ธนาคารกลางแห่งประเทศแคนาดา ได้เปิดเผยข้อมูลทางเศรษฐกิจภายในประเทศไว้ว่า ปี 2566 เศรษฐกิจแคนาดายังอยู่ในภาวะแนวโน้มที่ไม่แน่นอน และมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะขาลง เนื่องมาจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเป็นสำคัญ
โดยสำนักงานสถิติแคนาดา ได้ระบุตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัวร้อยละ 0.6 ในไตรมาส 1/2566 โดยพบว่าดัชนี GDP ได้เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 0.3 โดยเป็นการขยายตัวที่ชะลอตัวลงจากเดือนมกราคม 2566 ที่จีดีพีสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 0.6 มาจากการหดตัวของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการค้าธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก และภาคการผลิตสินค้าในประเทศ
ตามที่นาย Andrew Grantham นักวิเคราะห์เศรษฐกิจอาวุโส ธนาคาร CIBC แคนาดา กล่าวว่า ข้อมูลการค้าเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เศรษฐกิจแคนาดาขยายตัวได้ดี จากปัจจัยสนับสนุนภาคการบริการเป็นหลัก แต่เมื่อพิจารณาถึงตัวเลข GDP ที่อ่อนแอลงในเดือนมีนาคม 2566 เชื่อว่าป็นผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นและอัตราเงินเฟ้อที่คงอยู่ในระดับสูง ซึ่งแม้ว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในวงกว้าง จึงส่งให้เศรษฐกิจแคนาดามีแนวโน้มชะลอตัวไปถึงช่วงไตรมาส 2/2566
สำหรับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อล่าสุดเดือนมีนาคม 2566 อยู่ร้อยละ 4.3 ถึงแม้ธนาคารกลางแคนาดาระบุว่า อัตราเงินเฟ้อของแคนาดาได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว (เคยแตะที่ระดับร้อยละ 8.1 ปีก่อนหน้า) และอยู่ในแนวโน้มที่จะปรับตัวลง แต่ทว่า อัตราเงินเฟ้อที่ยังไม่ลดลงใกล้ระดับเป้าหมายร้อยละ 2.0 อาจทำให้ธนาคารกลางมีโอกาสเดินหน้าพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในประเทศเพื่อควบคุมเงินเฟ้อต่อไป ขณะเดียวกัน ก็จะต้องแลกกับความเสี่ยงกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระดับต่ำ เพราะทั้งสองทางจะมีนโยบายการเงินที่ต่างกัน
ด้านนาย Tiff Macklem ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศแคนาดา กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลง และตลาดแรงงานในประเทศที่เริ่มผ่อนคลาย (Softening) ขึ้น ถือเป็นสัญญาณในแง่ดีที่ว่าธนาคารกลางอาจใกล้ถึงจุดสิ้นสุดของการปรับดอกเบี้ยขาขึ้นเชิงรุก หลังจากได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 8 ครั้งต่อเนื่องตลอดปีที่ผ่านมา โดย ณ วันนี้ขึ้นมาอยู่ที่อัตราร้อยละ 4.5 หากเทียบกับร้อยละ 0.25 เมื่อช่วงต้นปี 2565
อย่างไรก็ดี ผู้ว่าแบงค์ชาติแคนาดา คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในประเทศน่าจะลดลงไปสู่ที่ระดับร้อยละ 3.0 ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2566 และเข้าสู่กรอบเป้าหมายร้อยละ 2 ภายในสิ้นปี 2567 อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการทยอยประกาศปิดตัวของธนาคารในสหรัฐและสหภาพยุโรป จะมีผลกระทบต่อระบบการเงินแคนาดามากน้อยเพียงใด ซึ่งธนาคารต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ สถานการณ์เงินเฟ้อในแคนาดาส่งผลให้ค่าครองชีพของชาวแคนาดาเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จนสร้างความกังวลให้กับชาวแคนาดาอย่างยิ่ง เนื่องจากพบว่าอัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นไม่สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งให้หลายครอบครัวจำเป็นต้องวางแผนการเงินใหม่ ลดการบริโภคสินค้าและบริการที่ไม่จำเป็นลง จากการสำรวจสินค้าจากอาหารจากไทยในร้านค้าปลีกพบว่า ราคาเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับสินค้าอาหารทุกประเภท ทั้งนี้ สคต.เห็นว่า ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าสม่ำเสมอ เพื่อจะได้ปรับแผนการจัดการรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสมต่อไป
โดย…สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์
ที่มาของบทความ
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)