หน้าแรกTrade insightทุเรียน > เทศกาล Thai Fruits Golden Months ปี 2566 ยกระดับการส่งออกผลไม้เข้าสู่ตลาดกวางโจว

เทศกาล Thai Fruits Golden Months ปี 2566 ยกระดับการส่งออกผลไม้เข้าสู่ตลาดกวางโจว

เมื่อวันที่ 29 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2566 ระหว่างเทศกาลวันแรงงานของจีนครั้งแรกหลังปรับปรุงนโยบายการป้องกันโรคระบาดโควิด 19 สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว ร่วมกับ Guangzhou Lotus Supermarket Chain Store Co.,Ltd (CP Group) จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายผลไม้ไทย Thai Fruits Golden Months หน้าห้างสรรพสินค้า Grandview Mall ในเมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง โดยการจัดงานครั้งนี้ นอกจากมีการจัดงานออฟไลน์ในสถานที่สำคัญของเมืองกวางโจว ยังมีการจัดคู่ขนานที่เครือข่าย Lotus Supermarket และช่องทางออนไลน์ lotus go APP/ Wechat Miniprogram ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งเป็นการจัดงานตามโครงการยกระดับการส่งออกผลไม้เข้าสู่ตลาดกวางโจว ปี 2566 ภายใต้โครงการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าเกษตร อาหาร อาหารฮาลาล และสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก

ในงานได้จัดกิจกรรมสาธิตแจกชิมผลไม้ไทย ซึ่งภายในงาน ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว และผู้จัดการบริษัท CP ภาคใต้ ได้ร่วมรับประทานทุเรียนชนิดต่างๆ กับผู้เข้าร่วมงาน อาทิ ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ก้านยาวและพวงมณี ในงานมีการแสดงวัฒนธรรมไทย อาทิ การแสดงมวยไทย รำไทย รวมทั้งมีการเล่นเกมส์ชิงรางวัลเป็นผลไม้ไทย ซึ่งบรรยากาศภายในงานดำเนินไปอย่างคึกคัก นอกจากนี้ มีกิจกรรมให้ผู้บริโภคที่ซื้อผลไม้ไทย มีสิทธิ์เข้าร่วมจับสลาก เพื่อลุ้นรางวัลเป็นทุเรียนหรือมะพร้าว ควบคู่ไปกับการที่แพลตฟอร์มออนไลน์ของ CP ได้จัด Banner และ Page เฉพาะสำหรับงาน เพื่อร่วมกันประชาสัมพันธ์ทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์ นอกจากนี้ ระหว่างการจัดกิจกรรม เน้นการนำเสนอทุเรียนไทยเป็นหลัก และสินค้าผลไม้ไทยอื่นๆ เช่น ชมพู่ มังคุด มะพร้าว และลำไย รวมทั้งสินค้าผลไม้แช่แข็ง เช่น ไอศกรีมทุเรียน ทุเรียนแช่แข็ง รวมถึงคุกกี้ทุเรียน โดยจัดแสดงและจำหน่ายผลไม้ไทยในราคาพิเศษ

 

นอกจากนี้ สคต.  กวางโจวได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับผลไม้ไทยผ่านสื่อออนไลน์ในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการจัดงาน โดยการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ เช่น แอพพลิเคชั่น เว๋ยป๋อ (Weibo) วีแชท (Wechat) เสี่ยวหงชู (Xiaohonshu) ติ๊กตอก (Tiktok) และมีการประชาสัมพันธ์สินค้าผลไม้ไทยผ่านผู้มีอิทธิพลทางความคิด (KOLs) ของเครือข่ายบริษัท CP โดยเฉพาะประชาสัมพันธ์ให้กับลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายตาม Big Data ของการค้าปลีกของเครือข่ายบริษัท CP เพิ่มการสั่งซื้อออนไลน์ในช่วงการจัดงาน ซึ่งได้รับผลตอบจากผู้บริโภคจีนเป็นอย่างดี

ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

สินค้าผลไม้ไทยเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคจีน แต่ในขณะเดียวกัน สินค้าผลไม้ไทยมีคู่แข่งมากขึ้นทุกปี เช่น ทุเรียนจากเวียดนาม ทุเรียนจากมาเลเซีย หรือทุเรียนจากฟิลิปปินส์ที่เข้ามาตีตลาดและวางจำหน่ายในตลาดจีน อีกทั้งทุเรียนจากเวียดนามก็มีข้อได้เปรียบทางการนำเข้าหลายด้าน ซึ่งหากไม่มีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ผลไม้ไทยมีอิทธิพลในตลาดน้อยลง

ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมและผลักดันผลไม้ไทยให้เข้าสู่ตลาดมากขึ้น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ผลไม้ไทยร่วมกับซุปเปอร์มาร์เก็ตอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี โดยเน้นการนำเสนอลักษณะที่โดดเด่นของผลไม้ไทย โดยเฉพาะทุเรียนนั้น จะเป็นการนำเสนอสินค้าผลไม้ผ่านช่องทางใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้บริโภค และการจัดโปรโมชั่นในแอพพลิเคชั่นของซุปเปอร์มาร์เก็ตเพิ่มส่วนลด จะสามารถดึงดูดลูกค้าให้มากขึ้นได้เป็นอย่างดี รวมถึงการประชาสัมพันธ์ออนไลน์ในช่องทางของผู้นำเข้า จะส่งเสริมให้ผู้บริโภคจีนได้เห็นภาพลักษณ์ของผลไม้ไทย เข้าถึงผลไม้ไทยได้ง่าย และสามารถเลือกซื้อผลไม้ที่มีคุณภาพที่มาจากประเทศไทยได้โดยตรง ซึ่งการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ผลไม้ผ่านการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับซุปเปอร์มาร์เก็ตนี้ จะสามารถเพิ่มความเชื่อมั่นในการรับประทานผลไม้ไทยให้ผู้บริโภคจีนมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถรักษาและเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของผลไม้ไทยให้มากขึ้นต่อไป

ที่มา :

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login