หน้าแรกTrade insightธุรกิจบริการอื่นๆ > อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเปรูกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเปรูกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ

เปรูเป็นประเทศที่มีทรัพยากรรธรรมชาติที่สมบูรณ์และมีรายได้หลักจากการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมและแร่ธาตุ โดยสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น สินแร่ (ทองแดง ทองคำและเงิน) น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ สินค้าเกษตรกรรม (หน่อไม้ฝรั่ง อาโวคาโด กาแฟ มะม่วง กล้วย ฯลฯ)[1] อาหารสัตว์ และสิ่งทอ  อย่างไรก็ดี ที่ตั้งของประเทศเปรูอยู่ในแนวเคลื่อนตัวของเปลือกโลก และพื้นที่หลายแห่งตั้งอยู่ในเขตที่มีฝนตกชุก ทำให้เปรูต้องประสบกับภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง (น้ำท่วมและแผ่นดินไหว)[2] ส่งผลกระทบต่อผลผลิตของสินค้าส่งออกสำคัญดังกล่าว และต่อเศรษฐกิจของประเทศ

รัฐบาลเปรูจึงพยายามเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมด้านอื่นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยหนึ่งในอุตสาหกรรมที่รัฐบาลเปรูพยายามพัฒนาคือ “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” ซึ่งหลายหน่วยงานของเปรูพยายามทำงานร่วมกันในทุกมิติอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศเปรูเป็นที่รู้จักมากขึ้นในแง่ของสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ (เช่น มาชูปิชู) อาหารเปรู วัฒนธรรมของชนพื้นเมือง (อินคา) สินค้าและเครื่องแต่งกายท้องถิ่น นอกจากนี้ เปรูยังมีการเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมเอเปค (APEC) ในปี 2567 ซึ่งผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวของเปรู (Promotion of Export and Tourism หรือ PromPeru) ระบุว่าได้รับมอบหมายภารกิจเพื่อยกระดับให้เปรูเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการจัดงานสำคัญและการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ (destination for hosting mega events and business tourism)[3] อีกด้วย

นาย Juan Carlos Mathews รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และการท่องเที่ยวของเปรู ได้กล่าวต่อสื่อมวลชนว่าจำนวนนักท่องเที่ยวภายในประเทศในปีนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 27 ล้านคนเป็น 35 ล้านคน หรือมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 และจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านคน เป็น 2.2 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 10 [1]  ซึ่งปัจจัยหนึ่งของความสำเร็จในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเปรูมาจากการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพของหน่วยงานต่าง ๆ และคาดว่าจำนวนผู้เดินทางมาประชุมและท่องเที่ยวในช่วงการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปคในปี 2567 จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งขณะนี้รัฐบาลเปรูได้เร่งเตรียมความพร้อมของสนามบินและสถานที่จัดงานไว้แล้ว

ทั้งนี้ โฆษกรัฐบาลเปรูกล่าวว่าการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคของเปรูที่ผ่านมาเมื่อปี 2559 ทำให้มีเม็ดเงินหลั่งไหลเข้าประเทศมากกว่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นให้กับประชากรกว่า 33,000 คน เช่น ล่าม พนักงานต้อนรับ พนักงานขับรถ เป็นต้น และสำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในปีหน้า คาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนภายในเปรูเพิ่มขึ้นหลายเท่าเมื่อเปรียบเทียบกับการจัดงานฯ เมื่อสี่ปีที่ผ่านมา

บทวิเคราะห์ /ข้อคิดเห็นจาก สคต. ณ กรุงซันติอาโก

เปรู ถือเป็นประเทศที่มีการเตรียมความพร้อมในการยกระดับประเทศให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นได้เป็นอย่างดี  เนื่องจากรัฐบาลมีการวางแผนและบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ทำให้เปรูเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในแง่ของจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวไทยจำนวนมากรู้จักสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของเปรู (มาชู ปิชู) และเดินทางท่องเที่ยวไปยังเปรูมากขึ้น ชาวไทยสามารถเดินทางเข้าประเทศเปรูได้โดยได้รับการยกเว้นวีซ่าและสามารถอยู่ได้ไม่เกิน 90 วัน

นอกจากการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภายในประเทศ เปรูยังมีการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาเมืองท่าเพื่อยกระดับให้เป็นประเทศเป็นเมืองท่าที่สำคัญของภูมิภาคลาตินอเมริกา โดยจากการสืบค้นข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงซันติอาโก พบว่าล่าสุดเปรูมีการร่วมลงทุนกับจีนที่สัดส่วนร้อยละ 40/60 ในการสร้างท่าเรือ Chancay ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ห่างจากกรุงลิมาไปทางตอนเหนือประมาณ 80 กิโลเมตร และคาดว่าท่าเรือ Chancay จะเปิดดำเนินการได้ภายในไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 โดยท่าเรือแห่งนี้จะกลายเป็นท่าเรือสำคัญทางการค้าระหว่างภูมิภาคลาตินอเมริกาและภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากจะเป็นจุดศูนย์กลางระหว่างท่าเรือจากประเทศจีน (เซี่ยงไฮ้) กับประเทศเปรู ชิลี เอกวาดอร์ และโคลอมเบีย

ทั้งนี้ หากท่าเรือดังกล่าวสร้างเสร็จจะทำให้การขนส่งสินค้าจากทวีปเอเชีย (จากจีน เกาหลี ญี่ปุ่น) ที่เดิมทีใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 40 วัน จะลดลงเหลือเพียง 23 วัน เนื่องจากเป็นท่าเรือที่ขนส่งสินค้าโดยตรงไม่ต้องแวะพักผ่านท่าเรือแห่งอื่นอีกต่อไป[1]  ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยที่ขนส่งมายังภูมิภาคลาตินอเมริกาสามารถทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น ใช้เวลาในการขนส่งน้อยลง และค่าขนส่งน่าจะถูกลงกว่าเดิม เนื่องจากใช้เวลาในการเดินทางน้อยลงทำให้ประหยัดค่าน้ำมันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นข้อดีให้กับสินค้าไทยที่จะสามารถเข้ามาแข่งขันได้มากขึ้นในราคาที่ลดลง

———————————————————

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก

ตุลาคม 2566

[1] https://andina.pe/ingles/noticia-from-chancay-to-shanghai-a-new-silk-road-linking-asia-and-south-america-953384.aspx

[1] https://andina.pe/ingles/noticia-peru-inbound-tourism-sector-set-to-end-2023-with-10-increase-954467.aspx

[1] https://andina.pe/ingles/noticia-from-chancay-to-shanghai-a-new-silk-road-linking-asia-and-south-america-953384.aspx

[1] https://www.icontainers.com/us/2020/01/31/peru-main-exports-imports/

[2] https://www.oecd-ilibrary.org/sites/8c5e6fa9-en/index.html?itemId=/content/component/8c5e6fa9-en

[3] https://andina.pe/ingles/noticia-peru-ideal-destination-for-hosting-mega-events-and-business-tourism-954251.aspx

[4] https://andina.pe/ingles/noticia-peru-inbound-tourism-sector-set-to-end-2023-with-10-increase-954467.aspx

Login