หน้าแรกTrade insightเกษตรอื่นๆ > เกาะติดสถานการณ์ตลาดน้ำมะพร้าวจีน

เกาะติดสถานการณ์ตลาดน้ำมะพร้าวจีน

ในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมานี้ มะพร้าวเริ่มเป็นที่นิยมอย่างมากในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มจีน เนื่องจากมะพร้าวเป็นผลไม้ที่สามารถหาซื้อได้ตลอดทั้งปี และไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของฤดูกาล จึงทำให้มะพร้าวได้รับความนิยมในการนำมาดัดแปลงในอาหารและเครื่องดื่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ด้วยคุณสมบัติและประโยชน์ของมะพร้าว ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีความเป็นธรรมชาติ และมีประโยชน์ต่อร่างกาย ประกอบกับมะพร้าวสามารถนำไปผสมเข้ากับวัตถุดิบต่างๆ ได้ง่ายจึงทำให้ปัจจุบันน้ำมะพร้าวถูกนำไปเป็นส่วนผสมของอาหารและเครื่องดื่มที่หลากหลาย อาทิ ชา กาแฟ และน้ำอัดลม เป็นต้น เมื่อพิจารณาจากการเติบโตของขนาดตลาดน้ำมะพร้าวที่มีการเติบโตในทิศทางที่ดี และอุปทานในตลาดจีนในปัจจุบันพบว่า จีนมีความต้องการบริโภคมะพร้าวต่อปีเป็นจำนวนมาก แต่มีปริมาณผลผลิตเพียงร้อยละ 10 จีนจึงต้องพึ่งพาการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในการบริโภค

 

สถานการณ์ตลาดน้ำมะพร้าวของจีน เครื่องดื่มน้ำมะพร้าวในตลาดจีนนั้นส่วนใหญ่เป็นแบรนด์จากต่างประเทศ แบรนด์จำนวนมากใช้รูปแบบ OEM ปัจจุบันตลาดเครื่องดื่มน้ำมะพร้าวของจีนมีแบรนด์หลักครองตลาด ได้แก่ แบรนด์ Vita Coco และแบรนด์ ZICO มะพร้าวมีข้อได้เปรียบด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารสะอาด การบริโภคแบบรักษ์โลกจึงกลายเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาเครื่องดื่มน้ำมะพร้าวในระยะยาว ปัจจุบัน การตระหนักถึงคุณค่าโภชนาการและแนวโน้มด้านสุขภาพของผู้บริโภค ได้ส่งผลต่อวงการอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเป็นอย่างมาก กลายเป็นจุดขับเคลื่อนนวัตกรรมของอุตสาหกรรม และยังนำโอกาสมาสู่การพัฒนาเครื่องดื่มน้ำมะพร้าว ในช่วง 2 – 3 ปี มานี้ ผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าวได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความต้องการของตลาดมีขนาดใหญ่ ทำให้ขนาดอุตสาหกรรมน้ำมะพร้าวของจีนขยายใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 ขนาดตลาดน้ำมะพร้าวของจีนมีมูลค่า 15,910 ล้านหยวน (ประมาณ 79,550 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.74 และในปี 2565 ขนาดตลาดมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 18,606 ล้านหยวน (ประมาณ 93,030 ล้านบาท) (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 5 บาท) นอกจากนี้ จากข้อมูลที่มีการเปิดเผยพบว่าตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมา การซื้อน้ำมะพร้าวบนช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ร้อยละ 300 (YoY) และมีร้านค้าออนไลน์ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับมะพร้าว เพิ่มขึ้นร้อยละ 368 และ ปีนี้มณฑลไห่หนานซึ่งเป็นแหล่งผลิตมะพร้าวขนาดใหญ่ของจีนจึงได้เพิ่มการนำเข้ามะพร้าว และมีบางบริษัทเริ่มไปตั้งโรงงานที่ต่างประเทศด้วย

 

แนวโน้มการขยายตลาดน้ำมะพร้าวในจีน

1) มะพร้าวได้กลายเป็นตัวชูโรงใหม่ของเครื่องดื่ม  ตั้งแต่ในปี 2564 เป็นต้นมา พบว่าผลิตภัณฑ์ประเภทมะพร้าวได้มีการประยุกต์อย่างแพร่หลายในเครื่องดื่มต่าง ๆ เช่น ส่วนผสมของกาแฟ ร้านกาแฟ แบรนด์ Luckin Coffee ที่ได้ออกเมนูลาเต้มะพร้าวซึ่ งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มียอดขายกว่า 10 ล้านแก้วต่อเดือน (แม้ว่าตลาดกาแฟในจีนแผ่นดินใหญ่จะยังไม่เป็นที่นิยมมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น) ชารูปแบบใหม่ มีแบรนด์แฟรนไชส์กว่า 20 ราย ที่ได้มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของมะพร้าว รวมกว่า 132 รายการ อาทิ แบรนด์ Heytea แบรนด์เครื่องดื่มชารูปแบบใหม่ ได้ออกเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของมะพร้าว ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีเป็นอย่างมาก สืบเนื่องจากมะพร้าวมีคุณสมบัติที่ดีต่อสุขภาพ ออแกนิกส์ สามารถนำไปผสมผสานสร้างสรรค์ในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มได้หลากหลาย ประกอบกับการขยายตัวของร้านเครื่องดื่มทำสดที่ขยายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงคาดว่าขนาดตลาดน้ำมะพร้าวจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตด้วยเช่นกัน

2) การพัฒนาของตลาดเครื่องดื่มมะพร้าวของจีน มิอาจมองข้าม ‘Her Economy’ กำลังซื้อของผู้หญิงยุคใหม่ที่จะกลายเป็นอีกตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรม ผู้หญิงจีนยุคใหม่มีการศึกษาที่สูงขึ้น รายได้ที่เพิ่มขึ้น การดูแลสุขภาพ และการลดน้ำหนักจึงเป็นหัวข้อที่สาวๆ ให้ความสนใจมากที่สุด ทั้งนี้ จากผลการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคมะพร้าว พบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภคเพศหญิง การศึกษาสูง และอายุน้อย ดังนั้น แบรนด์เครื่องดื่มมะพร้าวจึงต้องเริ่มจากกำหนดกลยุทธ์การทำการตลาด กำหนดผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายที่เน้นผู้บริโภคเพศหญิง ด้วยคุณสมบัติของมะพร้าวที่มีคุณค่าโภชนาการสูง ไขมันต่ำ น้ำตาลน้อย พลังงานต่ำ และไฟเบอร์สูง จึงไม่ยากที่จะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคสาวชาวจีน

3) ความต้องการเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพสูงขึ้น น้ำมะพร้าวเป็นที่นิยมและมีวางขายทั่วไปในจีน ทั้งร้านสะดวกซื้อ ซุเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหาร ฯลฯ เป็นเครื่องดื่มตอบโจทย์การบริโภคใบแบบชาวจีน ที่ทั้งมีรสชาติอร่อยแล้ว ยังมีคุณค่าโภชนาการที่หลากหลาย สามารถดับกระหาย คลายความร้อน ขับปัสสาวะ ขับลมล้างพิษ เป็นต้น น้ำมะพร้าวมีโปรตีน ไขมัน วิตามินซี แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก โพแทสเซียม แมกนีเซียม โซเดียม และแร่ธาตุอื่นๆ จึงเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่าโภชนาการที่หลากหลายที่สมบูรณ์ ซึ่งจากข้อได้เปรียบด้านดีต่อสุขภาพและเป็นธรรมชาติ จึงมีส่วนแบ่งตลาดในตลาดเครื่องดื่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าปัจจุบันการบริโภคเฉลี่ยต่อหัวของเครื่องดื่มมะพร้าวของชาวจีนยังต่ำ แต่ว่าตลาดยังคงมีโอกาสในการพัฒนาอีกมาก แบรนด์น้ำมะพร้าวสามารถจับกระแสความต้องการเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาลมาเป็นตัวเพิ่มยอดขายได้ โดยพัฒนาสร้างสรรค์รสชาติให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น

 

แนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ตลาดน้ำมะพร้าวจึงเป็นตลาดที่มีโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยเป็นอย่างมากที่จะเข้ามาขยายการส่งออกน้ำมะพร้าวในจีน นอกจากนี้ ยังพบว่าตลาดน้ำมะพร้าวในจีนส่วนใหญ่แบรนด์ต่างประเทศครองตลาดบน-กลาง ทำให้บริษัทผู้ผลิตของจีนยังไม่สามารถแข่งขันกับแบรนด์ต่างชาติได้ จึงเป็นข้อได้เปรียบของแบรนด์ไทย อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยก็ต้องมีการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ให้เป็นจุดเด่น มีเอกลักษณ์ ตามเทรนด์สุขภาพ ปราศจากน้ำตาล มีแพ็คเกจจิ้งที่ดึงดูดผู้บริโภคหนุ่มสาว และการกำหนดตำแหน่งกลุ่มผู้บริโภคให้ชัดเจน อาทิ 1) กลุ่มรักการออกกำลังกาย ที่นิยมดื่มน้ำมะพร้าวที่มีไขมันต่ำ มีส่วนประกอบของโซเดียมที่ช่วยในการเพิ่มเติมธาตุอิเล็กโตรไลท์จากการสูญเสียเหงื่อ และมีคาร์โบไฮเดรตที่ช่วยเพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกาย รวมทั้งช่วยคลายความอ่อนล้าจากการออกกำลังกายได้เป็นอย่างดี 2) กลุ่มรักสุขภาพ ที่นิยมซื้อสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ และไม่มีสารเจือปนอื่นๆ และ 3) กลุ่มคนหนุ่มสาว ที่นิยมซื้อเครื่องดื่มน้ำมะพร้าวที่จำหน่ายทางออนไลน์หรือร้านสะดวกซื้อ มีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย และพัฒนาให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น หาความร่วมมือกับคู่ค้าท้องถิ่น เปิดตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการลงทุนในการประชาสัมพันธ์ให้มาก ให้สามารถเข้ามามีส่วนแบ่งตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

****************

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

 

แหล่งที่มา

https://www.chinairn.com/hyzx/20231031/150500690.shtml

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login