สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต
ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 17-21 กรกฎาคม 2566
เงินเฟ้อล่าสุดในแคนาดาที่ระดับร้อยละ 2.8 ต่ำสุดในรอบ 28 เดือน
ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2566 ลดลงอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.8 ลดจากร้อยละ 3.4 ในเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำที่สุดในรอบ 28 เดือน และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ที่ระดับร้อยละ 3
การลดลงของอัตราเงินเฟ้อนั้นเริ่มมาอยู่ในกรอบที่ธนาคารกลางแคนาดาตั้งไว้แต่เดิมระหว่างร้อยละ 1-3 โดยคาดหวังว่าจะสามารถลดลงมาอยู่ในระดับร้อยละ 2 ในระยะยาว ทั้งนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดของเดือนมิถุนายน 2566 เป็นการเปรียบเทียบเงินเฟ้อกับปีที่ผ่านมา (YoY basis) ซึ่งฐานสูง เพราะมิถุนายน 2565 อัตราเงินเฟ้อของแคนาดาอยู่ที่ระดับร้อยละ 8.1 ซึ่งสูงที่สุดในรอบเกือบ 40 ปี โดยขณะนั้น ทั่วโลกประสบปัญหา supply chain disruption การมีอุปสงค์พุ่งสูงขึ้นมาก รวมถึงแคนาดาได้รับผลกระทบของสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามยูเครน-รัสเซีย อย่างไรก็ตาม หากเจาะลึกจากตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดจะพบว่า ราคาน้ำมันลดลงถึงร้อยละ 21.6 และหากคำนวณเงินเฟ้อล่าสุดที่ไม่รวมราคาน้ำมัน เงินเฟ้อจะยังคงอยู่ที่ระดับร้อยละ 4 (แต่ยังลดลงจากร้อยละ 4.4 ในเดือนพฤษภาคม 2566)
ถึงแม้ว่าเงินเฟ้อในแคนาดาอยู่ในช่วงขาลง แต่ธนาคารกลางแคนาดายังคงไม่ไว้ใจกับสถานการณ์เงินเฟ้อล่าสุด แม้จะมีสัญญาณอ่อนตัวลงแล้วก็ตาม โดยธนาคารกลางขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 ในสัปดาห์ก่อน ไปเป็นที่ระดับร้อยละ 5 เพื่อให้มั่นใจว่าทิศทางอัตราเงินเฟ้อลดลง นอกจากนี้ ผู้ว่าการธนาคารกลางแคนาดากล่าวว่าการใช้อัตราดอกเบี้ยที่สูงยังคงมีความจำเป็นในการสกัดเงินเฟ้อเพื่อให้เข้าสู่ระดับต่ำในระยะยาว ซึ่งหมายถึงการคงอัตราดอกเบี้ยระดับสูงที่นานกว่านักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ไว้ ทำให้ผลกระทบของดอกเบี้ยสูงอาจต้องแลกกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และค่าเงินแคนาดาที่อาจแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ (ที่จะกระทบต่อภาคการส่งออก)
ธนาคารกลางแคนาดายอมรับว่าภาวะเงินเฟ้อครั้งนี้ อาจต้องใช้เวลานานกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ จนกว่าจะปรับลดลงมาในระดับปกติที่ร้อยละ 2 โดยมีการปรับประเมินใหม่ว่า ทิศทางอัตราเงินเฟ้อจะสามารถลดมาที่ระดับร้อยละ 2 ภายในกลางปี 2568 หรืออาจใช้เวลามากกว่า 6 เดือนเมื่อเทียบกับการประเมินในครั้งก่อน
จากตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2566 พบว่าสินค้าอาหารปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 โดยราคาผักผลไม้สดเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 และถ้าเจาะลึกลงในรายละเอียดจะพบว่าราคาองุ่นสดปรับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน และยังมีสินค้าอีกหลายรายการและค่าสินค้าบริการยังคงมีราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ในขณะที่ราคาเฟอร์นิเจอร์ปรับลดลงร้อยละ 2.6 ค่าบัตรโดยสารเครื่องบินลดลงร้อยละ 3.5
ความเห็นของ สคต.
เงินเฟ้อล่าสุดในแคนาดาประจำเดือนมิถุนายน 2566 ปรับลดลงมาต่อเนื่องอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.8 ต่ำสุดในรอบ 28 เดือน สร้างข่าวดีให้กับรัฐบาลและธนาคารกลางแคนาดา ในการควบคุมเงินเฟ้อที่เข้าใกล้กรอบเป้าหมายที่กำหนดที่ระดับร้อยละ 2 อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าไม่ควรประมาทกับสถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบันเนื่องจากการลดลงของอัตราเงินเฟ้อส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการลดลงของราคาสินค้าพลังงานเป็นหลัก ในขณะที่ราคาสินค้าขั้นพื้นฐาน อาทิ อาหาร ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงค่าที่พักอาศัย (Shelter Cost) ได้แก่ ค่าเช่าที่พัก ค่าผ่อนบ้าน ที่ปรับขึ้นตามเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้นักวิเคราะห์ยังกังวลว่า ภาวะเงินเฟ้อในแคนาดาอาจมีโอกาสปรับขึ้นอีกภายในอีก 3-6 เดือน และสัญญาณเศรษฐกิจแคนาดาเริ่มชะลอตัว อัตราการว่างงานเริ่มปรับขึ้นติดต่อกันในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา รวมถึงมูลค่าการนำเข้าส่งออก ระหว่างแคนาดากับประเทศทั่วโลกที่หดตัว (ที่รวมถึงไทย) ที่อาจก่อตัวให้เกิดมรสุมวิกฤตเศรษฐกิจลูกใหม่ในช่วงปลายปี 2566
โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. 1169 (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +66 2792 6900)
——————————————————————-
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)