หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > อียิปต์เผชิญภาวะเงินเฟ้อและขาดแคลนสกุลเงินต่างชาติ

อียิปต์เผชิญภาวะเงินเฟ้อและขาดแคลนสกุลเงินต่างชาติ

 

อียิปต์มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 10-12 ธันวาคม 2566 คาดว่าประธานาธิบดี อับเดล ฟัตตาห์  อัล-ซีซี จะดำรงตำแหน่งต่อไปเป็นสมัยที่ 3 และจะเริ่มจัดระเบียบการเงินของอียิปต์ให้กลับมาเป็นระเบียบอีกครั้ง จากภาวะเงินเฟ้อและการขาดแคลนสกุลเงินต่างชาติ

การกู้ยืมเงินมหาศาลในต่างประเทศเป็นเวลาหลายปีทำให้อียิปต์มีหนี้ต่างประเทศจำนวนมากและการขาดแคลนสกุลเงินที่มีความเสถียรสูง(Hard Currency)  ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สกุลเงินปอนด์อียิปต์ที่อ่อนค่าลงเหลือประมาณ 50 ปอนด์อียิปต์ต่อดอลลาร์ในตลาดคู่ขนาน เมื่อเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการที่ 30.85 ปอนด์อียิปต์ต่อดอลลาร์

ข้อมูลของธนาคารกลางระบุว่าการชำระหนี้ที่จะครบกำหนดในปี 2567 อยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อย่างน้อย 42.26 พันล้านดอลลาร์ซึ่งเป็นสัญญาณล่าสุดของแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ส่งผลให้ชาวอียิปต์ต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นและวิกฤตค่าเงินต่างประเทศที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

เพื่อหลีกเลี่ยงความไม่สงบในช่วงเวลาแห่งความตึงเครียดระหว่างการเลือกตั้ง คณะรัฐมนตรีจึงประกาศเมื่อเดือนตุลาคม 2566 ว่าได้ตกลงกับผู้ผลิตและผู้ค้าปลีกภาคเอกชนให้ลดราคาอาหารหลัก รวมถึงลดราคาน้ำตาลลง 15-25% หลังจากอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ แต่ความพยายามกลับประสบผลสำเร็จเพียงเล็กน้อย ภายในไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น ราคาขายปลีกน้ำตาลก็พุ่งขึ้นเป็น 55 ปอนด์อียิปต์ ($1.78) จากราคาประมาณ 35 ปอนด์อียิปต์

 

ข้อเสนอแนะ/ข้อคิดเห็น

คาดว่าปี 2567 จะเป็นปีวิกฤตทางการเงินของอียิปต์ เนื่องจากจะต้องชำระคืนหนี้ที่ครบกำหนดชำระสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 29 พันล้านดอลลาร์ และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ประมาณ 30% โดยไม่มีสัญญาณการลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อหลายล้านครัวเรือน สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้คือช่วงหลังการเลือกตั้งที่ประธานาธิบดีต้องจัดการวิกฤตเศรษฐกิจและผลกระทบจากสงครามในฉนวนกาซา โดยมีการคาดเดากันอย่างกว้างขวางว่าธนาคารกลางของอียิปต์จะลดค่าเงินหลังจากการเลือกตั้งให้ใกล้เคียงกับอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดคู่ขนาน อย่างไรก็ตามการลดค่าเงินใดๆ ก็อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสูงขึ้นได้

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงใหม่ จากการระงับการส่งออกก๊าซธรรมชาติของอิสราเอลชั่วคราว ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในเดือนตุลาคม 2566 ส่งผลให้อียิปต์ต้องขยายเวลาการลดการใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศเป็น 2 ชั่วโมงต่อวันจากเดิม 1 ชั่วโมง

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ชะลอการเบิกจ่ายโครงการมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์ของอียิปต์หลายครั้ง เนื่องจากความล่าช้าในการเปลี่ยนไปใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว อย่างไรก็ตามจากการสู้รบในฉนวนกาซา IMF ได้บอกเป็นนัยว่าจะยกระดับการสนับสนุนสำหรับประเทศที่ได้รับผลกระทบในภูมิภาคนี้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาโครงการชำระหนี้ที่สูงของอียิปต์ในปี 2567

จากสถานการณ์ดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไปยังอียิปต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากการขาดแคลนสกุลเงินต่างชาติและต้องได้รับการอนุมัติจากธนาคารกลางอียิปต์ ซึ่งทำให้การชำระเงินเกิดความล่าช้า ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยจึงควรรัดกุมในเรื่องของเทอมการชำระเงินก่อนส่งสินค้า เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาดังกล่าว

 

 

____________________________________

 

 

ที่มา https://www.reuters.com/world/africa/currency-inflation-woes-focus-egypts-sisi-set-third-term-2023-12-04/

 

อ่านข่าวฉบับเต็ม : อียิปต์เผชิญภาวะเงินเฟ้อและขาดแคลนสกุลเงินต่างชาติ

Login