หน้าแรกTrade insightยานยนต์เเละส่วนประกอบ > อัตราเงินเฟ้อเนเธอร์แลนด์เดือนสิงหาคมปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 3%

อัตราเงินเฟ้อเนเธอร์แลนด์เดือนสิงหาคมปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 3%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเนเธอร์แลนด์ (Centraal Bureau voor de Statistiek : CBS) รายงานว่าดัชนีราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการเนเธอร์แลนด์เดือนสิงหาคมอยู่ที่ร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมปีก่อนหน้า โดยในเดือนกรกฎาคมอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 4.6 แต่เมื่อเปรียบเทียบเดือนสิงหาคมกับเดือนกรกฎาคม ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.4 ซึ่งเป็นผลมาจากราคาพลังงานที่ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาพลังงาน (ค่าก๊าซ ค่าไฟฟ้า และค่าทำความร้อน) และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ เดือนสิงหาคมอยู่ที่ร้อยละ 6.4 ลดลงจากร้อยละ 6.8 ในเดือนกรกฎาคม

เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขอัตราเงินเฟ้อรายเดือนภายในระยะเวลา 12  เดือนที่ผ่านมา พบว่าตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับที่สูงที่สุดอยู่ในเดือนตุลาคมปี 2565 แต่การเปรียบเทียบตัวเลขอัตราเงินเฟ้อกับเดือนก่อนหน้าจะต้องคำนึงถึงปัจจัยเรื่องฤดูกาลซึ่งจะมีอิทธิพลและส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ เช่น ช่วงเทศกาลวันหยุด ตั๋วเครื่องบินก็จะมีราคาสูงกว่าในช่วงเวลาปกติ แต่ราคาจะปรับสูงขึ้นเป็นการชั่วคราวเท่านั้นไม่ใช่การปรับเพิ่มราคาเชิงโครงสร้าง ซึ่งการเปรียบเทียบอัตราเงินเฟ้อแบบรายเดือนจะเห็นความผันผวนของราคามากกว่าการเปรียบเทียบแบบรายปี

ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลง ได้แก่ ราคาพลังงาน (ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซ และค่าทำความร้อน) ราคาพลังงานเดือนสิงหาคม 2566 อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเดือนสิงหาคมปีที่แล้วถึงร้อยละ 46.7 ในขณะที่ราคาพลังงานเดือนกรกฎาคม 2566 อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วแค่ร้อยละ 34.5 ราคาพลังงาน (ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซ และค่าทำความร้อน) เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อมาอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นได้ชัดเจนว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ราคาพลังงานปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงเวลาดังกล่าวปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก แต่ปัจจุบันราคาพลังงานอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงครึ่งปีหลังของปีที่แล้ว จึงทำให้อัตราเงินเฟ้อเริ่มปรับตัวลดลง ประกอบกับเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 CBS ได้มีการปรับวิธีการวัดและคำนวณราคาพลังงานใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงวิธีการนี้ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อด้วยเช่นกัน

ราคาสินค้าอาหารเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ ราคาสินค้าอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 ในเดือนกรกฎาคมเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ในเดือนสิงหาคมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเฉพาะราคาเนื้อสัตว์ ขนมปัง และธัญพืชที่มีราคาถูกลง นอกจากนี้ ราคาตั๋วเครื่องบินยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบให้อัตราเงินเฟ้อลดลงเนื่องจากเป็นช่วงสิ้นสุดฤดูกาลท่องเที่ยวพักผ่อน แต่ราคาเชื้อเพลิงยานยนต์ในเดือนสิงหาคม 2566 อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเดือนสิงหาคมปีที่แล้วเพียงแค่ร้อยละ 0.6 จึงเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบขาขึ้นต่ออัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ยังมีราคาสินค้าเสื้อผ้าและรองเท้าที่ปรับตัวสูงขึ้นและเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบขาขึ้นต่ออัตราเงินเฟ้อ

CBS ได้เผยแพร่ดัชนีราคาผู้บริโภคที่ใช้วิธีการคำนวณแบบ European Harmonised Method หรือ European HICP (Harmonised Indices of Consumer Prices) HICP เพื่อที่จะสามารถเปรียบเทียบข้อมูลของทุกประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้ รวมถึงให้ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) สามารถนำดัชนีราคาผู้บริโภคที่ใ่ช้วิธีการคํานวณแบบ HICP ไปใช้เพื่อกำหนดนโยบายทางการเงินของสหภาพยุโรปได้ โดยข้อแตกต่างระหว่าง Dutch CPI และ HICP คือ ราคาที่อยู่อาศัย โดย Dutch CPI จะรวมราคาในการซื้อหรือเช่าที่อยู่อาศัยในการคํานวณด้วย โดยดัชนี European HICP ของเนเธอร์แลนด์เดือนสิงหาคมอยู่ที่ร้อยละ 3.4 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมปีก่อนหน้า และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคมที่ดัชนี HICP อยู่ที่ร้อยละ 5.3 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนอยู่ที่ร้อยละ 5.3 ในเดือนสิงหาคม

บทวิเคราะห์และความเห็น สคต.

แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อเนเธอร์แลนด์ในเดือนสิงหาคมจะปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับเป้าหมายที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ตั้งเป้าไว้ และอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนก็ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับเป้าหมายที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตั้งเป้าไว้เช่นกัน และแม้ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งก่อน แต่ล่าสุดECB ก็มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งสู่ระดับอัตราดอกเบี้ยที่สูงที่สุดในรอบ 24 ปี และนับเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 10 ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4 อัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.5 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.75 ทั้งนี้ Christine Lagarde ประธาน ECB พูดเป็นนัยว่าอัตราดอกเบี้ยอาจขึ้นถึงจุดสูงสุดแล้ว แต่ก็แนะนำว่าต้นทุนการกู้ยืมเงินจะยังคงอยู่ในระดับสูงตราบเท่าที่มีความจำเป็น เพื่อดึงอัตราเงินเฟ้อให้ลดลงมาสู่ระดับเป้าหมายที่ร้อยละ 2 อย่างไรก็ดี คาดว่าอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนในปีนี้อาจจะยังคงอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 5 และจะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.2 ในปี 2567 ซึ่งยังคงสูงกว่าระดับเป้าหมาย แต่ก็คาดว่าจะลดลงมาสู่ระดับใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ร้อยละ 2.1 ในปี 2568

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login