The Price Observatory of the FPS Economy ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นภายใต้ Institute for National Account (INA) ของเบลเยี่ยม ทำหน้าที่วิเคราะห์ราคาผู้บริโภค รวมถึงระดับราคา กลไกตลาด และส่วนต่างกำไร ได้รายงานว่าตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ของเบลเยี่ยมที่คำนวณแบบ Harmonised Index of Consumer Prices (HICP) อยู่ในระดับเฉลี่ยต่ำที่สุดตั้งแต่เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยของเบลเยี่ยมอยู่ที่ร้อยละ 2.6 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของเยอรมนี ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์อยู่ที่ร้อยละ 6.9, 6.1 และ 6.3 ตามลำดับ
หมวด | เบลเยี่ยม | เยอรมนี | ฝรั่งเศส | เนเธอร์แลนด์ |
พลังงาน | -32.0 | 6.1 | 2.0 | -19.1 |
อาหาร | 14.2 | 13.9 | 13.8 | 12.9 |
สินค้าและบริการ | 6.5 | 5.6 | 4.5 | 7.7 |
HICP | 2.6 | 6.9 | 6.1 | 6.3 |
ที่มา: EC, FOD Economie, Statbel
สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเบลเยี่ยมปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เริ่มตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 และปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี 2565 และเริ่มขยับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5.9 ในไตรมาสแรกของปี 2566 และลดลงต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2 โดยอัตราเงินเฟ้อเบลเยี่ยมลดลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่สถานการณ์ความขัดแย้งเริ่มต้นขึ้น อัตราเงินเฟ้อของประเทศเพื่อนบ้านอย่างเยอรมนี ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 ไปถึงระดับสูงสุดในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 และเริ่มค่อยๆปรับตัวลดลงในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 และลดลงต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2
ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาคือ ราคาพลังงานที่ลดลงอย่างรวดเร็ว แม้ว่าในแต่ละประเทศราคาพลังงานจะปรับตัวลดลงในอัตราที่ไม่เท่ากัน ระดับราคาพลังงานในเบลเยี่ยมลดลงอย่างรวดเร็วและมากกว่าประเทศอื่นๆ หลังจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งโดยเฉลี่ยในปี 2565 ที่ร้อยละ 57.9 ซึ่งเป็นผลมาจากอุปทานที่ลดลงเนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย และการที่ประเทศสมาชิสหภาพยุโรปยังซื้อก๊าซธรรมชาติในเวลาเดียวกันเพื่อเติมสต๊อก ซึ่งส่งผลให้ความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมากก่อนเริ่มฤดูหนาว แต่ราคาพลังงานก็เริ่มปรับตัวลดลงเริ่มตั้งแต่ต้นปี 2566 โดยลดลงร้อยละ 32 เมื่อเปรียบเทียบเป็นรายปีในไตรมาสที่ 2 ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของราคาก๊าซและไฟฟ้า และราคาเชื้อเพลิงเหลวและเชื้อเพลิงยานยนต์ ความต้องการที่ลดลงเนื่องจากสภาพอากาศไม่ได้หนาวรุนแรงอย่างที่คาดการณ์และความพยายามในการประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 การเติบโตของราคาสินค้าอาหารชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 14.2 เนื่องจากราคาสินค้าอาหารในตลาดอาหารต่างประเทศและราคาอาหารในระดับอุตสาหกรรมอาหารลดลง และการเติบโตของราคาสินค้าอุตสาหกรรมก็ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 6.5 เนื่องจากปัญหาเรื่องอุปทานลดน้อยลงและราคาวัตถุดิบลดลง ในขณะที่ราคาสินค้าบริการยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 6.5 โดยมีสาเหตุมาจากต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น
บทวิเคราะห์และความเห็น สคต.
อัตราเงินเฟ้อของเบลเยี่ยมปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนในปี 2564 ส่งผลให้ประชาชนต้องประสบกับวิกฤตเงินเฟ้อและปัญหาค่าครองชีพตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ด้วยราคาพลังงานที่ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ประกอบกับการที่รัฐบาลเบลเยี่ยมมีแผนและนโยบายเพื่อต่อสู้กับราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น และมีมาตรการสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือประชาชนด้วยการปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าพลังงาน (ไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานให้ความร้อน) จากเดิมร้อยละ 21 เหลือร้อยละ 6 ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศใช้มาตรการดังกล่าวเป็นการชั่วคราวตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2566 และเมื่อมาตรการชั่วคราวได้สิ้นสุดลงก็ประกาศให้มีระยะปรับเปลี่ยน (Transition Period) จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2566 และนับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 รัฐบาลได้ประกาศให้มาตรการการลดภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าพลังงานเป็นมาตรการถาวรเพื่อสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อ
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของเบลเยี่ยมจะลดลงมาอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ยังคงสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย และอัตราเงินเฟ้อของสหภาพยุโรปก็ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเป็นครั้งที่ 9 ในรอบปี เพื่อชะลอภาวะเงินเฟ้อในสหภาพยุโรป โดยล่าสุดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 ซึ่งเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยจากอัตราดอกเบี้ยติดลบในฤดูร้อนปีที่แล้วมาสู่อัตราดอกเบี้ยระดับที่สูงที่สุดในรอบ 23 ปี โดยอัตราดอกเบี้ยสำหรับการรีไฟแนนซ์ปรับขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 4.2 ดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมเงินปรับขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 4.5 และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากปรับขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 3.75 ทั้งนี้ ECB คาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงมาสู่ระดับที่ร้อยละ 2 ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ก็คงต้องติดตามว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะช่วยชะลอภาวะเงินเฟ้อได้จริงหรือไม่ และเศรษฐกิจจะยังคงเติบโตได้อยู่หรือไม่ หรือจะเป็นความเสี่ยงที่จะส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหรือเศรษฐกิจถดถอย
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)