หน้าแรกTrade insightอาหารอื่นๆ > สินค้าอาหารสุนัขในสิงคโปร์

สินค้าอาหารสุนัขในสิงคโปร์

  1. ภาพรวมตลาดสินค้าอาหารสุนัขในปี 2566

ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่า มูลค่ายอดขายอาหารสุนัขในสิงคโปร์ในปี 2566 อยู่ที่ 107.2 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มสูงขึ้น 6.4% (YoY) โดยประกอบไปด้วยอาหารสุนัขแห้ง 58.5 ล้านเหรียญสิงคโปร์เพิ่มสูงขึ้น 5.5% (YoY)  อาหารสุนัขแห้งพรีเมี่ยมอยู่ที่ 57.2 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มสูงขึ้น 5.6% (YoY) อาหารสุนัขแบบเปียกอยู่ที่ 30.5 เหรียญสิงคโปร์ เพิ่มสูงที่สุดในกลุ่มอาหารสุนัขที่ 8.3% (YoY)

  • เทรนด์การดูแลสัตว์เลี้ยงเหมือนมนุษย์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคซื้ออาหารสุนัขมองหานวัตกรรมใหม่ในอาหารสุนัข

     ตั้งแต่ในปี 2565 เจ้าของสัตว์เลี้ยงได้ปฏิบัติต่อสัตว์เลี้ยงเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว โดย
เทรนด์ดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากเจ้าของสัตว์เลี้ยงได้ใช้เวลาเพิ่มขึ้นกับสุนัขจากการทำงานที่บ้าน ซึ่งก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าชองกับสัตว์เลี้ยงเพิ่มมากขึ้น   นอกจากนี้ เจ้าของสัตว์เลี้ยงเต็มใจที่จะจ่ายกับอาหารสุนัขมากขึ้น เนื่องจากการมองสุนัขเป็นสมาชิกในครอบครัว จึงมองอาหารสัตว์เลี้ยงในลักษณะเดียวกับอาหารของตัวเอง ส่งผลให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงมีความอยากให้อาหารที่มีความอร่อย สารอาหารครบถ้วน มีความหลากหลายเป็นรางวัลเหมือนสมาชิกครอบครัวในบ้านคนอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ในอาหารสุนัข ผู้ค้าปลีกต่างหาวิธีการนำเสนอสินค้าในด้านรสชาติ หรือรูปแบบใหม่ๆ ให้กับสัตว์เลี้ยง โดยการจำหน่ายของว่างสำหรับสุนัขแบบใหม่ หรือ Mixers (ส่วนผสมเพิ่มเติมในอาหารคล้ายท้อปปิ้ง) จะเห็นได้จาก The Dog Treat Bar โดย Alison’s Pantry ที่ซูเปอร์มาร์เก็ต CS Fresh by Cold Storage โดยจะมีส่วนผสมของว่างที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ถั่วและธัญพืชต่างๆ ผลไม้แห้งสำหรับสุนัข

  • การให้ความสำคัญกับสุขภาพของสัตว์เลี้ยง

 ในปี 2566 เทรนด์การสร้างสินค้าแบบพรีเมี่ยมยังคงแข็งแกร่งในตลาด โดยมีปัจจัยหนุนจากแบรนด์ชั้นนำต่างๆในกลุ่มอาหารสัตว์แบบฟรีซดรายและอาหารดิบ
แช่แข็ง เช่น แบรนด์ Stella&Chewy’s ,K9  Natural และ Underdog การเติบโตในสินค้ากลุ่มนี้มาจากเทรนด์การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว และ
เทรนด์การดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ในสิงคโปร์ เจ้าของสัตว์เลี้ยงในสิงคโปร์มีความกังวลในสุขภาพสัตว์เลี้ยงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการให้ความสำคัญกับอาหารของสัตว์เลี้ยงเพิ่มมากขึ้น เพราะการรับประทานอาหารที่ไม่ดีอาจทำให้สุนัขเกิดโรคอ้วน ข้อต่อ ระบบทางเดินอาหารและปัญหาสุขภาพอื่นๆ ดังนั้นเจ้าของสัตว์เลี้ยงต่างยินดีที่จะจ่ายให้กับผลิตภัณฑ์เหล่านี้ โดยเลือกแบรนด์พรีเมี่ยม ที่ใช้อาหารคุณภาพเดียวกับที่คนรับประทาน คล้ายกับการดูแลตัวเอง ถึงแม้ว่าอาหารดิบแช่แข็งจะมีราคาสูงเกินไป นอกจากนี้ ผู้ซื้อมีความต้องการซื้ออาหารสุนัขที่เจาะจงในช่วงชีวิตเพิ่มมากขึ้น เช่น ในกลุ่มลูกสุนัข เพราะลูกสุนัขมีความต้องการโปรตีนมากกว่า และความเข้มข้นของกรดอะมิโนที่สูงกว่า ไขมัน แร่ธาตุอื่นๆ เพื่อการเจริญเติบ จะเห็นได้จากแบรนด์ Nestle Pro Plan เปิดตัวผลิตภัณฑ์อาหารสุนัขที่เจาะจงในช่วงชีวิต Pro Plan สำหรับลูกสุนัขที่มีส่วนผสมของ DHA เพื่อสุขภาพสมอง และการมองเห็นที่ดี มีสารต้านอนุมูลอิสระเพื่อเพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน และส่วนผสมโปรไบโอติกที่มีชีวิต และยังมี Pro Plan สูตรสำหรับสุนัขอายุ 7 ปีขึ้นไป ด้วยส่วนผสมของกลูโคซามีน และ EPA เพื่อสุขภาพข้อต่อและการเคลื่อนไหว ในทางตรงกันข้าม ขนมสุนัขถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และเจ้าของจำนวนมากขึ้นลดการซื้อขนมสุนัขลง หรือมองหาผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ หรือมาจากธรรมชาติมากขึ้น เช่น ในปี 2565 แบรนด์ Little Big Paw ได้เปิดตัวสินค้าขนมสุนัขวีแกน Little Kips ซึ่งมีส่วนผสมมาจากคาโมมายล์และราก Valerian ที่จะช่วยให้จิตใจสงบลง หรือแบรนด์ SingAPaw ได้เปิดตัวขนมสุนัขคุณภาพคนรับประทานทำมาจากปลาค็อดแอตแลนติก ซึ่งอุดมไปด้วยกรมไขมันโอเมก้าสาม แบรนด์ Brit ได้เปิดตัวขนมสุนัขที่ทำจากแมลง Brit Care Crunchy Cracker เสริมคุณค่าด้วยโปรไบโอติก และ Absolute Bite ขนมสุนัขที่มาจากธรรมชาติ 100% เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับสุนัขที่เป็นโรคภูมิแพ้หรือท้องเสียง่าย ขนมสุนัขกลุ่มดังกล่าวกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเมื่อเทียบกับขนมสุนัขแบบดั้งเดิมที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงมองว่าผ่านการแปรรูปสูง ส่งผลให้ร้านค้าปลีกต่างเริ่มมองเห็นศักยภาพสินค้ากลุ่มพรีเมี่ยมเพิ่มมากขึ้นในสิงคโปร์ โดยจะวางขายตามช่องทางร้านขายสัตว์เลี้ยง และช่องทางอีคอมเมิร์ซ

  • ผู้ซื้อยินดีที่จะจ่ายพรีเมี่ยมสำหรับอาหารสุนัขเปียก

หลายๆ บริษัทสตาร์ทอัพได้นำเสนออาหารสุนัขสดและแช่แข็งคุณภาพเดียวกับที่คนรับประทาน ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน และไม่มีสารกันบูด อาหารเปียกสุนัขระดับพรีเมี่ยมได้พัฒนาจากอาหารกระป๋องแบบเปียกแบบดั้งเดิม รวมถึงอาหารดิบแบบ BARF (อาหารที่คล้ายกับพฤติกรรมการกินอาหารดิบของสุนัขในธรรมชาติ) เช่น แบรนด์ Underdog และ PetCubes แบรนด์ Omakase ได้นำเสนอแผนมื้ออาหารที่ปรับแต่งคล้ายกับแผนมื้ออาหารของมนุษย์ ความสนใจในการให้อาหารสุนัขดิบแบบสดและแช่แข็งเพิ่มมากขึ้น และคาดว่าตลาดอาหารสุนัขแบบพรีเมี่ยมนี้จะเติบโตได้อีกมาก การเพิ่มจำนวนของสตาร์ทอัพอาหารสุนัขกลุ่มนี้สะท้อนให้เห็นถึงเทรนด์การเลี้ยงสัตว์แบบสมาชิกในครอบครัวในเจ้าของสุนัขเฉพาะกลุ่ม (Niche Group) นอกจากราคาอาหารสูงที่เป็นอุปสรรคแล้ว ความยุ่งยากในการเตรียมอาหารดิบแช่แข็ง อายุการเก็บรักษาสั้น และสถานที่จัดเก็บก็เป็นอีกอุปสรรคเช่นกัน ซึ่งผู้ผลิตบริษัท PetCubes ได้มองเห็นปัญหาดังกล่าว จึงได้พยายามแก้ไขเพื่อการเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง โดยได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่กลุ่ม Gently Cooked (การเตรียมอาหารดิบที่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และยังคงคุณค่าสารอาหาร) ที่ง่ายต่อการเตรียม และสามารถเก็บในตู้เย็นได้ ก่อให้เกิดการพัฒนาด้านนวัตกรรมในสินค้า และความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทั้งในด้านรสชาติและรูปแบบของอาหารสุนัข นอกจากนี้ เจ้าของสัตว์เลี้ยงต่างมองหาความหลากหลายให้กับสัตว์เลี้ยง ดังนั้นเจ้าของสัตว์มีแนวโน้มที่จะผูกติดกับแบรนด์ที่มีรสชาติหลากหลายอีกด้วย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 แบรนด์ Primal Pet Foods ได้เปิดตัวอาหารสัตว์เลี้ยงรูปแบบ Sous-Vide กลุ่ม Gently Cooked ในสหรัฐฯ เช่นกัน จากการเติบโตของอาหารสัตว์เลี้ยงดิบแช่แข็งที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากการเข้ามาของผู้เล่นจากต่างประเทศ

  1. โอกาสทางการตลาดของสินค้าอาหารสุนัขในสิงคโปร์
  • สินค้ากลุ่มอาหารพรีเมี่ยมอาจจะเติบโตช้าลง

ถึงแม้ว่าเทรนด์การเลี้ยงสัตว์เหมือนสมาชิกในครอบครัว และการยอมซื้อสินค้าพรีเมี่ยมจะผลักดันการเติบโตของตลาดอาหารสุนัขกลุ่มพรีเมี่ยมก็ตาม แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจสิงคโปร์ที่เติบโตช้าลง เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลก อาจส่งผลให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงอาจปรับลดจากแบรนด์อัลตร้าพรีเมี่ยมไปสู่ระดับพรีเมี่ยม หรือเจ้าของอาจจะมองหาสินค้าที่มีส่วนผสมทางโภชนาการใกล้เคียงกัน เช่น การเปลี่ยนจากแบรนด์ Nestle Pro Plan ไปเป็นแบรนด์ Hill’s Sciene Diet ที่คุ้มค่าเงินมากกว่าในฐานะอาหารสุนัขแห้งแบบพรีเมี่ยมเหมือนกัน แต่ราคาต่อหน่วยต่ำกว่า นอกจากนี้ เจ้าของสัตว์เลี้ยงอาจเลือกใช้อาหารเม็ดเคลือบอาหารดิบแทนที่จะใช้อาหารดิบแบบฟรีซดรายหรือแบบแช่แข็ง เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพของอาหารสัตว์เลี้ยง เช่น การเปลี่ยนอาหารดิบแบบฟรีซ
ดรายจากแบรนด์ Stella &Chewy’s  ไปเป็นอาหารเม็ดเคลือบอาหารดิบแบบแช่แข็ง อย่างไรก็ดี เจ้าของสุนัขหลายคนอาจจะยังยึดติดกับสินค้าประเภทเดิม เพราะไม่จะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการเปลี่ยน แต่อาจจะมองหาคุณค่าที่ดีที่สุดในแบรนด์ในแง่ของรสชาติและขนาดของบรรจุภัณฑ์แทน  ดังนั้นบริษัทอาหารสัตว์เลี้ยงอาจจะทำการส่งเสริมการขายเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับเจ้าของสัตว์เลี้ยงและเสริมสร้าง Brand Loyalty มากขึ้น ทั้งนี้ ตลาดอาหารสุนัขเปียกแบบพรีเมี่ยมจะเติบโตเร็วที่สุด จากยอดขายอาหารดิบแช่แข็ง แต่ฐานผู้ซื้ออาจจะคงที่ เพราะการดึงดูดลูกค้าใหม่อาจจะเป็นเรื่องยาก เนื่องจากราคาที่สูงของสินค้า

  • เจ้าของสัตว์เลี้ยงกลุ่ม Millenial จะเปลี่ยนรูปแบบการดูแลสัตว์เลี้ยง

เจ้าของสัตว์เลี้ยงกลุ่มนี้จะให้ความสำคัญด้านความยั่งยืนมากขึ้น และมีการค้นหาข้อมูลจากโซเชี่ยลมีเดียตั้งแต่การอ่านรีวิวสินค้า หรือการติดตามเทรนด์ต่างๆ ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่นี่การใช้จ่ายมากที่สุด โดยพวกเขาเต็มใจที่จะซื้อสินค้าพรีเมี่ยมและสินค้าเฉพาะบุคคลที่จะช่วยให้สุขภาพของสัตว์เลี้ยงดีขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความต้องการซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติและมีส่วนผสมเพียงอย่างเดียว และยังต้องมีแหล่งที่มา/การใช้บรรจุภัณฑ์แบบยั่งยืน ดังนั้นแบรนด์ต่างๆ ปรับปรุงผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของเจ้าของสัตว์เลี้ยงยุคใหม่ให้ดียิ่งขึ้น เช่น บริษัท Wellness Pet เปิดตัวผลิตภัณฑ์กลุ่ม Plant-Based อย่าง อาหารเม็ดจากพืช Wellness CORE Digestive Health และ Wellness CORE Bowl Boosters อาหารเสริมภูมิคุ้มกัน ซึ่งทำจากโปรตีนคุณภาพสูงจากพืชและไข่ นอกจากนี้ เจ้าของสัตว์เลี้ยงกลุ่มนี้ยังมีความรู้ในเรื่องของ
ข้อกำหนดทางโภชนาการสุนัขอีกด้วย ส่งผลให้พวกเขาจะมองหาคุณค่าทางโภชนาการที่จะก่อให้เกิดผลดีต่อสุนัขจากหลากหลายแบรนด์ ซึ่งจะทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้จะมี Brand Loyalty ลดลง เพราะมีความต้องการในการสำรวจผลิตภัณฑ์ใหม่ตลอดเวลา

  • การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซโดยเฉพาะในกลุ่มแบรนด์ Ultra-Premium

หลังจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เจ้าของสัตว์เลี้ยงในสิงคโปร์มองว่าการซื้ออาหารสุนัขออนไลน์เป็นช่องทางที่สะดวกสบาย ส่งผลให้ช่องทางการจัดจำหน่ายอาหารสุนัขแบบอีคอมเมิร์ซเติบโตแบบยั่งยืนขึ้น จากการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ราคาที่แข่งขันได้ รวมไปถึงความสะดวกสบายต่างๆ เช่น การจัดส่งฟรี และรูปแบบการสมัครสมาชิก (Subscription) ต่างเป็นปัจจัยในการดึงดูด  เจ้าของสัตว์เลี้ยงให้ใช้ช่องทางนี้มากขึ้น เช่น  แบรนด์ Buddy Bites ได้ให้บริการวางแผนมื้ออาหารสุนัข (Meal Plan) เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายแก่เจ้าของสุนัข นอกจากนี้ ความสนใจของผู้ซื้อในกลุ่มอาหารดิบแช่แข็งที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ช่องทางอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้น เนื่องจากร้านค้าปลีกส่วนใหญ่ไม่มีตู้แช่แข็งสำหรับจัดเก็บอาหารสัตว์เลี้ยงแช่แข็ง เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากห่วงโซ่อุปทานสำหรับสินค้าที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ โดยช่องทางอีคอมเมิร์ซจะนำเสนอผลิตภัณฑ์ราคากลางไปจนถึง Ultra-Premium ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้กว้างขึ้น อย่างไรก็ดี ร้านค้าสัตว์เลี้ยง และซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่จะยังคงเป็นช่องทางการจำหน่ายหลักสำหรับอาหารสุนัข

  1. แบรนด์อาหารสุนัขในสิงคโปร์

แบรนด์อาหารสุนัขที่ได้รับความนิยมในสิงคโปร์ ได้แก่ 1) Hill’s Science Diet 2) Royal Canin 3) Wellness ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดใกล้เคียงกันราว 7% ตามมาด้วย 4) Fish 4 Dogs และ 5) Underdog ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดใกล้เคียงกันราว 5%

 

ข้อมูลเพิ่มเติม/ความคิดเห็นสคต.

ถึงแม้ว่าตลาดสัตว์เลี้ยงในสิงคโปร์จะมีขนาดเล็ก แต่จากเทรนด์การดูแลสัตว์เลี้ยงเหมือนสมาชิกในครอบครัวและความยินดีที่จะจ่ายสินค้าระดับพรีเมี่ยมส่งผลให้มูลค่าทางการตลาดของสัตว์เลี้ยงในสิงคโปร์น่าสนใจเช่นกัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจตลาดสิงคโปร์ควรศึกษาวิธีการข้อกำหนดด้านกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานด้านสัตว์เลี้ยงในสิงคโปร์ (Animal & Veterinary Service หรือ AVS)[1]  เพื่อการผลิตที่ได้มาตรฐานและติดตามสถานการณ์แนวโน้มตลาดของสินค้าดังกล่าว เพื่อแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดต่อไป

งานแสดงสินค้าเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ผู้ประกอบการสามารถพิจารณาในการขยายสินค้า โดยงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ เช่น Pet Expo ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.petexposg.com หรือผู้ประกอบการสามารถใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซในการทดลองตลาดสิงคโปร์ได้เช่นกัน โดยแพลตฟอร์มที่เป็นที่นิยม ได้แก่ Lazada, Shopee, Qoo10 หรือแพลตฟอร์มจากร้านค้าขายปลีกอย่าง KOHEPETs.com และ petloverscentre.com เป็นต้น

[1] https://www.nparks.gov.sg/avs/pets/bringing-animals-into-singapore-and-exporting/animal-feed/general-information-and-classification

 

ที่มาข้อมูล : Euromonitor

อ่านข่าวฉบับเต็ม : สินค้าอาหารสุนัขในสิงคโปร์

Login