ตลาดเพชรสังเคราะห์ หรือ Lab Grown Diamond (LGD) ของทั่วโลกปี 2565 มีมูลค่า 23,898.60 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าน่าจะมีการขยายตัวเฉลี่ยในช่วงปี 2565-2571 ประมาณ 8.64%
เพชร Lab Grown คือ เพชรที่สร้างขึ้นในห้องแล็บ มีความทนทานและแวววาวเสมือนเพชรจากธรรมชาติ แต่ใช้ระยะเวลาในการผลิตไม่นานเหมือนเพชรจากธรรมชาติ จึงทำให้มีราคาไม่สูงมากนัก
ตลาดเพชร Lab Grown เติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และได้รับความสนใจในฐานะสินค้าทางเลือกทดแทนเพชรธรรมชาติ (natural diamond) โดยปัจจัยที่ทำให้เพชร Lab Grown ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ คือ มีความทนทาน ราคาขายที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับเพชรธรรมชาติ ตลอดจนมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่มีข้อขัดแย้งทางด้านจริยธรรม ซึ่งปัจจัยดังกล่าวช่วยผลักดันให้เพชร Lab Grown เป็นที่นิยมอย่างมากในตลาดเครื่องประดับปัจจุบัน แต่ในทางกลับกันการขยายตัวที่แข็งแกร่งของเพชร Lab Grown ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดเพชรธรรมชาติ มีผลทำให้ราคาเพชรธรรมชาติมีการปรับตัวลดลงอย่างชัดเจน จากข้อมูลของบริษัท Tenoris ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยทางการตลาดได้รวบรวมข้อมูลการจำหน่ายเพชรในตลาดสหรัฐฯ ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ยอดจำหน่ายเพชร Lab Grown มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2566 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าเป็น 22.9% เมื่อเทียบกับการขยายตัวของปี 2563 ทั้งปีซึ่งอยู่ที่ 8.5% นอกจากนี้ บริษัท Tenoris เคยได้มีการทดลองคำนวนความน่าจะเป็นเกี่ยวกับแนวโน้มการซื้อเพชรธรรมชาติเทียบกับเพชร Lab Grown จากฐานข้อมูล โดยได้คาดการณ์ว่าภายในเดือนพฤษภาคม 2565 เพชร Lab Grown จะถูกนำมาจำหน่ายในตลาดค้าปลีกเครื่องประดับในสหรัฐฯ เป็นสัดส่วนมากถึง 50% ของตลาดจำหน่ายเพชรในภาพรวม
ผู้ค้าเพชร Lab Grown รายใหญ่ในสหรัฐฯ ได้แก่ Signet Jewelers (สำนักงานใหญ่ในสหรัฐฯ ในเมืองโอไฮโอ เจ้าของแบรนด์ดังอย่าง Kay Jewelers, Zales, James Allen และ Blue Nile) และ Pandora (สำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศเดนมาร์กและมีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐฯ ในนครนิวยอร์ก) โดยทั้ง 2 บริษัทได้หันมาใช้เพชร Lab Grown เพื่อผลิตเครื่องประดับและมุ่งเน้นเจาะกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่สหรัฐฯ ด้วยราคาที่แตกต่าง
นอกจากนี้แล้ว ผู้ค้าเพชรธรรมชาติรายใหญ่อย่างบริษัท De Beers (มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศอังกฤษ) ได้เล็งเห็นโอกาสในการเติบโตในตลาดเพชร Lab Grown จึงได้เข้ามาบุกตลาด โดยได้วางตำแหน่งแบรนด์ใหม่แยกจาก แบรนด์เดิมที่จำหน่ายเพชรธรรมชาติ โดยใช้ชื่อ “Lightbox” ซึ่งแบรนด์ดังกล่าวได้ก่อตั้งขึ้นในเดือนกันยายน 2561 เน้นการจำหน่ายเพชร Lab Grown เพียงอย่างเดียวและในปีนี้ได้มีการขยายประเภทสินค้าเข้าครอบคลุมตลาดเจ้าสาวและงานแต่งงานเพื่อรองรับอุปสงค์ความต้องการของตลาดที่มีการขยายตัวอย่างมาก
กลุ่มผู้บริโภคที่นิยมซื้อเพชร Lab Grown มากที่สุด คือ ผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z และ Millennials ซึ่งนอกจากปัจจัยทางด้านราคาแล้ว ผู้บริโภคในกลุ่มนี้ยังให้ความสนใจในเรื่องแหล่งที่มาของสินค้าและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ
การที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ช่วงชะลอตัว ทำให้ชาวอเมริกันให้ความสำคัญกับราคาและความคุ้มค่าจากการซื้อสินค้ามากขึ้น อนึ่ง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อการซื้อสินค้าเครื่องประดับอย่างมาก เช่น ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะลดการซื้อเครื่องประดับชั้นดีเพื่อเป็นของขวัญวันวาเลนไทน์ คู่รักเลือกที่จะเฉลิมฉลองวันครบรอบด้วยวิธีใหม่ๆ เช่น การรับประทานอาหาร ทำของขวัญเอง แทนที่จะเป็นเครื่องประดับ และการซื้อแหวนหมั้นเพชร Lab Grown แทนเพชรธรรมชาติเพราะมีราคาเหมาะสมและได้สินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น
จากข้อมูลของ QZ.com ระบุว่าจำนวนเพชร Lab Grown ในตลาดมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบสนอง อุปสงค์ของผู้บริโภคที่ขยายตัว ส่งผลให้ความนิยมและราคาเพชรจากธรรมชาติมีการปรับตัวลดลง ซึ่งราคาขายเพชรของเดือนสิงหาคม 2566 พบว่า เพชร Lab Grown ราคาอยู่ที่ 1,425 เหรียญสหรัฐ/กะรัต ในขณะที่ราคาเพชรธรรมชาติทั่วไปอยู่ที่ 5,185 เหรียญสหรัฐ/กะรัต และมีแนวโน้มว่าราคาเพชรธรรมชาติอาจจะมีการรปรับตัวลดลงต่อไปอีกในช่วงนี้
แนวโน้มของผู้บริโภคและโอกาสของสินค้าไทยในตลาดเครื่องประดับเทรนด์ใหม่
1. การขาดแคลนเพชรธรรมชาติในตลาด อันมีผลมาจากการคว่ำบาตรทางการค้ากับรัสเซียและปริมาณวัตถุดิบทางธรรมชาติที่ลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาเพชรธรรมชาติมีการปรับตัวสูงขึ้น และทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เปิดโอกาสให้สินค้าทางเลือกทดแทนที่มีลักษณะคล้ายกันแต่มีราคาต่ำกว่าอย่างเพชร Lab Grown ทั้งนี้ ได้มีการคาดการณ์ว่าผู้บริโภคประมาณ 60-70% น่าจะหันมาทดลองซื้อเพชร Lab Grown มากขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้ค้าบางรายมีความเชื่อว่าเพชรจากธรรมชาติที่มีอย่างจำกัดน่าจะช่วยผลักดันให้สินค้ากลายเป็นสินค้าสำหรับตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche) และน่าจะมีราคาสูงขึ้นในระยะยาวต่อไป
2. จากข้อมูลการจำหน่ายของบริษัท Signet Jewelers พบว่าสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันได้กดดันผู้ซื้อชนชั้นกลาง แต่ยอดขายเครื่องประดับของ Signet ที่มีราคา 5,000 เหรียญสหรัฐขึ้นไปยังคงมีการเติบโตที่แข็งแกร่ง ซึ่งแตกต่างจากยอดขายเครื่องประดับแฟชั่นราคาถูกที่มีการชะลอตัวลงอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี ในอนาคต เพชร Lab Grown น่าจะถูกนำมาจำหน่ายในลักษณะเครื่องประดับแฟชั่นกึ่งมีค่า และเพชรธรรมชาติซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดก็จะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว ต่อไป
3. เนื่องจากเพชร Lab Grown ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นและผู้ซื้อมีความกังวลเกี่ยวกับการขายต่อ ทำให้ ผู้ค้าเพชร Lab Grown หลายรายได้ให้ความเห็นว่าเพชร Lab Grown ไม่ใช่การลงทุนที่ดีแต่ไม่ใช่การซื้อที่ไร้ค่า ซึ่งแตกต่างจากเพชรธรรมชาติที่มีมูลค่าเมื่อขายต่อ
4. กระแสความนิยมเครื่องประดับแท้แต่ราคาย่อมเยาว์ คาดว่าจะสร้างโอกาสให้พลอยเนื้ออ่อนโทนสีอ่อนจากไทยในการเติบโตคู่ไปกับตลาดเพชร Lab Grown เนื่องจากมีความสวยงามและมีราคาอยู่ในเกณฑ์ที่ผู้บริโภครับได้
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)