หน้าแรกTrade insight > เปรูจัดทำนโยบายด้านการจัดกิจกรรมนานาชาติเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

เปรูจัดทำนโยบายด้านการจัดกิจกรรมนานาชาติเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

รัฐบาลเปรูมีความพยายามในการส่งเสริมการเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับนานาชาติต่าง ๆ ในเปรู เพื่อเป็นการลดต้นทุนการเดินทางของเจ้าหน้าที่ภาครัฐและเอกชน และยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภายในประเทศ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเปรูได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส (โควิด-19) โดยกระทรวงการต่างประเทศและการท่องเที่ยวของเปรูได้ออกประกาศการบังคับใช้กฎหมายหมายเลข 31816 ที่ให้สิทธิพิเศษเป็นการชั่วคราวแก่สินค้านำเข้าเพื่อการ re-export สำหรับการจัดกิจกรรมนานาชาติในประเทศ เช่น การจัดประชุมนานาชาติ การแข่งขันกีฬา เป็นต้น โดยให้มีผลจนถึงปี 2573  หากสินค้าที่นเข้ามายังเปรูภายใน 90 วัน ก่อนการประกาศดังกล่าวและส่งออกไปต่างประเทศภายใน 90 วัน หลังจากการประกาศฯ จะได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากร รวมทั้งการได้รับการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากร ทั้งนี้ จากการประกาศกฎระเบียบดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของเปรูในด้านการจัดกิจกรรมและการประชุมนานาชาติในประเทศ ซึ่งประโยชน์หลักที่เปรูจะได้รับคือการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจในช่วงการจัดกิจกรรม

กฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 และบังคับใช้กับการจัดกิจกรรมนานาชาติในเปรูทั้งหมดที่เกิดขึ้น จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2573 ซึ่งผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์จากกฎหมายดังกล่าว ได้แก่ ผู้จัดงาน/ผู้จัดประชุม ผู้จัดกิจกรรม ผู้เข้าร่วมกิจกรรม/ประชุม ได้รับการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากร การยกเว้นภาษีอากรนำเข้าสินค้าอุปโภค/บริโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมนานาชาติที่เข้ามายังประเทศเปรู โดยสินค้าที่เกี่ยวข้อง เช่น เครื่องจักร อาหารสด/อาหารแปรรูปที่ใช้บริโภคในงาน ยานพาหนะสำหรับการจัดงาน เป็นต้น[1]

กฎหมายและการบังคับใช้

การบังคับใช้กฎหมายหมายเลข 31816 ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องดำเนินการปรับกฎระเบียบให้สอดคล้องกับกฎหมายดังกล่าว และในส่วนของผู้ที่จะได้รับผระโยชน์ เช่น ผู้จัดงานจะต้องดำเนินการแจ้งหน่วยงานบริหารภาษีของเปรู (National Superintendency of Tax Administration: SUNAT) เกี่ยวกับรายละเอียดการจัดงาน รายชื่อผู้เข้าร่วมงาน สินค้าที่เกี่ยวข้องที่จะนำเข้ามายังเปรู นอกจากนี้ ผู้จัดงานจะต้องจ่ายเงินประกันแก่ SUNAT ในอัตราเทียบเท่ากับภาษีศุลกากรอื่น ๆ ภาษีการบริโภคสินค้านำเข้า ดอกเบี้ยค่าชดเชยตามที่กำหนดในกฎหมายศุลกากรของเปรู

รัฐบาลเปรูกำหนดให้ภาคเอกชนที่จะได้รับประโยชน์จากการบังคับใช้กฎหมายหมายเลข 31816 จะต้องเสนอคำขอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง[1] เช่น กระทรวงการท่องเที่ยว ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของประเทศที่จะเกิดต่อการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อกำหนดตัวชี้วัดและการประเมินผล ที่ประกอบด้วย

  • จำนวนผู้เข้าร่วมงาน
  • จำนวนของกิจกรรมนานาชาติที่จัด
  • มูลค่า CIF ของสินค้าที่นำเข้าสำหรับการจัดงาน
  • มูลค่าภาษีศุลกากรทั้งหมดและมูลค่าภาษีอื่น ๆ ที่ได้รับการยกเว้น
  • มูลค่าทางเศรษฐกิจจากการจัดงานต่อครั้ง

ทั้งนี้ รัฐบาลเปรูไม่มีการกำหนดกิจกรรมนานาชาติเป็นการเฉพาะที่จะส่งผลต่อประโยชน์ในประเทศ โดยหน่วยงานงานภาครัฐหรือกระทรวงต่าง ๆ จะต้องพิจารณาผลประโยชน์ของประเทศบนพื้นฐานของขอบเขตความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวง และแจ้งให้กระทรวงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือรัฐสภาทราบ การดำเนินงานของกระทรวงต่าง ๆ จะต้องกระทำร่วมกับ SUNAT ตัวอย่างการจัดกิจกรรมนานาชาติ เช่น การจัดประชุมอุตสาหกรรมเหมืองแร่นานาชาติ ครั้งที่ 18 (the XIII International Congress of Mining Exploration and prospect: ProExplo) การจัดประชุมเอเปคในปี 2567 (APEC 2024)[2] เป็นต้น

กฎหมายหมายเลข 31816 บังคับใช้แทนที่กฎหมายเดิม หมายเลข 29963 ที่หมดอายุ ซึ่งกฎหมายเดิมบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ทั้งนี้ การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวสอดคล้องกับข้อตกลงด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าขององค์การการค้าโลก และแผนยุทธศาสตร์การส่งออกแห่งชาติของเปรู (the National Export Strategic Plan: PENX)[3]

บทวิเคราะห์ / ความเห็นของ สคต.

การบังคับใช้กฎหมายที่อำนวยความสะดวกต่อการจัดกิจกรรมนานาชาติ เป็นการช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภายในประเทศส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของเปรูในภาพรวม เช่น รายได้ที่เพิ่มขึ้น การกระจายรายได้แก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง การสร้างงานแก่ประชาชนในท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังเป็นผลดีต่อประเทศในเชิงภาพลักษณ์และความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพในการจัดงานระดับประเทศต่าง ๆ การเข้าเมืองของชาวต่างชาติที่มาร่วมกิจกรรมส่งผลประโยชน์ทางอ้อมต่อการสร้างเครือข่ายด้านธุรกิจ และความเป็นไปได้ในการตัดสินใจด้านการลงทุนในเปรู โดยสามารถใช้เปรูเป็นประตูการค้าไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคลาตินอเมริกา ซึ่งมีประชากรรวมจำนวนกว่า 660 ล้านคน

ทั้งนี้ การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวยังส่งผลดีต่อโอกาสการขยายการค้าการลงทุนของไทยไปยังประเทศเปรู โดยใช้ประโยชน์จากการยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าและการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากร โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่มีการส่งออกไปยังเปรู และมีโอกาสได้รับประโยชน์จากกฎหมายดังกล่าว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อาหารทะเลประป๋องและแปรรูป  เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ ปริ้นเตอร์  ไมโครเวฟ คอมพิวเตอร์และสวนประกอบ เครื่องรับวิทยุ เป็นต้น

______________________________

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก

สิงหาคม 2566

[1] https://www.gob.pe/7705-declarar-tu-evento-como-de-interes-turistico

[2]  Tax Consulting Firm- https://quantumconsultores.com/boletines/primera-quincena-de-julio-2023/

[3] Peru´s Goverment – https://www.gob.pe/institucion/mincetur/noticias/793851-se-aprueba-ley-que-facilita-tramites-aduaneros-e-ingreso-de-visitantes-a-eventos-internacionales-que-se-realicen-en-el-peru

Peru´s Government – https://www.gob.pe/7705-declarar-tu-evento-como-de-interes-turistico

Local online newspaper – https://gestion.pe/economia/tributario-eventos-de-interes-nacional-no-pagaran-derechos-aduaneros-para-importar-bienes-noticia/

[1] A Peruvian company – https://www.contadoresyempresas.com.pe/eventos-de-interes-nacional-no-pagaran-derechos-aduaneros-para-importar-bienes/

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login