใน Start Ups และบริษัทที่ตั้งใหม่น่าจะเป็นเรื่องที่ทำน้อยที่สุด ที่ผ่านมามีบริษัท SMEs จำนวนมากได้ติดต่อเรามา แต่เรายังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา สำหรับผมแล้วก็ยังน่าจะทำงานไปอีก 30 ปีในอนาคต ซึ่งน่าจะเป็นเวลาเพียงพอที่จะช่วยเหลือสนับสนุนให้บริษัทพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้อง และเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนรุ่นผู้บริหารต่อไปในอนาคต แผนส่วนตัวของผมคงจะไม่ใช่การ นอนเล่นบนชายหาดและเพลิดเพลินกับแสงแดด ตอนนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องทำเพื่อสร้างรากฐานที่สำคัญสำหรับคนรุ่นต่อไปในอนาคตครับ

Q23 : ขอบคุณคุณ Gitlin กับคุณ Viessmann ในการให้สัมภาษณ์ในครังนี้นะคะ

สัมภาษณ์โดยนาง Catiana Krapp และนาง Anja Müller

Handelsblatt 3 กรกฎาคม 2566

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน (Thanit Hirungitrungsri)

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login