หน้าแรกTrade insightเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า > อันดับขีดความสามารถในการแข่งขันสิงคโปร์ลดลง

อันดับขีดความสามารถในการแข่งขันสิงคโปร์ลดลง

ข้อมูลตลาดประเทศสิงคโปร์

จากการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ประจำปี 2566 ของ IMD World Competitiveness Center ระบุว่า สิงคโปร์อยู่อันดับที่ 4 ซึ่งลดลงจากปีที่แล้วหนึ่งอันดับ จากทั้งหมด 64 เขตเศรษฐกิจ รองจากเดนมาร์ก ไอร์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ อย่างไรก็ดี สิงคโปร์ยังคงเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย นำหน้าไต้หวัน และฮ่องกง การจัดอันดับดังกล่าวใช้เกณฑ์ 336 ข้อ เพื่อประเมินความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จากสมรรถนะทางเศรษฐกิจ รัฐบาล ภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน

สาเหตุที่ทำให้อันดับของสิงคโปร์ลดลงในปีนี้ ได้แก่ ปัจจัยภายในที่มีผลต่อประสิทธิภาพของภาครัฐบาล เช่น กฎหมายการแข่งขันทางการค้า และความสามารถในการปรับตัวของรัฐบาลในการออกนโยบาย อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ยังมีผลงานที่ดีในด้านอื่นๆ เช่น อันดับ 2 ด้านอัตราการจ้างงาน อันดับ 4 ด้านการลงทุนระหว่างประเทศ และอันดับ 6 ด้านการผลิตและประสิทธิภาพ

ศาสตราจารย์ Arturo Bris ผู้อำนวยการ IMD กล่าวว่า แม้สิงคโปร์สามารถรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี แต่การเปิดประเทศช้ากว่าประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปอาจส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง อย่างไรก็ตาม อันดับที่ลดลงไม่ได้มีนัยสำคัญ สิงคโปร์ยังคงรักษาความแข็งแกร่งในการแข่งขันทางเศรษฐกิจได้ และในปีนี้สิงคโปร์ได้รับผลประโยชน์จากการฟื้นตัวและความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจ

เขตเศรษฐกิจติดอันดับต้น ๆ ส่วนใหญ่เป็นเขตเศรษฐกิจขนาดเล็ก รวมถึงสิงคโปร์ ที่สามารถใช้ประโยชน์จากการเข้าถึงตลาดและคู่ค้าได้เป็นอย่างดี เช่น ไอร์แลนด์ ได้อันดับที่ 2 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางประสิทธิภาพของภาครัฐบาลและภาคธุรกิจ ถึงแม้ว่าสวิตเซอร์แลนด์จะตกลงมาอยู่ที่อันดับ 3 แต่ยังสามารถรักษาอันดับด้านประสิทธิภาพของภาครัฐบาลและโครงสร้างพื้นฐานได้

แม้ว่าขนาดของประเทศที่เล็กจะเป็นจุดแข็งของประเทศสิงคโปร์ แต่ก็เป็นจุดอ่อนเช่นกัน เนื่องจากประเทศขนาดเล็กมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาทาง
ภูมิรัฐศาสตร์มากกว่า สิงคโปร์มีความแข็งแกร่งในทางโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษาและสุขภาพ อีกทั้งรัฐบาลยังให้ความสำคัญกับความต้องการระยะยาวของประเทศมากกว่าระยะสั้น และมีการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งหมายความว่าประเทศมีความพร้อมอย่างมากที่จะรับมือกับความท้าทายในอนาคต และเป็นปัจจัยที่จะส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของสิงคโปร์อย่างมาก

นอกเหนือจากการลงทุนในด้านสุขภาพ การศึกษา และระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล สิงคโปร์ควรให้ความสำคัญเพิ่มเติมอีกสองด้าน ได้แก่ 1) การส่งเสริมผลิตผลในท้องถิ่นและการผลิตสำหรับตลาดภายในประเทศ เพื่อสร้างความยืดหยุ่นและการพึ่งพาตนเอง 2) การให้ความสำคัญกับการค้าและการร่วมมือในระดับภูมิภาค โดยสิงคโปร์ควรมุ่งเน้นไปที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงในการสร้างผลกำไร มีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ ดังนั้น สิงคโปร์ควรให้ความสำคัญกับตลาดที่ใกล้ตัวมากขึ้น

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ไทยอยู่ในอันดับที่ 30 เลื่อนขึ้น 3 อันดับจากปีก่อนหน้า โดยมีอันดับดีขึ้นในทุกปัจจัยโดยเฉพาะด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ที่มีอันดับดีขึ้นถึง 18 อันดับ IMD ระบุว่า ในปี 2566 ไทยจะเผชิญกับความท้าทาย อาทิ การเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพและการเติบโตที่ไม่สมดุล ความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการเลือกตั้งทั่วไป ความเสี่ยงจากประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ ความสามารถในการรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงทาง
ไซเบอร์ และการขาดแคลนแรงงานในภาคบริการที่ผ่านมา การที่โลกเข้าสู่ภาวะการกระจายตัวทางภูมิเศรษฐกิจ จากการที่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรต่างต้องการลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานของจีนมากเกินไป ซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนภูมิทัศน์ของห่วงโซ่อุปทานโลกทั้งมิติด้านการผลิต การค้า และการลงทุน ซึ่งจะเป็นโอกาสในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงไทย ที่จะได้ประโยชน์จากแนวโน้มการย้ายการลงทุนเข้ามาต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีความแข็งแกร่ง และขยายอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไปในอนาคต

  www.thansettakij.com/business/economy/569303

www.channelnewsasia.com/singapore/global-competitiveness-ranking-imd-slip-fourth-economy-resilience-fragmentation-3580041?cid=internal_sharetool_iphone_04072023_cna

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login