ปัจจุบันปรากฏว่า มีเพียง 1 ใน 5 ของบริษัทเยอรมนีเท่านั้นที่เป็นบริษัทที่มีนวัตกรรมสูง ในขณะที่หากมองย้อนไปในปี 2019 กลับพบว่ามีถึง 1 ใน 4 ของบริษัทที่มีนวัตกรรม ซึ่งจากข้อมูลของมูลนิธิ Bertelsmann-Stiftung ได้แสดงให้เห็นว่า ปัญหาการสูญเสียความสามารถในการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมของเยอรมนีเริ่มปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยนาย Armando García Schmidt ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจของมูลนิธิฯ ได้ออกมาเตือนว่า “ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของเยอรมนีกำลังตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เพราะภาคเอกชนบุกเบิกด้านเทคโนโลยีน้อยลงหรือไม่กล้าพอที่จะพัฒนานวัตกรรม” โดยสถาบันค้นคว้า และให้คำปรึกษาอย่าง IW Consult เป็นผู้จัดทำรายงานดังกล่าว โดยรวบรวมข้อมูลจากภาคอุตสาหกรรม และธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรม กว่า 1,000 ราย
โดยแบบสอบถามที่นำเสนอเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาของ Civey ได้รับมอบหมายจากสมาคมบริษัทผู้ผลิตและค้นคว้าด้านเวชภัณฑ์ยา (VFA – Verband der Forschenden Pharmaunternehmen) มีผลการศึกษาที่คล้ายคลึงกันว่า “กว่า 1 ใน 2 ของบริษัทเอกชนของเยอรมันเห็นว่า เยอรมนีเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมต่ำ ซึ่งข้อมูลนี้รวบรวมมาจากการสอบถามผู้บริหารและกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ มากถึง 2,511 คน ซึ่งกว่า 77% ของผู้ตอบแบบสอบถามต่างก็เห็นว่า เป็นเรื่องที่จำเป็นในขณะนี้ที่ต้องลดความซ้ำซ้อน/ความวุ่นวายด้านเอกสารของระบบราชการลง จึงจะสามารถรักษาความมั่งคั่งของประเทศไว้ได้ และกว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า ตำแหน่งงานที่มีรายได้ดี เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศประสบความสำเร็จกว่าเดิม รวมไปถึงการที่มีสินค้า Hightech จำนวนมาก ก็เป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญแห่งความสำเร็จ”
จากข้อมูลรายงานของ Bertelsmann-Stiftung พบว่า ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา ได้มีการประเมินค่านวัตกรรมของเอกชนผ่าน 30 หลักเกณฑ์ อาทิ บริษัทได้นำสินค้าหรือบริการที่มีนวัตกรรมสูงออกสู่ตลาดหรือไม่, บริษัทมีการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างภาคการค้นคว้า/วิจัยกับภาคเอกชนหรือไม่ ซึ่งต่อมา ภาคเอกชนได้ถูกแบ่งเป็น 7 กลุ่ม ครอบคลุมตั้งแต่ผู้นำด้านเทคโนโลยี และนักสร้างสรรค์นวัตกรรมระดับบนสุดไปจนถึงบริษัทที่ไม่เน้นนวัตกรรมในระดับล่างสุด ของการวัดระดับ ซึ่งพบว่า สัดส่วนบริษัทที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและประสบความสำเร็จในตลาด ภายในปี 2022 มีอยู่ที่ 7% ซึ่งลดลงกว่าปี 2019 เล็กน้อย แต่สัดส่วนของบริษัทที่เป็นนักประดิษฐ์ที่กล้าทดลองใช้นวัตกรรมเพื่อปฏิวัติวงการกลับลดลงจาก 19% เหลือ 12% เท่านั้น โดยกลุ่มที่มีการขยายตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ กลุ่มผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการใหม่ ๆ โดยบังเอิญ หรือกลุ่มที่ถอนตัวออกจากกระบวนการนวัตกรรมโดยสิ้นเชิง โดยสัดส่วนกลุ่มดังกล่าวปี 2019 อยู่ที่ 27% แต่ปี 2022 เพิ่มขึ้นเป็น 38% เหตุผลหลักที่ทำให้นวัตกรรมในประเทศเยอรมนีลดลงก็คือ วิกฤติการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้กลุ่มบริษัทที่กลัวการลงทุนด้านนวัตกรรมกลัวยิ่งขึ้นไปอีก บริษัทจำนวนมากเลื่อนแผนด้านนวัตกรรมออกไปก่อน อีกทั้งการร่วมงานกับภาคการศึกษาและวิจัยก็ลดตัวลงอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม วิกฤติการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้ค่านวัตกรรมในประเทศลดลง นาย Schmidt กล่าวว่า “วงจรนวัตกรรมสั้นลงอย่างต่อเนื่อง” อีกทั้งต้องใช้เงินทุนมากขึ้นสำหรับการพัฒนาสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาใหม่ และต้องใช้ทุนมากขึ้นในการรักษาสิ่งนั้นไว้ในตลาดอีกด้วย ท้ายสุดปัญหาค้างคาอย่างปัญหาขาดแคลนแรงงานคุณภาพก็ยังมีอยู่ไม่ได้หายไปไหน
จาก Handelsblatt 16 มิถุนายน 2566
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน (Thanit Hirungitrungsri)