หน้าแรกTrade insightข้าว > อุตสาหกรรมข้าวอิตาลีเผชิญแรงกดดันจากการนำเข้าข้าวนอกสหภาพยุโรปและผลผลิตต่ำกว่าคาด ส่งผลบวกต่อข้าวไทยและยังได้อานิสงส์จากซีรีส์ The White Lotus

อุตสาหกรรมข้าวอิตาลีเผชิญแรงกดดันจากการนำเข้าข้าวนอกสหภาพยุโรปและผลผลิตต่ำกว่าคาด ส่งผลบวกต่อข้าวไทยและยังได้อานิสงส์จากซีรีส์ The White Lotus

แม้อิตาลีจะยังคงเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ที่สุดของยุโรป คิดเป็น 50% ของผลผลิตทั้งหมด แต่ภาคอุตสาหกรรมข้าวกำลังเผชิญความท้าทายจากการนำเข้าข้าวบรรจุถุงจากนอกสหภาพยุโรปที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ผลผลิตข้าวในปี 2568 ขยายตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลให้ผลผลิตต่อเฮกตาร์ลดลง แม้พื้นที่เพาะปลูกจะเพิ่มขึ้นก็ตาม ท่ามกลางตลาดโลกที่เผชิญภาวะขาดดุลต่อเนื่องและความต้องการบริโภคข้าวที่สูงขึ้นในยุโรป อุตสาหกรรมข้าวอิตาลีจึงต้องเร่งรับมือกับทั้งแรงกดดันด้านการนำเข้า นโยบายการเกษตรของสหภาพยุโรปและการเปลี่ยนแปลงในข้อตกลงการค้าเสรี (FTA – Free Trade Agreement)
ตัวเลขล่าสุดจากรมการข้าวแห่งชาติของอิตาลี (Ente Nazionale Risi)
กรมการข้าวแห่งชาติของอิตาลี (Ente Nazionale Risi) ได้คาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวประจำปีนี้จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยคาดว่าปริมาณผลผลิตจะอยู่ที่ประมาณ 1.45 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5% จาก 1.38 ล้านตันในปี 2567 แม้ว่าพื้นที่เพาะปลูกจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.5% เป็น 226,000 เฮกตาร์ แต่ผลสำรวจจากเกษตรกรชี้ให้เห็นว่าผลผลิตต่อเฮกตาร์ลดลง 2.6% เนื่องจากฝนตกหนัก ทำให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่อยู่ที่ 6.41 ตัน ลดลงจาก 6.58 ตันในปี 2567 ในขณะเดียวกัน การลดลงของผลผลิตต่อไร่ จะส่งผลให้ปริมาณข้าวขัดสีเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 841,000 ตัน (+3%) และหากรวมสต็อกข้าวทั้งหมด ปริมาณข้าวที่พร้อมจำหน่ายจะอยู่ที่ 1 ล้านตัน ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา
อิตาลีเผชิญแรงกดดันจากการนำเข้า
อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมข้าวของอิตาลีต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการนำเข้าข้าวบรรจุถุงจากนอกสหภาพยุโรปที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นถึงสิบเท่า และในฤดูกาลล่าสุดยังเพิ่มขึ้นอีก 15% แตะระดับสูงสุดที่ 470,000 ตัน โดยในปัจจุบัน อัตราภาษีศุลกากรของสหภาพยุโรปสำหรับข้าวบรรจุถุงที่พร้อมจำหน่ายให้ผู้บริโภค ยังคงเท่ากับข้าวที่ยังไม่ได้บรรจุ ทำให้สมาคมเกษตรกรและสมาคมอุตสาหกรรมข้าว (AIRI – L’Associazione Italiana per la Ricerca Industriale) เรียกร้องให้รัฐบาลอิตาลีผลักดันการเจรจาในระดับ EU เพื่อปรับปรุงกฎระเบียบด้านภาษีโดยเร็ว เพื่อป้องกันการสูญเสียส่วนแบ่งตลาด โดยเฉพาะข้าวอิตาลี
จากข้อมูลที่นาย Roberto Magnaghi ผู้อำนวยการ Ente Nazionale Risi นำเสนอในงานประชุมกับเกษตรกรที่จัดโดย สมาพันธ์เกษตรกรของอิตาลี (Confederazione Italiana Agricoltori) ณ ศูนย์วิจัยในจังหวัดปาเวีย (Pavia) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตข้าวของอิตาลี พบว่า 33% ของข้าวอิตาลีถูกส่งออกไปยังตลาดในสหภาพยุโรป ขณะที่ 13% ถูกส่งออกไปยังตลาดนอกสหภาพยุโรป โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ซึ่งนำเข้าข้าวอิตาลีประมาณ 6% โดยสายพันธุ์ข้าวคุณภาพสูงสำหรับทำริซอตโตอย่าง Carnaroli, Arborio และ Vialone Nano ยังคงเป็นที่ต้องการสูง เนื่องจากลักษณะภูมิอากาศและภูมิประเทศของประเทศปลายทางไม่เหมาะที่จะปลูกหรือผลิตข้าวสายพันธุ์ดังกล่าว

ในด้านนโยบายการเกษตร อุตสาหกรรมข้าวของอิตาลีกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนแปลงของนโยบายเกษตรร่วมแห่งสหภาพยุโรป (PAC – Politica Agricola Comune) ซึ่งเผชิญทั้งข้อจำกัดด้านงบประมาณและความท้าทายในการดำเนินนโยบายให้เกิดผลจริง ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ภาคอุตสาหกรรมข้าวของอิตาลีกำลังเผชิญความท้าทายจากปริมาณการนำเข้าข้าวที่เพิ่มขึ้นจนคิดเป็น 50% ของสินค้าข้าวภายในประเทศ และผลกระทบจากข้อตกลงการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง Mercosur (อาร์เจนตินา, บราซิล, ปารากวัย และอุรุกวัย) รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์แก่ประเทศ LDCs (Least Developed Countries) ได้แก่ กัมพูชา และเมียนมา
สถานการณ์ดังกล่าวถือเป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับอุตสาหกรรมข้าวอิตาลี เนื่องจากความต้องการบริโภคข้าวในยุโรปยังคงเพิ่มขึ้น แต่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก ขณะเดียวกัน ตลาดข้าวโลกกำลังเผชิญภาวะขาดดุลต่อเนื่องเป็นปีที่สาม ทำให้ปริมาณข้าวในสต็อกลดลงอย่างเห็นได้ชัด ส่วนในอิตาลีและสหภาพยุโรป การผลิตข้าวยังคงไม่ทันความต้องการของผู้บริโภค ส่งผลให้ราคาข้าวคุณภาพสูง Made in Italy พุ่งขึ้นถึง 40%
แนวโน้มและโอกาสของข้าวและอาหารไทยในอิตาลี: “The White Lotus Effect”

จากข้อมูลของ Glovo Italia แพลตฟอร์มสั่งอาหารที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในอิตาลี แสดงให้เห็นว่าอิตาลีเป็นประเทศที่มีอัตราการสั่งอาหารไทยสูงเป็นอันดับสามของโลก รองจากสเปนและโปแลนด์ ความนิยมนี้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทรนด์นี้ยิ่งได้รับแรงหนุนและอานิสงส์จากซีรีส์ The White Lotus โดยเมื่อซีซันที่ 3 เปิดตัวในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 กระแสความสนใจในวัฒนธรรมอาหารไทยก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะอาหารและการเดินทางเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง ร้านอาหารหลายแห่งจึงเริ่มนำเสนอเมนูที่ได้รับแรงบันดาลใจจากรสชาติของดินแดนตะวันออกมากขึ้น
Glovo Italia ยังเผยว่า ผัดไทยครองตำแหน่งเมนูอาหารไทยที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในอิตาลี โดยมียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้น 32% ในปีที่ผ่านมา ตามมาด้วยสะเต๊ะและมัสมั่น และปิดท้ายด้วยส้มตำ ยิ่งไปกว่านั้น วันจันทร์กำลังกลายเป็นวันที่ได้รับความนิยมอย่างมากสำหรับผู้ที่ชื่นชอบอาหารไทย ข้อมูลจาก Glovo Italia ระบุว่ายอดสั่งอาหารไทยในวันจันทร์เพิ่มขึ้นถึง 36% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากเป็นวันที่ซีรีส์ The White Lotus ตอนใหม่ออกอากาศในอิตาลี คาดว่าแนวโน้มนี้มีการเติบโตต่อไป นอกจากนี้ พฤศจิกายนยังเป็นเดือนที่มีการสั่งอาหารไทยมากที่สุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้คนต้องการ “หนี” ความซึมเซาของฤดูหนาว ผ่านรสชาติของอาหารไทยที่กลมกล่อมและจัดจ้าน
“เรามองว่า Glovo เป็นเหมือนพาสปอร์ตที่พาผู้ใช้งานเดินทางผ่านรสชาติจากทั่วโลก เพียงแค่คลิกเดียวก็สามารถสัมผัสอาหารจากวัฒนธรรมที่หลากหลายได้โดยไม่ต้องลุกจากโซฟา การที่ยอดสั่งอาหารไทยในอิตาลีเพิ่มขึ้น 32% ในปี 2567 เป็นข้อพิสูจน์ว่าผู้คนโหยหาการสำรวจรสชาติใหม่ๆ และเรารู้สึกยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์นี้” นาย Rafael Narvaez ผู้อำนวยการฝ่ายพาณิชย์ของ Glovo Italia กล่าว
แนวโน้มดังกล่าวยังครอบคลุมไปถึงการส่งออกสินค้าข้าวในไทยเช่นเดียวกัน โดยข้าวถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยมายังตลาดอิตาลี ในปี 2567 การส่งออกข้าวของไทยมายังอิตาลีมีมูลค่า 35.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวถึง 50% โดยประเภทของข้าวที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดคือข้าวหอมมะลิ มูลค่าการส่งออก 22.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวถึง 132.33%

ความคิดเห็นของสคต. ณ เมืองมิลาน
1. นอกเหนือจากอุปสรรคการผลิตข้าวในประเทศของอิตาลี ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังคงยืดเยื้อและส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมเกษตรโดยรวมของอิตาลี ทำให้ต้นทุนพุ่งสูงขึ้นมากในช่วงสามปีที่ผ่านมา ทั้งค่าไฟฟ้า ปุ๋ย อาหารสัตว์ และสารเคมีทางการเกษตร ซึ่งรวมกันแล้วทำให้เกษตรกรมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถึง 21% อย่างไรก็ตาม แรงกดดันที่สาหัสที่สุดมาจากต้นทุนพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลสำหรับภาคเกษตรในปัจจุบันที่ยังคงแพงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ถึง 22%
2. แนวโน้มความนิยมของอาหารไทยที่เพิ่มขึ้นในอิตาลีอาจเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อการนำเข้าข้าวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมข้าวของอิตาลีกำลังเผชิญความท้าทายจากผลผลิตที่ต่ำกว่าคาดและแรงกดดันจากการนำเข้าข้าวจากนอกสหภาพยุโรป ความต้องการบริโภคข้าวในอิตาลีที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับกระแสอาหารไทยที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง อาจเปิดโอกาสให้ข้าวไทย เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้อง และข้าวเหนียว มีบทบาทมากขึ้นในตลาดอิตาลี นอกจากนี้ ด้วยข้อจำกัดด้านการผลิตของอิตาลีและราคาข้าวภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ผู้นำเข้ารายใหญ่และผู้ประกอบการอาจมองหาทางเลือกที่มีคุณภาพและคุ้มค่ามากขึ้นจากตลาดต่างประเทศ ซึ่งอาจเป็นโอกาสสำคัญสำหรับข้าวไทยในการขยายส่วนแบ่งตลาดในอิตาลีต่อไป
3. อย่างไรก็ตาม ในปี 2568 ข้าวไทยอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันอีกครั้ง เนื่องจากอินเดียยกเลิกมาตรการจำกัดการส่งออกข้าวขาวและเริ่มกลับมาส่งออกอีกครั้ง ตั้งแต่กันยายน 2567 ทำให้ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2568 (ม.ค.-ก.พ.) ไทยส่งออกข้าวมายังอิตาลี มูลค่า 5.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวลง 42.42% และคาดว่าตลอดทั้งปี 2568 ข้าวไทยอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคากับกัมพูชา และเมียนมา อีกครั้ง เนื่องจากยังคงได้สิทธิประโยชน์ภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ จากมาตรการสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP – Generalized System Preference) ที่ให้แก่ประเทศ LDCs ภายใต้โครงการ EBA (Everything But Arms) (การนำเข้าข้าวจากไทยมายังอิตาลีมีอัตราภาษีที่ 175 ยูโร/ตัน)
4. ข้อมูลจาก Global Trade Atlas ณ เดือนมกราคม 2568 พบว่า หากเรียงตามมูลค่าการนำเข้า อิตาลีนำเข้าข้าวจากปากีสถานมากที่สุด โดยนำเข้า 5,419 ตัน มูลค่า 5.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ขยายตัว 17.05%) อันดับ 2 กัมพูชา 3,993 ตัน มูลค่า 3.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ขยายตัว 404.59%) อันดับ 3 อินเดีย 2,452 ตัน มูลค่า 2.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ขยายตัว 176.12%) อันดับ 4 ไทย 952 ตัน มูลค่า 1.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หดตัว 27.17%) และอันดับ 5 เมียนมา 850 ตัน มูลค่า 0.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ขยายตัว 139.05%)
5. ผู้ประกอบการไทยที่สนใจขยายการส่งออกข้าวไทยมายังตลาดอิตาลี นอกเหนือจากคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า ผู้ประกอบการไทยควรคำนึงและให้ความสำคัญในด้านระเบียบการนำเข้าของสหภาพยุโรป รวมถึงการติดฉลากสินค้าเป็นภาษาอิตาเลียน และการให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการและสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้
.
ที่มา: 1. Photo by Max Griss on Unsplash
2. The White Lotus mania: l’Italia terzo Paese per ordini di cucina thailandese – Agen Food
3. Guerra Ucraina e agricoltura italiana: costi enormi in 3 anni – Omnitrattore
4. Riso, produzione in crescita ma i rischi vengono dalle importazioni
5. ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือกับกรมศุลกากร
6. Global Trade Atlas

อ่านข่าวฉบับเต็ม : อุตสาหกรรมข้าวอิตาลีเผชิญแรงกดดันจากการนำเข้าข้าวนอกสหภาพยุโรปและผลผลิตต่ำกว่าคาด ส่งผลบวกต่อข้าวไทยและยังได้อานิสงส์จากซีรีส์ The White Lotus

Login