🔄 Lifestyle ที่เปลี่ยนไป กับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น
.
ทั่วทั้งโลกรวมถึงประเทศไทยกำลังประสบปัญหาโรคไวรัส Covid-19 ที่กำลังระบาดอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะเริ่มมีข่าวการฉีดวัคซีนให้เห็นกันบ้างแล้ว และมีวี่แววว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แต่ผลกระทบบที่เกิดต่อเศรษฐกิจนั้นยังเป็นเรื่องที่ต้องการการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน และถูกจุด เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับผู้ที่เดือดร้อนในทุก ๆ ระดับ แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า จากการระบาดครั้งใหญ่นี้ทำให้เราเห็นถึงการปรับตัวของวิถีชีวิตผู้คนที่มีความระมัดระวังในการเลือกซื้อสินค้า และการอุปโภคบริโภคมากขึ้น คำนึงถึงความสะอาดที่มากขึ้น และนั่นได้นำมาสู่อีกปัญหาหนึ่งซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานและยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างดีพอ นั่นคือ ปัญหาเรื่องขยะพลาสติก
.
ปัญหาเรื่องขยะพลาสติกนั้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทั่วโลกมาอย่างยาวนาน เกิดขึ้นมาจากการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องการบริโภคอาหาร และสำหรับประเทศไทยเองนั้น ในช่วงที่เกิดวิกฤติการณ์ทางด้านสุขภาพเช่นนี้ จากการเก็บข้อมูลของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยพบว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 นั้นประเทศไทยมีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 60 โดยในเดือนเมษายนปี 2563 ที่มีการประกาศล็อกดาวน์นั้น ทำให้ผู้คนหันมาบริโภคอาหารจากผู้ให้บริการ Food Delivery กันมากขึ้น รวมทั้งการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ที่ต้องบรรจุหีบห่อต่าง ๆ ทำให้ในกรุงเทพมหานครนั้นมีขยะพลาสติกอยู่ราว 3,440 ตันต่อวัน โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนในปี 2562 ที่มีปริมาณขยะพลาสติก 2,120 ต่อวัน โดยเพิ่มขึ้น 1,320 ตันต่อวันคิดเป็นร้อยละ 62
.
อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนนั้น ไม่ใช่เพียงแต่การลดปริมาณการใช้ลงเท่านั้น แต่ต้องเริ่มต้นตั้งแต่การปรับเปลี่ยนแนวความคิด ตลอดจนการออกแบบสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ และบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ให้สามารถนำกลับมาใช้ได้หลายครั้ง ตามแนวความคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)”
.
🔄 ไอเดียการบริโภคแบบใหม่ ด้วย Refill Model
.
ปัจจุบันมีเทรนด์ต่าง ๆ ที่สนับสนุนต่อแนวความคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นการออกแนวนโยบายลดใช้ถุงพลาสติก (Reduce) การเปลี่ยนมาใช้ภาชนะที่สามารถใช้ซ้ำได้ในการซื้ออาหาร (Reuse) การนำวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตกลับมาเป็นสินค้าใหม่ เช่น หลอดไฟ เหล็ก และส่วนประกอบในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ (Recycle) หรืออีกเทรนด์ใหม่ที่กำลังมาแรงเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการลดปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์จากพลาสติก นั้นคือ เทรนด์การซื้อสินค้าแบบรีฟิล (Refill)
ในต่างประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร เริ่มมีการใช้ Refill Model ที่ร้าน Marks & Spencer ในสาขาแรกที่เมือง Southampton โดยให้ลูกค้านำภาชนะของตัวเองมาซื้อสินค้า เช่น ข้าวสาร และพาสต้า นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะขยายไปยังสินค้าชนิดอื่น ๆ อีก 44 ชนิด นอกจากนี้ซุปเปอร์มาร์เก็ตอย่าง Sainsbury’s ได้เริ่มเปิดให้มีบริการรีฟิลสินค้าประเภทน้ำยาทำความสะอาด และผลิตภัณฑ์สำหรับซักผ้าด้วยเช่นกัน
.
สำหรับในประเทศไทยเริ่มมีร้านขายสินค้ารีฟิลร้านแรกในปี 2562 โดยเริ่มจากการขายสินค้าจำพวกน้ำยาทำความสะอาด และของใช้ส่วนตัวต่าง ๆ ที่ให้ลูกค้านำภาชนะมาเติมเองได้ และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ก็ยังผลิตจากธรรมชาติซึ่งช่วยลดการเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกเช่นกัน และหลังจากนั้นก็มีร้านในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นในอีกหลายแห่งทั่วกรุงเทพ และในต่างจังหวัด โดยแนวคิดหลักคือ การเหลือขยะทิ้งให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดในการพัฒนาในปัจจุบัน ตลอดจนวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
.
ดังนั้นโมเดลธุรกิจแบบ Refill Station ที่เชื่อมโยงกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่มุ่งเน้นใช้ใจ และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจับตามองอย่างมาก โดยเฉพาะในย่านทำเลเมืองหรือบริเวณที่พักอาศัยในรูปแบบตึกสูงหรือคอนโดมิเนียมตามหัวเมืองใหญ่ของประเทศไทย ที่มีแนวโน้มการกระจายตัวของธุรกิจประเภทนี้มากขึ้น รวมทั้งยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคที่จำเป็นจะต้องหลีกเลี่ยงการไปยังสถานที่จำหน่ายสินค้าต่าง ๆ ที่มักจะมีความแออัดของผู้คน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกด้วย สำหรับตัวอย่างสินค้าที่เริ่มเข้าสู่ระบบร้าน Refill ได้แก่ น้ำยาทำความสะอาดสำหรับร่างกายและบ้านอาหารแห้ง เช่น ธัญพืชอบ ข้าวสาร ผลไม้อบแห้ง ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย (Skin Care) เป็นต้น
.
🔄 Refill Model ไม่เพียงแค่ดีกับสิ่งแวดล้อม แต่ดีกับเศรษฐกิจด้วย
.
ประเทศไทยมี Road Map การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 และ แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2565 โดยตั้งเป้าหมายว่าจะลดขยะพลาสติกภายในประเทศให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี 2570 ขับเคลื่อนโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมพันธมิตรอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งได้นำเอาแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ ในรูปแบบของการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนั้นออกแบบการผลิตที่เหลือทรัพยากรทิ้งน้อยที่สุด การส่งเสริมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ การส่งเสริมให้มีการรีไซเคิลขยะมาเป็นสินค้ารูปแบบต่าง ๆ เพื่อเพิ่มรายได้ รวมถึงแนวทางการลดใช้พลาสติกด้วยการเปลี่ยนมาใช้ภาชนะที่ใช้ซ้ำได้
.
ธุรกิจในรูปแบบ Refill สินค้านั้น เป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่อยากจะลดปริมาณการใช้พลาสติกของตนเองลง เนื่องจากสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวันนั้น เป็นสินค้าที่บรรจุอยู่ในหีบห่อพลาสติกแทบจะทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น สบู่ แชมพู น้ำยาซักผ้า น้ำยาทำความสะอาดต่าง ๆ หรือแม้แต่วัตถุดิบปรุงอาหารจำพวกซอส ซีอิ๊ว น้ำตาล น้ำปลา ที่แม้จะใช้ขวดแก้วในการบรรจุ แต่เมื่อใช้หมดไปก็ต้องไปซื้อขวดใหม่ หากไม่มีการนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธีก็จะกลายเป็นขยะได้เช่นกัน
.
เมื่อความต้องการใช้พลาสติก โดยเฉพาะแบบที่ใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastic) นั้นลดลง การคิดค้นวัสดุเพื่อมาทดแทนพลาสติกสำหรับทำภาชนะและบรรจุภัณฑ์นั้น จึงเป็นสิ่งที่เข้ามาแทนที่ เช่น ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ ภาชนะใส่อาหารที่ทำจากฟางข้าว การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับการใช้งานซ้ำรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับชนิดของที่จะนำมาบรรจุ เช่น การใช้แก้ว เซรามิค หรือพลาสติกทนความร้อนชนิดที่ใช้ได้หลายครั้ง เป็นต้น
.
การเปลี่ยนรูปแบบภาชนะที่ใช้เหล่านี้ทำให้เกิดนวัตกรรมต่าง ๆ รวมทั้งความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากสิ่งที่มีอยู่ หรือค้นพบสิ่งใหม่ๆที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งนอกจากการพัฒนาตนเองของผู้ผลิต ผู้ประกอบการแล้ว ภาครัฐเองก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งเสริมให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้อย่างยั่งยืนได้
.
🔄 ภาครัฐกับการส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบ Demand Driven
.
ด้วยแนวโน้มเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เป็นแกนหลักในการพัฒนาประเทศต่าง ๆ ในระดับสากลขององค์การสหประชาชาติ ประกอบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วไป และเริ่มมีความรุนแรงในหลายพื้นที่ ทำให้ผู้คนเกิดความตื่นตัวและตระหนักในเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น เหล่าผู้ประกอบการเองก็เริ่มที่จะปรับตัวให้เกิดการผลิตสินค้าและบริการให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มต่าง ๆ ได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันภาครัฐเองก็มีความพยายามที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนนั้นมีแนวนโยบายการประกอบกิจการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีการทำ MOU ร่วมกับบริษัทผู้ผลิตต่าง ๆ รวมทั้งธุรกิจในชุมชน ให้มีการนำทรัพยากรไปใช้อย่างคุ้มค่า รวมถึงการนำวัตถุดิบที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้กลับมาใช้ในกระบวนการผลิตได้อีก
.
นอกจากนี้การออกข้อกำหนดหรือกฎระเบียบที่เอื้อต่อการทำธุรกิจในรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นก็มีความสำคัญต่อการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหันมาประกอบธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรการทางภาษี ที่ให้ประโยชน์แก่ธุรกิจที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค้า การส่งเสริมนวัตกรรมในกระบวนการผลิตภาชนะและบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ รวมไปถึงการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคถึงแนวโน้มการบริโภคในโลกยุคสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่ายได้อย่างเท่าเทียม