ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีจำนวนประชากรรวมสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก กลายเป็นตัวเลือกอันดับแรกในฐานะจุดหมายการลงทุนของต่างชาติ ซึ่งแต่ละประเทศในภูมิภาคนี้ต่างก็มีจุดเด่นในแต่ละอุตสาหกรรมที่ไม่เหมือนกัน โดยประเทศไทย ที่ถือเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ที่สำคัญในภูมิภาค มีแนวโน้มที่จะกลายมาเป็นฮับแห่งใหม่ของอาเซียนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า
ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไต้หวันที่สำคัญที่มีการผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ทั้ง Foxconn, Chicony, Inventec และ Delta Electronics เป็นต้น ต่างก็ใช้ไทยเป็นฐานการลงทุน นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประกอบการไต้หวันที่เป็นผู้ผลิตแผงวงจรพิมพ์รายสำคัญ เช่น TAIFLEX, ITEQ, Unimicron และ COMPEQ เป็นต้น ต่างก็ประกาศจะเข้าลงทุนตั้งโรงงานในประเทศไทย โดยมูลค่าการลงทุนจากไต้หวันในไทยในปี 2565 มีมูลค่าสูงถึง 1,320 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 152.3 สาเหตุหนึ่งที่ไต้หวันเลือกลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น มาจากการมองเห็นโอกาสในอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดย จำนวนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่จำหน่ายในภูมิภาคอาเซียนทั้งหมดจนถึงไตรมาสแรกของปี 2566 กว่าร้อยละ 80 เป็นการจำหน่ายในประเทศไทย โดยมีแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าหลายค่ายเข้ามาเปิดตัวในไทย เช่น BYD ได้ร่วมกับ Partner ในประเทศไทยคือ RÊVER ประกาศเปิดตัวแบรนด์ในประเทศไทย ในขณะที่ Tesla ค่ายรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของโลก ก็เปิดตัวเข้าสู่ตลาดไทยเต็มตัวในช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ด้วย Model 3 และ Model Y อีกทั้งยังมีอีกหลายแบรนด์ เช่น HOZON, SAIC, Mitsubishi และ Horizon Plus ที่เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่ม Foxconn ของไต้หวันกับบริษัท ปตท. ของไทย ต่างก็ประกาศจะตั้งโรงงานประกอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในเขตเศรษฐกิจ EEC ซึ่งนายเฉินฮั่นชวน นายกสมาคมนักธุรกิจไต้หวันในประเทศไทยชี้ว่า จนถึงปัจจุบัน มูลค่าการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในเขต EEC มีมูลค่ารวมมากกว่า 600,000 ล้านบาทแล้ว และยังมีโอกาสขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะบริษัทจีนจำนวนมากต่างก็เดินหน้าเข้าลงทุนในไทยมากขึ้น เช่น ในทันทีที่ HOZON ประกาศลงทุนตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ก็มี Supplier จีนที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทตามมาลงทุนตั้งโรงงานในละแวกใกล้เคียงเป็นจำนวนไม่น้อย การเข้าลงทุนในไทยส่งผลให้รถยนต์แบรนด์จีนสามารถครองส่วนแบ่งตลาดในประเทศไทยได้อย่างรวดเร็ว โดยจากยอดขายรถยนต์ไฟฟ้ารวมในประเทศไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 รุ่นที่ขายดี 3 อันดับแรกต่างก็เป็นรถของแบรนด์จีนถึง 2 แบรนด์ คือ BYD Atto 3 และ Neta V โดยที่ Tesla Model Y อยู่ในอันดับ 3
ทั้งนี้ นางอู๋เพ่ยหลิง ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรม (Industrial Technology Research Institute) ชี้ว่า ผู้ประกอบการไต้หวันสามารถอาศัยโอกาสที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยและอาเซียนกำลังเริ่มคึกคัก เข้าลงทุนในประเทศไทย โดยใช้ความเชี่ยวชาญในด้าน System Integration แบตเตอรี่ ระบบไฟฟ้า รวมถึงการบริการซ่อมบำรุงหลังการขาย เป็นแนวทางสำคัญในการเข้าสู่ตลาดได้
ที่มา : Economic Daily News / Business Today (August 31, 2023)
ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.
ไทยมีความได้เปรียบในการเป็นฮับด้านการผลิตยานยนต์ในภูมิภาคอาเซียนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ – จีน ส่งผลให้ไทยกลายเป็นจุดหมายที่ผู้ประกอบการทั้งจากจีนและไต้หวันต่างเข้าลงทุนมากขึ้น โดยต่างมีเทคโนโลยีเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องที่จะส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในไทย ผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยจึงจำเป็นต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อคงรักษาพื้นที่ของตนในห่วงโซ่อุปทานและได้ประโยชน์จากการเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าต่อไป
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)