หน้าแรกTrade insightอุตสาหกรรมอื่นๆ > เตรียมพบกับงานแสดงสินค้าคุณภาพหมวดเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน Ambienta ประเทศโครเอเชีย 26 ก.ย. – 1 ต.ค. 66 ที่จะถึงนี้

เตรียมพบกับงานแสดงสินค้าคุณภาพหมวดเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน Ambienta ประเทศโครเอเชีย 26 ก.ย. – 1 ต.ค. 66 ที่จะถึงนี้

ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ วันที่ 21-25 สิงหาคม 2566
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest

 

งานแสดงสินค้าระดับนานาชาติด้านเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านที่ใหญ่ที่สุดในโครเอเชีย หรืองาน Ambienta กำหนดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กันยายน ถึง 1 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ Zagreb Fair กรุงซาเกร็บ ประเทศโครเอเชีย เน้นสินค้ากลุ่มของตกแต่งบ้านดีไซน์สวยงาม สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ใช้นอกบ้าน ของใช้บนโต๊ะอาหาร โคมไฟ งานไม้ เป็นต้น

 

สำหรับปีนี้ ความพิเศษที่แตกต่างจากปีก่อนๆ ก็คือ งาน Ambienta จะจัดพร้อมกับงานแสดงสินค้าอื่นๆ อีก 4 งาน เนื่องจากเป็นวาระพิเศษครบรอบการจัดงาน Ambienta ครั้งที่ 50 โดยผู้ที่ซื้อบัตรเข้างาน Ambienta สามารถเข้าชมงานอื่นๆ ได้ฟรี ได้แก่

  1. งานแสดงสินค้าหมวดเครื่องใช้สำหรับธุรกิจ HORECA (โรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่และจัดเลี้ยง) (Hotel & Gastroteh)
  2. เทศกาลงานออกแบบและงานสร้างสรรค์ ณ กรุงซาเกร็บ (Zagreb Design Week)
  3. งานแสดงเทคโนโลยีสถาปัตยกรรมและวัสดุก่อสร้างแบบยั่งยืน (ArhiBau.hr)
  4. นิทรรศการแสดงทัศนศิลป์ร่วมสมัยระดับนานาชาติ (Art Zagreb)

 

งานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน Ambienta นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของโครเอเชีย จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2515 และจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ปีละหนึ่งครั้ง ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ยกเว้นช่วงที่มีมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 สำหรับปีนี้ ผู้จัดงานฯ คาดว่าจะมีบริษัทและสมาคมต่างๆ ทั้งจากโครเอเชียและชาวต่างชาติมาร่วมออกคูหาแสดงสินค้ากว่า 500 ราย บนพื้นที่จัดแสดงราว 18,000 ตารางเมตร ทั้งภายในอาคารและนอกอาคาร คาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าชมงานตลอด 6 วันประมาณ 5 หมื่นคน

 

นอกจากการแสดงสินค้าแล้ว ภายในงาน Ambienta ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีก อาทิ กิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจ การบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญในวงการออกแบบ นิทรรศการผลงานการออกแบบในสาขาต่างๆ และเวิร์คช็อปเพิ่มพูนทักษะ เป็นต้น โดยผู้เข้าร่วมงานฯ หลัก ได้แก่ สถาปนิก นักออกแบบทุกสาขา ศิลปิน ภัณฑารักษ์ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ วิศวกร ผู้รับเหมา ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้า และเจ้าของธุรกิจ ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปก็สามารถเข้าร่วมงานได้เช่นกัน โดยสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของผู้จัดงาน

 

ข้อคิดเห็นและบทวิเคราะห์ของ สคต.

 

จากการสำรวจความนิยมเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านในโครเอเชียประจำปี 2566 พบว่า สินค้าที่กำลังมาแรง เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น คือ สินค้าที่ผลิตในกระแสการรักษาสิ่งแวดล้อม และสามารถใช้งานได้อย่างยั่งยืน เช่น เฟอร์นิเจอร์สานจากไม้ไผ่และหวาย อาทิ เก้าอี้ ตู้ โต๊ะ ตะกร้า กรอบรูป และซุ้มโคมไฟ และฉากกั้นห้อง รวมทั้ง เฟอร์นิเจอร์รูปทรงโค้งมนทำจากไม้และทาสีเอิร์ธโทน ให้ความรู้สึกสบายตาและเป็นมิตร รวมถึง ต้นไม้เขตเมืองร้อนสำหรับปลูกภายในอาคาร ทั้งต้นไม้จริงและต้นไม้ประดิษฐ์ อาทิ ต้นปาล์ม พลูฉีก ไม้ด่าง เป็นต้น เนื่องจากให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ เข้ากับการตกแต่งแนวร่วมสมัยในปัจจุบัน นอกจากนี้ เฟอร์นิเจอร์ Multi-function ก็เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวโครเอเชีย เนื่องจากช่วยประหยัดพื้นที่ใช้สอยในอพาร์ตเม้นท์ที่มีพื้นที่อยู่อย่างจำกัด โดยสินค้าในกลุ่มเหล่านี้ เป็นสินค้าที่ผู้ผลิตชาวไทยมีศักยภาพและความเชี่ยวชาญอยู่มาก แต่อาจจะยังไม่ได้ผลิตในปริมาณมาก จึงยังไม่ได้ส่งออกต่างประเทศมากนัก

 

เมื่อพิจารณาสถิติการค้าที่ไทยส่งออกไปยังโครเอเชีย ช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2566 สินค้าส่งออก กลุ่มเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน มีมูลค่ามากขึ้น อาทิ

    • ** เฟอร์นิเจอร์ทำจากไม้ (พิกัดศุลกากร 94.03) จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ประมาณ 16,560 บาท ในขณะที่ปีนี้ มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 1,599,245 บาท เพิ่มขึ้นถึง 9557.27%
    • ประตู หน้าต่าง ทำจากพลาสติก (พิกัดศุลกากร 39.25) จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ยังไม่มีการส่งออกจากไทยไปโครเอเชีย ในขณะที่ปีนี้ มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 1,140,914 บาท
    • กล่องและหีบพลาสติก (พิกัดศุลกากร 39.23) จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ประมาณ 947,860 บาท ในขณะที่ปีนี้ มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 926,521 บาท หดตัวลงเล็กน้อย 2.25%
    • ** ของใช้บนโต๊ะอาหารที่ทำจากเหล็ก (พิกัดศุลกากร 73.23) จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 100,784 บาท ในขณะที่ปีนี้ มูลค่าการส่งออกประมาณ 475,775 บาท เพิ่มขึ้นถึง 372.07%
    • ** ผลิตภัณฑ์เซรามิก ชนิดพอร์ซเลนหรือเนื้อละเอียด (พิกัดศุลกากร 69.14) จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 3,148 บาท ในขณะที่ปีนี้ มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ประมาณ 442,174 บาท เพิ่มขึ้นถึง 13,946.19%
    • ** ไม้แกะสลัก เฟอร์นิเจอร์ไม้ประดับมุก งานช้างหรือวัตถุอื่นๆ (พิกัดศุลกากร 44.20) จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 5,024 บาท ในขณะที่ปีนี้ มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ประมาณ 194,065 บาท เพิ่มขึ้นถึง 1,772.31%
    • โคมไฟ (พิกัดศุลกากร 94.05) จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ยังไม่มีการส่งออกจากไทยไปโครเอเชีย ในขณะที่ปีนี้ มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ประมาณ 103,304 บาท

 

จากการที่โครเอเชียเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป สินค้าไทยที่จะเข้าตลาดโครเอเชียได้จะต้องผ่านมาตรฐานคุณภาพสินค้าของ EU โดยผู้ส่งออกจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เข้มงวดของสหภาพยุโรป สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์จึงรวบรวมกฎระเบียบ และใบรับรองมาตรฐานสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน ดังที่ระบุไว้ด้านล่างนี้ โดยหากผู้ประกอบการไทยต้องการตรวจสอบอัตราภาษีอากรขาเข้า ณ ปัจจุบัน สามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการยุโรป (TARIC)

 

 

ตัวอย่างกฎระเบียบและมาตรฐานสินค้าของสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน

เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน

  • กฎระเบียบว่าด้วยการกํากับดูแลด้านวัสดุสัมผัสอาหารทั้งหมด (Regulation (EC) No.1935/2004 หรือ EU Food Contact Regulations) ครอบคลุมสินค้า 3 กลุ่ม ได้แก่ ภาชนะบรรจุอาหาร เครื่องใช้ในครัว ตลอดจนเครื่องจักรและวัสดุต่างๆ ที่ใช้ในกระบวนการผลิตอาหาร
  • กฎระเบียบว่าด้วยการค้าไม้ของสหภาพยุโรป (Regulation (EU) No 995/2010 หรือ EU Timber Regulation-EUTR) โดยห้ามวางจำหน่ายไม้และสินค้าจากไม้ที่ได้มาอย่างผิดกฎหมาย จำเป็นต้องมีใบรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น CITES, FLEGT หรือ FSC ครอบคลุมสินค้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้เกือบทุกประเภท อาทิ เฟอร์นิเจอร์ไม้ กรอบรูปไม้ ชิ้นส่วนที่ทำจากไม้ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเศษไม้อัด (Wood in Chips or Particles) ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากขี้เลื่อยและเศษไม้ (Sawdust and Wood Waste) ไม้ประเภท MDF (Medium-Density Fiberboard) ไม้ประเภท Particle board ไม้ลามิเนต (Laminated Wood) กระดาษและเยื่อกระดาษ รวมถึงไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่ได้มาจากป่าปลูกเพื่อการพาณิชย์ เช่น ไม้ยางพารา เป็นต้น
  • กฎระเบียบว่าด้วยการผลิตและการติดฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม (Directive 2009/125/EC หรือ Ecodesign Framework Directive) ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เครื่องใช้ในครัวเรือน
  • กฎระเบียบว่าด้วยบรรจุภัณฑ์ และของเสียที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ (European Parliament and Council Directive 94/62/EC)
  • กฎระเบียบว่าด้วยมาตรฐานการปนเปื้อนของตะกั่วและแคดเมียมในภาชนะเซรามิก (Council Directive 84/500/EEC) ครอบคลุมสินค้าภาชนะเซรามิกที่ใช้กับอาหาร หรือภาชนะเซรามิกที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคเข้าร่างกายของผู้บริโภคโดยตรง
  • กฎระเบียบว่าด้วยสารเคมีของสหภาพยุโรป (Regulation (EC) No 1907/2006 Concerning the Registration, Evaluation, Authorization, and Restriction of Chemicals – REACH) ครอบคลุมเฟอร์นิเจอร์และสินค้าที่ทำจากไม้ โลหะ หรือแก้ว
  • กฎหมายกำกับดูแลความปลอดภัยของผู้บริโภค (Directive 2001/95/EC หรือ General Product Safety Directive-GPSD) เป็นกฎหมายแม่บทเพื่อปกป้องสุขภาพของผู้บริโภค และรับประกันคุณภาพของสินค้าอุปโภคบริโภคที่วางจำหน่ายในท้องตลาด เช่น เฟอร์นิเจอร์ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก เป็นต้น
  • มาตรฐาน EN (European Standard) เป็นมาตรฐานที่ใช้กำหนดข้อกำหนดเฉพาะของแต่ละสินค้า (Technical Specifications) ที่สามารถวางจำหน่ายในตลาดสภาพยุโรปได้ ผ่านการรับรองขององค์การมาตรฐานต่างๆ ในยุโรป อาทิ European Committee for Standardization (CEN), European Committee for Electrotechnical Standardization (CENELEC) เป็นต้น โดยตัวอย่างสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่จำเป็นต้องมีมาตรฐาน EN ได้แก่
    • EN 581-1 – เฟอร์นิเจอร์สนาม – ที่นั่งและโต๊ะสำหรับตั้งแคมป์ ใช้งานในบ้าน
    • EN 716-1 – เฟอร์นิเจอร์ – เปลเด็กและเปลพับสำหรับใช้ในบ้าน
    • EN 1129-2 – เฟอร์นิเจอร์ – เตียงพับ
  • มาตรฐานความปลอดภัยด้านอัคคีภัย (Fire Safety Standard) โดยผู้ส่งออกสามารถใช้บริการทดสอบการติดไฟและความทนไฟของเฟอร์นิเจอร์จากบริษัทเอกชนผู้เชี่ยวชาญ เช่น Intertek, QIMA และ SATRA  ก่อนดำเนินการนำเข้าสินค้ามายังตลาดยุโรป
  • ปัจจุบัน ยังไม่มีระเบียบรองรับมาตรฐานสินค้าเฟอร์นิเจอร์สำหรับเด็กโดยเฉพาะ ทว่ามาตรฐาน EN บางส่วนอาจครอบคลุมถึงเฟอร์นิเจอร์ประเภทต่างๆ ที่เด็กสามารถใช้ได้เหมือนผู้ใหญ่ แล้วแต่ประเภทสินค้า เช่น มาตรฐานความปลอดภัยด้านสารเคมีอันตราย และด้านอัคคีภัย เป็นต้น นอกจากนี้ เฟอร์นิเจอร์สำหรับเด็กบางอย่างอาจนับเป็นของเล่น จึงต้องศึกษารายละเอียดในกฎหมายควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าของเล่นเด็ก (Directive 2009/48/EC หรือ EU Toy Safety Directive) และมาตรฐาน EN 71 ที่เกี่ยวข้อง
  • มาตรฐาน CE (European Conformity) หรือ CE Marking เพื่อให้สินค้านั้นมีการออกแบบและการผลิตที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยตามข้อกำหนดในระเบียบข้อบังคับด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของสหภาพยุโรป
  • มาตรฐานอื่นๆ เกี่ยวกับความยั่งยืนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่สหภาพยุโรปมิได้บังคับให้มี ทว่าผู้นำเข้าส่วนมากให้ความสำคัญ เช่น มาตรฐาน FSC® สำหรับผลิตภัณฑ์ทำจากไม้ที่มาจากป่าที่ยั่งยืน ฉลากสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป (EU Ecolabel) มาตรฐานจริยธรรมพื้นฐานทางการค้า (Ethical Trading Initiative (ETI) Standard) มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 และมาตรฐานความรับผิดชอบทางสังคม SA 8000 เป็นต้น

 

งานแสดงสินค้า Ambienta ในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นมหกรรมแสดงสินค้ากลุ่มเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านที่ใหญ่ที่สุดของโครเอเชีย เนื่องจากเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมสินค้าและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการออกแบบของโครเอเชีย หากผู้ประกอบการไทยได้เข้าร่วมแสดงสินค้าในงานฯ นี้ จะช่วยเพิ่มพูนความรู้แนวโน้มการบริโภคในโครเอเชียและประเทศใกล้เคียง และสามารถนำไปปรับสินค้าตนเองให้สอดคล้องกับตลาดได้ นอกจากนี้ การเปิดโอกาสให้เจรจาธุรกิจกับทั้งคู่ค้าชาวโครเอเชียและจากประเทศข้างเคียงในทวีปยุโรปโดยตรง ก็จะทำให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือในการทำธุรกิจร่วมกัน สำหรับในปี 2567 งานแสดงสินค้านี้ มีกำหนดการจัดงานครั้งต่อไป ในช่วงปลายเดือนกันยายน-ต้นเดือนตุลาคม 2567

 

ที่มาของข้อมูล

มอนเตเนโกรระงับการนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกรจาก 43 ประเทศทั่วโลก 🐷 เนื่องจากโรค ASF ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกเนื้อสุกรจากไทย

สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
21-25 สิงหาคม 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login