หน้าแรกTrade insightข้าว > สินค้านมจากพืชในสิงคโปร์

สินค้านมจากพืชในสิงคโปร์

  1. ภาพรวมตลาดสินค้านมจากพืชในปี 2566

ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่า มูลค่ายอดขายนมจากพืชในสิงคโปร์ในปี 2566 อยู่ที่ 26.6 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มสูงขึ้น 9.1% (YoY) โดยประกอบไปด้วยนมถั่วเหลือง 24.6 ล้านเหรียญสิงคโปร์เพิ่มสูงขึ้น 8.1% (YoY)  และนมจากพืชต่างๆ อยู่ที่ 2.1 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มสูงขึ้น 21.4% (YoY)

  • สถานบริการอาหารช่วยเพิ่มบทบาทให้กับนมจากพืช

นมจากพืชในสิงคโปร์เติบโตเพิ่มขึ้นมาจากการขยายตัวของร้านกาแฟที่มีเครือข่ายเติบโตอย่างรวดเร็ว ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตัวเลือกนมจากพืชอื่นๆ มีจำหน่ายกันอย่างแพร่หลายมากขึ้นตามสถานบริการด้านอาหารต่างๆ ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดการรับรู้และยอมรับในผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น เช่น ในร้านคาเฟ่หลายๆ แห่งจะมีตัวเลือกเป็นนมจากพืชต่างๆ เช่น นมอัลมอนด์ นมข้าวโอ๊ต และนมมะพร้าว เพื่อเป็นส่วนผสมในเครื่องดื่ม การบริโภคนมจากพืชในสิงคโปร์ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงผู้ที่กินมังสวิรัติ หรือผู้ที่แพ้แลคโตสเท่านั้น แต่ยังดึงดูดผู้บริโภคที่ใส่ในในสุขภาพ และมองหานมทางเลือกอื่นๆ เช่น ร้านกาแฟที่มีเครือข่าย Jewel Coffee ในสิงคโปร์ได้ใช้นมโอ๊ตของ
แบรนด์ OTIS หรือในช่วงปลายปี 2565 แบรนด์นมจากพืชของออสเตรเลีย MILKLAB ได้เปิดตัววางขายร่วมกับร้านกาแฟต่างๆ ในสิงคโปร์ เช่น ร้าน Keong Saik Bakery และร้าน Olivia & Co และอื่นๆ

นมจากพืชกลุ่มอื่นๆ จะอยู่ในรูปแบบเสริมในกาแฟจึงทำให้เกิดการจำลองหน้าที่การทำงานของนมวัวทั่วไปและเกิดผลิตภัณฑ์นมจากพืชสำหรับร้านกาแฟ (Barista Blend) เพื่อเลียนแบบคุณสมบัติความเป็นครีมและฟองเหมือนกับนมวัวทั่วไป นมจากพืชยังคงมีราคาสูงเมื่อเทียบกับนมวัวในท้องตลาด จึงอาจเผชิญกับปัญหาที่ร้านอาหารหรือร้านกาแฟขนาดเล็กยังไม่สามารถที่จะนำเสนอนมจากพืชเป็นทางเลือกในร้านได้

  • บริษัทเครื่องดื่ม/นม เริ่มขยายตลาดมายังนมข้าวโอ๊ต

นมข้าวโอ๊ตเป็นนมที่ได้รับความนิยมในตลาดนมจากพืช โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่น Millennials และ GenZ ส่งผลให้หลายบริษัทได้ขยายสินค้ามายังตลาดกลุ่มนมข้าวโอ๊ต เช่น บริษัท F&N Foods (S) ได้เปิดตัวนมข้าวโอ๊ตสำหรับการทำกาแฟชื่อ Omilk ในปี 2566 หรือเมื่อช่วงปลายปี 2564 บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มจากถั่วเหลือง Vitasoy ได้เปิดตัวนมข้าวโอ๊ตแบรนด์ Plant+ ในสิงคโปร์เช่นกัน หลังจากนั้น ได้เปิดตัวนมข้าวโอ๊ตสูตรดั้งเดิม VitaOat ในรูปแบบบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก 250 มล. ปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้ถึงความนิยมของนมข้าวโอ๊ตในตลาดสิงคโปร์มากขึ้น

  • ความนิยมการซื้อนมจากพืชตามร้านสะดวกซื้อ

ความต้องการซื้อในช่องทางการจำหน่ายตามร้านสะดวกซื้อมีเพิ่มขึ้นในสิงคโปร์ จากการเดินทางไปมาของผู้คนในย่านธุรกิจ แบรนด์นมจากพืชสิงคโปร์ Oatside ได้เปิดตัวนมโอ๊ตรสออริจินัล ช็อกโกแลต และกาแฟขนาด 200 มิลลิลิตร ในร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ในสิงคโปร์ปี 2566 โดยทำราคาส่งเสริมการขาย และการตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย  จากนั้นบริษัทได้กระตุ้นยอดขายโดยการจำหน่ายนมโอ๊ตรสชาติใหม่ รสกาแฟ ซึ่งวางขายเฉพาะรูปแบบกล่องบรรจุสำหรับดื่มครั้งเดียว จากนั้น นมอัลมอนด์แบรนด์ 137Degree และนมข้าวโอ๊ตOatside ได้วางจำหน่ายรูปแบบกล่องบรรจุขนาดเล็กขนาด 180 มล. และ 250 มล. ตามลำดับ โดยปกติในร้านสะดวกซื้อจะจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล่านี้แบบแช่เย็น ขนาดเล็ก ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย นอกจากนี้ ยังเหมาะสำหรับผู้บริโภคที่ไม่มีเวลาเตรียมอาหารมื้อใหญ่ และมองหาของว่างที่ดีต่อสุขภาพ รับประทานอย่างรวดเร็วระหว่างมื้ออาหาร ทั้งนี้ ร้านสะดวกซื้อในสิงคโปร์ได้มีการสั่งนมจากพืชรูปแบบกล่องขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรองรับพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค

 

  1. โอกาสทางการตลาดของสินค้านมจากพืชในสิงคโปร์

แรงผลักดันจากผู้บริโภคในสิงคโปร์ที่รับรู้เชิงบวกต่อผลิตภัณฑ์นมทางเลือกไม่ว่าจะเป็นจาก ถั่วเหลือง
อัลมอนด์ และนมข้าวโอ๊ต จะส่งผลให้ความต้องการนมจากพืชมีแนวโน้มที่ดีในตลาดสิงคโปร์ เนื่องจากนมถั่วเหลืองมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในด้านบริการอาหารและการค้าปลีกในหลายประเทศในเอเชีย ในขณะที่ นมข้าวโอ๊ต และนมถั่วเหลืองมีการนำไปใช้มากในร้านค้าปลีกและบริการด้านอาหาร เช่น ร้านกาแฟเฉพาะทาง อย่างไรก็ดีนวัตกรรมนมทางเลือกจากผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ถั่ว งา หรือนมที่ได้จากข้าว คาดว่าจะเข้าสู่ตลาดสิงคโปร์ได้ในอนาคตเช่นกัน ทั้งนี้ ในปัจจุบัน นมจากถั่วยังถือเป็นสินค้าสำหรับตลาดเฉพาะกลุ่ม เนื่องจากมีราคาค่อนข้างสูงกว่าและมีรสชาติที่แตกต่างออกไป ซึ่งอาจไม่เข้ากับเครื่องดื่มอย่างกาแฟหรือชา นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอาจทำให้ผู้บริโภคในท้องถิ่นรู้สึกไม่พร้อมที่จะลองผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีราคาสูงกว่ามาก

การรับรู้เชิงบวกต่อผลิตภัณฑ์นมจากพืชและทางเลือกอื่นๆ คาดว่าจะได้รับแรงผลักดันเพิ่มเติมจากกฎหมายการติดฉลาก Nutri-Grade ใหม่ ภายใต้โครงการนี้ จะต้องติดฉลากเครื่องดื่มเกรดโภชนาการที่มีเกรด C หรือ D (บ่งชี้ว่ามีน้ำตาลสูงกว่า 5 กรัม และ/หรือมีไขมันอิ่มตัวมากกว่า 1.2 กรัมต่อผลิตภัณฑ์ 100 มล.) โดยทั่วไปนมจากพืชมักจะมีไขมันอิ่มตัวต่ำกว่าเมื่อเทียบกับนมวัวส่วนใหญ่ ดังนั้น นมจากพืชยี่ห้อใหม่ส่วนใหญ่ที่เข้าสู่ตลาดมีแนวโน้มที่จะได้รับคะแนน Nutri-Grade ที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับนมวัวเนื่องจากมีไขมัน ตัวอย่างเช่น นมข้าวโอ๊ตชนิดไม่หวานของ UFC Velvet ตกอยู่ภายใต้ Nutri-Grade B ในขณะที่นมจืดสดของ Meiji อยู่ในเกรด C ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภครับรู้เชิงบวกเกี่ยวกับสุขภาพที่เชื่อมโยงกับทางเลือกนมจากพืช ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้นและ แนวโน้มด้านสุขภาพ แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงฉลากนี้ไม่น่าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อรูปแบบการบริโภคของชาวสิงคโปร์ที่เป็นวีแกนอย่างเคร่งครัดหรือแพ้ผลิตภัณฑ์จากนม แต่ผู้บริโภครายอื่นอาจจะเปลี่ยนผลิตภัณฑ์นมและผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่นมด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ

 

 

  1. ตัวอย่างนมทางเลือกในสิงคโปร์

แบรนด์นมจากพืชที่ได้รับความนิยมในสิงคโปร์ ได้แก่ 1) Nutrisoy 2) Yeo’s 3) Vitasoy 4) UFC หรือนมโอ๊ต Oatly และ Oatside เป็นต้น

 

จากกระแสการดูแลสุขภาพ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของชาวสิงคโปร์ นมทางเลือกจึงเป็นอีกตัวเลือกที่สามารถตอบโจทย์ชาวสิงคโปร์ที่อยู่วัยทำงาน ที่มีความเร่งรีบ เวลาน้อย  ต้องการความสะดวกสบายในแต่มองหาอาหาร/เครื่องดื่มเหล่านี้ที่ดีต่อสุขภาพ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทยเพราะไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตสินค้าทางการเกษตรและอาหารในฐานะครัวโลก การพัฒนาสินค้านมทางเลือกจะเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจตลาดสิงคโปร์ควรศึกษาวิธีการข้อกำหนดด้านกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารของสิงคโปร์ เพื่อการผลิตที่ได้มาตรฐานและติดตามสถานการณ์แนวโน้มตลาดของสินค้าดังกล่าว เพื่อแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดต่อไป

 

ที่มาข้อมูล/ภาพ : Euromonitor/RedMart

อ่านข่าวฉบับเต็ม : สินค้านมจากพืชในสิงคโปร์

Login