หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > เกาะติดสถานการณ์เครื่องดื่ม Soft Drinks ของจีน: ผู้สูงอายุกำลังจะกลายเป็นเป้าหมายใหม่ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม

เกาะติดสถานการณ์เครื่องดื่ม Soft Drinks ของจีน: ผู้สูงอายุกำลังจะกลายเป็นเป้าหมายใหม่ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม

เครื่องดื่ม Soft Drinks คือ เครื่องดื่มธรรมชาติหรือเครื่องดื่มที่ปรุงแต่งขึ้นโดยมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์น้อยกว่าร้อยละ 0.5 หรือเรียกว่าเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ โดยสามารถจำแนกออกได้เป็น 8 ประเภท ได้แก่ เครื่องดื่มน้ำอัดลม เครื่องดื่มน้ำผักและเครื่องดื่มน้ำผลไม้ เครื่องดื่มชา เครื่องดื่มโปรตีนจากพืช เครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของสารสกัดจากพืช เครื่องดื่มนม เครื่องดื่มบรรจุภัณฑ์ และเครื่องดื่มผง

รายงานการสำรวจเชิงลึกในการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำอัดลมของจีนและรายงานการวิจัยการลงทุนในอนาคต (ค.ศ. 2023 – 2030) ซึ่งจัดทำโดย Guanyan Report Network เปิดเผยว่าจุดเริ่มต้นของตลาดน้ำอัดลมของจีนเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1978 เมื่อบริษัท Coca-Cola เข้าสู่ตลาดจีนเป็นครั้งแรก จากนั้นตลาดน้ำอัดลมในประเทศจีนก็มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ปัจจุบันจีนได้กลายเป็นหนึ่งในตลาดน้ำอัดลมที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เมื่อพิจารณาด้านความต้องการของผู้บริโภคในตลาดจีน พบว่ามีสถานการณ์การบริโภคที่น่าสนใจ คือความต้องการบริโภคในกลุ่มผู้สูงอายุมีขนาดเพิ่มขึ้น และมีการคาดการณ์ว่าจะเป็นความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดเครื่องดื่ม โดยมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตดังกล่าว สรุปได้ดังนี้

  1. ประชากรผู้สูงอายุ จำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลสืบเนื่องจากสังคมจีนที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ปัญหาประชากรผู้สูงอายุของจีนทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งในปลายปี ค.ศ. 2022 พบว่าจีนมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 280.04 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.8 ของจำนวนประชากรจีนทั้งหมด โดยในที่นี้มีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 209.78 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 14.9 ของจำนวนประชากรจีนทั้งหมด และคาดว่า ในปี ค.ศ. 2035 จีนจะมีประชากรผู้สูงอายุรวมทั้งสิ้นทะลุ 400 ล้านคน ซึ่งการที่ตัวเลขประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงส่งให้ความต้องการในการบริโภคของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
  2. ความสามารถในการบริโภคของกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น และมีศักยภาพในการบริโภคสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้เกิดความต้องการในการบริโภคที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งมีแนวโน้มทำให้ Silver Economy หรือเศรษฐกิจผู้สูงอายุ กำลังจะกลายเป็นพลังขับเคลื่อนใหม่ของการพัฒนาตลาดการบริโภคในอนาคต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม Soft Drinks ของจีนที่ปัจจุบันกำลังเข้าสู่ช่วงการพัฒนาอย่างมั่นคง จึงทำให้มีโอกาสเติบโตได้มากขึ้น หากสามารถตอบสนองความต้องการและเจาะกลุ่มผู้บริโภคสูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อพิจารณารูปแบบการแข่งขันของอุตสาหกรรม Soft Drinks ของจีนพบว่ายังคงมีรูปแบบการแข่งขันที่กระจัดกระจาย เนื่องจากปัจจุบัน จะพบว่าหลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม Soft Drinks ยังค่อนข้างต่ำ จึงทำให้มีผู้ผลิตจำนวนมาก ส่งผลให้รูปแบบการแข่งขันของอุตสาหกรรมค่อนข้างกระจายตัว โดยนับจนกระทั่งถึงเดือนสิงหาคม 2022 พบว่าจีนมีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องดื่ม Soft Drinks จำนวน 24,375 ราย ในนี้ที่นี้ มีบริษัทจดทะเบียนใหม่จำนวน 1,833 ราย โดยมีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ระหว่าง 1 – 2 ล้านหยวน หรือประมาณ 5 – 10 ล้านบาท และมีแบรนด์ที่ได้รับความนิยมหลักในตลาดจีน ได้แก่ โค้ก เป็ปซี่ วาฮาฮา เป็นต้น

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากส่วนแบ่งตลาด พบว่า บริษัทเครื่องดื่ม Soft Drinks ของจีน 10 อันดับแรกยังครองส่วนแบ่งตลาดไม่ถึงร้อยละ 50 ในที่นี้ บริษัท Coca-Cola ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.1 รองลงมา ได้แก่ บริษัท MASTER KONG HOLDINGS CO LTD ร้อยละ 8 บริษัท NONGFU SPRING ร้อยละ 7.2 และบริษัทอื่นๆ รวมอีกร้อยละ 52.6 แสดงให้เห็นว่าตลาดเครื่องดื่ม Soft Drinks ของจีนมีรูปแบบการแข่งขันที่ค่อนข้างกระจัดกระจาย ในขณะที่ผู้บริโภคมีความต้องการบริโภคเครื่องดื่มที่มีรสชาติหลากหลาย ดังนั้น บริษัทเครื่องดื่ม Soft Drinks ในตลาดจีนจึงต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคามโดดเด่น และมีความหลากหลาย เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และสามารถรับมือกับการแข่งขันที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าจำนวนบริษัทเครื่องดื่ม Soft Drinks จะมีจำนวนมาก แต่กลุ่มผู้บริโภคหลักของตลาดเครื่องดื่ม Soft Drinks จีนก็ยังคงเป็นคนหนุ่มสาว ขณะที่ตลาดเครื่องดื่ม Soft Drinks สำหรับผู้สูงอายุยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ดังนั้น บริษัทที่มุ่งเน้นตีตลาดเครื่องดื่ม Soft Drinks สำหรับผู้สูงอายุจึงยังมีไม่มาก โดยนอกจากบริษัท NONGFU SPRING ที่นำเสนอน้ำบรรจุภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุแล้ว ส่วนใหญ่ก็พบว่ามีเพียงเครื่องดื่มนมหรือเครื่องดื่มโปรตีนผงของบริษัท วาฮาฮา บริษัท Want Want Group บริษัท Feihe บริษัท Danone และบริษัท Mengniu เป็นต้น  ด้วยเหตุนี้ เครื่องดื่ม Soft Drinks ที่ใช้ในการเจาะกลุ่มผู้บริโภคผู้สูงอายุจึงตัวเลือกไม่หลากหลาย และส่วนใหญ่เป็นเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของนม อาทิ นมวัว ผลิตภัณฑ์ Probiotics และนมผง เป็นต้น

ปัจจุบัน ตลาดเครื่องดื่ม Soft Drinks สำหรับผู้สูงอายุมีอุปทานไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ ทำให้ตลาดเครื่องดื่ม Soft Drinks ยังถือเป็นตลาด Blue Ocean สำหรับผู้ประกอบการเครื่องดื่มที่หากต้องการจะแสวงหาโอกาสในการขยายตลาด โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้บริโภคในกลุ่ม Silver Economy หรือเศรษฐกิจผู้สูงอายุ จึงต้องมีการพัฒนากลยุทธ์และแนวโน้มการตลาดที่เหมาะสม ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

  1. ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำตาลต่ำ หรือปราศจากน้ำตาล เนื่องจากผู้สูงอายุมีความต้องการที่แตกต่างจากคนหนุ่มสาวที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพเป็นอันดับแรก โดยไม่ได้เลือกเครื่องดื่มที่รสชาติเป็นอันดับต้นๆ ดังนั้นสุขภาพจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับผู้สูงอายุในการเลือกบริโภคเครื่องดื่ม ซึ่งปัจจุบันเครื่องดื่มส่วนใหญ่ในตลาดมักจะมีน้ำตาลสูง และมีแคลอรี่สูง จึงไม่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุบางคนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ดังนั้น หากบริษัทผู้ผลิตสามารถพิจารณาปรับปรุงผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแบบดั้งเดิมที่เป็นที่รู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดีในตลาด โดยรักษาความเป็นธรรมชาติของผลิตภัณฑ์ แต่พัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำตาลต่ำหรือปราศจากน้ำตาล ก็จะสามารถตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพและรสชาติสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดีมากยิ่งขึ้น
  2. ปรับปรุงเครื่องดื่มที่มีคุณสมบัติในการตอบสนองความต้องการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย เนื่องจากผู้สูงอายุมีอายุมากขึ้น ร่างกายและสมองก็เริ่มแก่ตัวลง ดังนั้น ผู้สูงอายุจึงมีความต้องการที่จะมีสุขภาพดีและร่างกายแข็งแรง ดังนั้น เครื่องดื่มที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับผู้สูงอายุถือว่าเป็นปัจจัยความสำเร็จในการแข่งขันของธุรกิจเครื่องดื่มในอนาคต โดยเครื่องดื่มที่มีศักยภาพในการพัฒนามากที่สุดคือเครื่องดื่มโปรตีน เนื่องจากปัจจุบันพบว่าชาวจีนกว่าร้อยละ 60 ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีปริมาณการบริโภคโปรตีนที่ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ซึ่งหากผู้ประกอบการสามารถพิจารณาศึกษาปัจจัยความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องดื่มจากต่างประเทศ และแสวงหาความร่วมมมือในการวิจัยและพัฒนาเครื่องดื่มโปรตีนที่เป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกาย เช่น เครื่องดื่มที่เสริมสร้างความจำ หรือเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพลำไส้ เป็นต้น ก็จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำเสนอเครื่องดื่มในการเจาะกลุ่มผู้สูงอายุชาวจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  3. ปรับปรุงเครื่องดื่มให้มีขนาดเล็ก เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้น ผู้สูงอายุมักประสบปัญหาการรับประทานอาหารได้น้อยลง และเบื่ออาหาร ดังนั้น การกินที่หลากหลายและในปริมาณที่น้อยลง จะถือเป็นการช่วยเพิ่มสารอาหารให้แก่ผู้สูงอายุได้ดียิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเครื่องดื่มในตลาดส่วนใหญ่ที่มีขนาดเล็ก หรือมีขนาดบรรจุภัณฑ์ประมาณ 300 – 350 มิลลิลิตร ยังคงเป็นขนาดบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่หรือมากเกินไปสำหรับ ผู้สูงอายุ ดังนั้น หากผู้ประกอบการสามารถพิจารณาปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้มีขนาดเล็กหรือขนาดบรรจุประมาณ 100 มิลลิตร และยังคงมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ก็จะทำให้การเจาะตลาดเครื่องดื่มผู้สูงอายุประสบความสำเร็จได้อย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้น

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

ตลาดเครื่องดื่ม Soft Drinks ของจีน พบว่าผู้บริโภคหลักยังคงเป็นกลุ่มคนหนุ่มสาว แต่ด้วยการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรผู้สูงอายุ และแนวคิดด้านการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับความสามารถในการบริโภคที่มีศักยภาพมากขึ้น จึงทำให้กลุ่มผู้สูงอายุเป็นอีกกลุ่มผู้บริโภคที่น่าจับตามองในการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับตลาดเครื่องดื่ม Soft Drinks ที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดที่มีการเปิดเผยว่าในปี ค.ศ. 2020 ขนาดตลาดเครื่องดื่ม Soft Drinks ของจีนมีมูลค่า 233,490 ล้านหยวน หรือประมาณ 1.16 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 เมื่อเทียบกับปี 2018 อีกทั้งยังเป็นตลาดที่มีผู้ประกอบการเข้าร่วมแข่งขันยังไม่มากนัก จึงทำให้ตลาดเครื่องดื่ม Soft Drinks ยังเป็นตลาด Blue Ocean ที่น่าจับตามองสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยผู้ประกอบการไทยสามารถพิจารณาพัฒนา และปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ตามความต้องการของกลุ่มผู้สูงอายุชาวจีน เช่น เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลต่ำ เครื่องดื่มที่มีคุณสมบัติที่ดีต่อการฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกาย และเครื่องดื่มที่มีขนาดเล็ก เป็นต้น นอกจากนี้ การจะเข้ามาเจาะตลาดอาหารและเครื่องดื่มของจีนในปัจจุบันนอกจากต้องคำนึกถึงปัจจัยข้างต้นแล้ว ยังต้องคำนึกถึงความปลอดภัยของอาหาร และการเลือกช่องทางการประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จัก และจดจำได้ง่ายด้วย โดยสินค้าต้องมีความโดดเด่น เช่น รสชาติใหม่ บรรจุภัณฑ์ที่มีลูกเล่นน่าสนใจ ตลอดจนการร่วมมือกับ KOL จัดทำคลิปวิดีโอสั้นที่สอดคล้องกับรสนิยมของผู้บริโภคชาวจีนและประชาสัมพันธ์สินค้าบนแพลตฟอร์มโซเชียลชื่อดังของจีน ซึ่งกลยุทธ์ต่างๆ เหล่านี้จะช่วยสร้างโอกาสในการเข้ามามีส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่ม Soft Drinks ในจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

https://www.chinabaogao.com/free/202303/630627.html

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login