หน้าแรกTrade insightกุ้งขาวแวนนาไม > อุตสาหกรรมผลิตกุ้งสหรัฐฯ ยื่นคำร้องให้ขยายเวลาเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดกุ้งนำเข้า

อุตสาหกรรมผลิตกุ้งสหรัฐฯ ยื่นคำร้องให้ขยายเวลาเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดกุ้งนำเข้า

อุตสาหกรรมผลิตกุ้งสหรัฐฯ ยื่นคำร้องให้ขยายเวลาเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดกุ้งนำเข้า

Southern Shrimp Alliance, Bowers Seafood (ธุรกิจผลิตกุ้งใน Texas), American Shrimp Producers Association และนักการเมือง 5 รายจากรัฐเลี้ยงกุ้งสำคัญของสหรัฐฯ คือ Louisiana, Mississippi และ Texas รวมตัวกันยื่นคำร้องต่อ U.S. International Trade Commission (USITC) ขอให้ขยายเวลาเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Antidumping Duties) สินค้ากุ้งน้ำอุ่นแช่เยือกแข็งนำเข้าจากประเทศจีน อินเดีย ไทย และเวียดนาม ที่เริ่มต้นเก็บภาษีมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2005 โดยกำหนดหมดอายุภายใน 5 ปี ทั้งนี้ ได้มีการพิจารณาต่ออายุการเก็บภาษีมาแล้ว 2 ครั้ง โดยก่อนหน้าจะถึงวันที่หมดอายุ USITC จะดำเนินกระบวนการ Sunset Review เพื่อประเมินความจำเป็นที่จะต้องต่ออายุการเก็บภาษี และวัดผลความสำเร็จของการเก็บภาษี  ซึ่งการทบทวนครั้งล่าสุดดำเนินการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2022 โดย USITC เปิดรับคำวิจารณ์จากทั้งผู้ผลิตในประเทศและผู้ผลิตในประเทศส่งออกและกำหนดจะประกาศผลการตัดสินใจว่าจะต่ออายุการเก็บภาษีตอบโต้ทุ่มตลาดสินค้ากุ้งนำเข้าหรือไม่ในวันที่ 1 มิถุนายน 2566ผู้ยื่นคำร้องให้ต่ออายุการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดได้ให้เหตุผลว่า อุตสาหกรรมผลิตกุ้งสหรัฐฯ ไม่เข้มแข็งพอที่จะแข่งขันกับกุ้งนำเข้าจากทั้ง 4 ประเทศที่ยังคงวางจำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่ากุ้งที่ผลิตได้ในสหรัฐฯ หาก USITC ยกเลิกการเก็บภาษี จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง กุ้งนำเข้าจะบีบให้กุ้งที่ผลิตในสหรัฐฯ ต้องลดราคาลงจนถึงระดับที่ไม่สามารถอยู่รอดได้และอุตสาหกรรมผลิตกุ้งสหรัฐฯอาจถึงกับล้มละลาย

ที่มา: Seafoodsource: “Louisiana lawmakers ask International Trade Commission to extend antidumping duties on shrimp imports”, by Nathan Strout, May 4, 2023

ข้อมูลเพิ่มเติมและความเห็นของ สคต.ลอสแอนเจลิส

1.       การทำงานของภาครัฐบาลสหรัฐฯ มีความเป็นไปได้สูงที่สหรัฐฯ จะต่ออายุการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้ากุ้ง

1.1      วันที่ 7 กันยายน 2022 กระทรวงพาณิชย์รายงานผล Sunset Review ครั้งล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2022 ดังนี้

(1)       Shrimp Trade Action Committee และ American Shrimp Processors Association ได้ร่วมออกความเห็นในระหว่างกระบวนการ Sunset Review แต่ไม่มีการตอบสนองใดๆ จากผู้ส่งออกของทั้ง 4 ประเทศ และผู้นำเข้าสหรัฐฯ

(2)       มีแนวโน้มว่าการยกเลิกการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดจะทำให้ระดับอัตรากำไรถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก (weighted average margin) ของไทยจะสูงสุดถึงร้อยละ 5.34 ของเวียดนามจะสูงสุดถึงร้อยละ 25.76 ของอินเดียจะสูงสุดถึงร้อยละ 110.90 และของจีนจะสูงสุดถึงร้อยละ 112.81

1.2      วันที่ 9 กันยายน 2022 USITC ประกาศตัดสินใจจะทบทวนคำสั่งกำหนดอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้ากุ้งนำเข้าจากทั้ง 4 ประเทศอีกครั้ง ภายหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ทำ Sunset Review ไปแล้ว  โดยจะดำเนินการไต่สวนเต็มตามกระบวนการของกฎหมาย Tariff Act of 1930 อีกครั้งว่า การยกเลิกอัตราภาษีดังกล่าวจะกลับไปสร้างความเสียหายให้แก่อุตสาหกรรมกุ้งสหรัฐฯอีกหรือไม่ USITC ระบุว่ามีผู้ผลิตทั้งในสหรัฐฯและในต่างประเทศเข้าร่วมในการออกความเห็นอย่างเต็มที่

2.       กุ้งเป็นอาหารทะเลที่ได้รับความนิยมบริโภคสูงสุดในสหรัฐฯ มีประมาณการณ์ว่าคนอเมริกันบริโภคกุ้ง 5.0 ปอนด์ต่อคนต่อปี ตลาดกุ้งแช่เยือกแข็งสหรัฐฯมีอัตราเติบโต compound annual growth rate (CAGR) ร้อยละ 9.8 และคาดว่าในปี 2031 จะมีมูลค่า 9.6 พันล้านเหรียญฯ เงื่อนไขสนับสนุนการเติบโตของตลาดคือความต้องการบริโภคอาหารอย่างรวดเร็วที่นำไปสู่การเติบโตของอาหารประเภท ready-to-eat และ ready-to-cook และการเติบโตของความเชื่อว่ากุ้งเป็นอาหารสุขภาพ ช่องทางจำหน่ายหลักของสินค้ากุ้งแช่เยือกแข็งในสหรัฐฯคือตลาดธุรกิจบริการอาหาร

3.       แหล่งผลิตกุ้งในสหรัฐฯ ประกอบด้วย

3.1  การประมงในอ่าวเม็กซิโกและมหาสมุทรแอตแลนติกภาคใต้ แหล่งผลิตสำคัญคือ Texas, Louisiana, Mississippi, Alabama, Florida, Georgia, South Carolina และ North Carolina

3.2  การทำฟาร์มเลี้ยงกุ้ง ทั้ง indoor farm และ outdoor farm เติบโตอย่างแพร่หลายและรวดเร็วในสหรัฐฯ ฟาร์มเลี้ยงกุ้งเกิดขึ้นในหลายมลรัฐ ทั้งรัฐชายฝั่งทะเลและรัฐที่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน ทั้งในรัฐที่มีอากาศหนาวจัดในฤดูหนาว และในรัฐที่มีอากาศร้อนจัดและแห้งแล้ง แหล่งฟาร์มเลี้ยงกุ้งสำคัญของสหรัฐฯ เรียงตามลำดับมูลค่าการผลิตในปี 2022 คือ Texas, Alabama ปัจจุบันฟาร์มเลี้ยงกุ้งเหล่านี้ผลิตสินค้าจำนวนน้อยที่เป็นสินค้าคุณภาพดี ราคาสูงป้อนตลาดที่เป็น niche market ในพื้นที่ผลิต มีความเป็นไปได้สูงที่การทำฟาร์มเลี้ยงกุ้งในสหรัฐฯ จะเติบโตเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ในอนาคต

4.       สหรัฐฯ ยังคงเป็นประเทศผู้นำเข้ากุ้งรายใหญ่ของโลก แม้ว่าความต้องการบริโภคในตลาดสหรัฐฯ ยังคงสูง แต่ปริมาณการนำเข้าในปี 2022 ลดลง มีสาเหตุมาจาก

(1)    ปัญหาในระบบ logistic และห่วงโซ่อุปทาน ที่ส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ค่า freight     ค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น การขาดแคลนแรงงานในประเทศ ทำให้เกิดการติดขัดของการทำงานขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือนำเข้าและการขับรถขนส่งกระจายสินค้าภายในประเทศ

(2)    ปัญหาการเติบโตของอัตราเงินเฟ้อ ทำให้สินค้ามีราคาเพิ่มสูงขึ้น ทั้งที่เป็นสินค้าสำหรับการปรุงแต่งอาหารรับประทานเองที่บ้านและสินค้าอาหารในสถานบริการอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารทะเลสด ผู้บริโภคเริ่มหันไปซื้อสินค้าอาหารที่เป็นทางเลือกอื่นที่มีราคาถูกว่า

สถิติปริมาณนำเข้ากุ้งแช่แข็งของสหรัฐฯ (HS 030617) ในระยะ 5 ปี (หน่วย: ล้านกิโลกรัม)

มูลค่านำเข้านำเข้ากุ้งแช่แข็งของสหรัฐฯ(HS 030617) (หน่วย: ล้านเหรียญฯ)

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login