หน้าแรกTrade insightยางพารา > ส่องตลาดอุตสาหกรรมน้ำยางพาราของจีน

ส่องตลาดอุตสาหกรรมน้ำยางพาราของจีน

จีนเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้ายางพาราคิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 80 โดยอุตสาหกรรมน้ำยางของจีนประกอบด้วยผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ ถุงยางอนามัย ถุงมือการแพทย์ ถุงมือตรวจสอบ ถุงมือที่ใช้ในครัวเรือน ถุงมืออุตสาหกรรม หมอนยางพาราและที่นอนยางพารา เป็นต้น โดยหลายปีที่ผ่านมานี้ มีการประยุกต์ใช้น้ำยางในการผลิตที่กว้างขวางมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจทั่วโลกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์น้ำยางทั่วโลกขยายตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

อุตสาหกรรมน้ำยางจีนผ่านการพัฒนามานานกว่า 50 ปี ทั้งด้านผลผลิต คุณภาพ และปริมาณ ล้วนได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี ค.ศ. 2019 มูลค่าการผลิตของอุตสาหกรรมน้ำยางจีนเท่ากับ 3,495 ล้านหยวน หรือประมาณ 17,475 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี ค.ศ. 2018 คิดเป็นมูลค่า 406 ล้านหยวน หรือประมาณ 2,030 ล้านบาท และในปี ค.ศ. 2020 เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ทำให้ความต้องการถุงมือทางการแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความต้องการน้ำยางขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้บริโภคชาวจีนหันมาให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่มีวัตถุดิบจากธรรมชาติได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งในที่นี้ ที่นอนยางพาราธรรมชาติก็เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคจำนวนมาก และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี ค.ศ. 2020 ตลาดอุตสาหกรรมที่นอนยางพาราธรรมชาติของจีนมีมูลค่า 10,190 ล้านหยวน หรือประมาณ 50,950 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2 (YoY) และคาดว่าในปี ค.ศ. 2025 คาดการณ์ว่าตลาดจะมีมูลค่า 14,240 ล้านหยวน หรือประมาณ 71,200 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 (YoY)

เมื่อพิจารณาประเภทของผลิตภัณฑ์ที่พัฒนามาจากน้ำยางพาราของจีน พบว่าประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ ดังนี้

1) ถุงยางอนามัย ถือเป็นผลิตภัณฑ์หลักของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์น้ำยางพาราของจีน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความตระหนักเรื่องสุขภาพทางเพศของชาวจีนที่สูงขึ้นทำให้ความต้องการถุงยางอนามัยในจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี ค.ศ. 2021 ตลาดถุงยางอนามัยของจีนมีมูลค่าถึง 10,932 ล้านหยวน หรือประมาณ 54,660 ล้านบาท

2) ที่นอนยางพารา เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาและมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนมีความต้องการคุณภาพการนอนที่ดีมากขึ้น เนื่องจากภาระหน้าที่การงานที่เคร่งเครียดและวิถีชีวิตที่มีความวุ่นวาย ทำให้ต้องการที่นอนยางพาราที่มีคุณสมบัติที่มีความยืดหยุ่น ระบายอากาศดี ป้องกันแบคทีเรียและไรฝุ่น ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค ส่งผลให้ตลาดที่นอนยางพาราในจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี ค.ศ. 2021 ตลาดที่นอนยางพาราของจีนมีมูลค่า 7,916 ล้านหยวน หรือประมาณ 39,580 ล้านบาท

3) ถุงมือยาง เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ซึ่งพบว่ามีอุปสงค์ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงเวลาดังกล่าว โดยล่าสุดในปี ค.ศ. 2021 พบว่าตลาดถุงมือยางของจีนมีมูลค่า 2,591 ล้านหยวน หรือประมาณ 12,955 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.15 (YoY)

ปัจจุบัน จีนพึ่งพาการนำเข้าน้ำยางธรรมชาติค่อนข้างสูง โดยไทยและเวียดนามเป็นประเทศที่จีนนำเข้าน้ำยางพาราธรรมชาติมากเป็นอันดับต้นๆ โดยเมื่อพิจารณาห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมน้ำยางพาราของจีน พบว่า อุตสาหกรรมต้นน้ำของผลิตภัณฑ์น้ำยางคือ พ่อค้าวัตถุดิบ ได้แก่ วัตถุดิบน้ำยางธรรมชาติ น้ำยางสังเคราะห์ เป็นต้น อุตสาหกรรมกลางน้ำคือ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ อาทิ ที่นอนยางพารา หมอนยางพารา ถุงมือยาง เป็นต้น และอุตสาหกรรมปลายน้ำคือ ผู้บริโภค เช่น โรงพยาบาล ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และครัวเรือน เป็นต้น

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

จีนเป็นประเทศบริโภคยางพาราขนาดใหญ่แต่มีอุปทานไม่เพียงพอจึงต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลักถึงร้อยละ 80 โดยปัจจุบันพบว่าจีนมีความต้องการวัตถุดิบน้ำยางพาราเพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะถุงยางอนามัย ที่นอนยางพารา และถุงมือยาง ซึ่งความต้องการดังกล่าว ทำให้น้ำยางพาราของไทยซึ่งถือเป็นน้ำยางพาราธรรมชาติที่มีคุณภาพสูงและได้รับการยอมรับของผู้นำเข้าทั่วโลกพลอยได้รับอานิสงส์ในการส่งออกมายังจีนได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมาพบว่า จีนนำเข้าน้ำยางพาราธรรมชาติจากไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.29 (YoY) หรือคิดเป็นมูลค่า 567.69 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 19,301.46 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 34 บาท) นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสที่ดีต่อผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากน้ำยางพาราของไทย เช่น เครื่องนอนยางพารา ที่นอนยางพารา หมอนยางพารา ถุงยางอนามัย และถุงมือยาง ที่มีแนวโน้มที่ดีที่จะเข้ามาขยายตลาดส่งออกในจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ประกอบการไทยสามารถพิจารณาการขยายช่องทางการค้าให้มีความหลากหลายทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ออนไลน์ที่ต้องมีคอนเทนต์ที่จดจำง่าย ดึงดูดผู้บริโภค มีบรรจุภัณฑ์ที่ร่วมสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจน มีคุณสมบัติที่หลากหลายและที่สำคัญคือต้องมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมทั้งต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความคุ้มค่าและมีราคาที่เหมาะสม เพื่อให้ผลิตภัณฑ์จากยางพาราของไทยสามารถครองใจผู้บริโภคชาวจีนและเป็นผู้นำในตลาดจีนได้อย่างยั่งยืน

 https://www.chinairn.com/hyzx/20230530/172914783.shtml

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login