หน้าแรกTrade insight > สิงคโปร์ : สะพานเชื่อมฟินเทคอาเซียน

สิงคโปร์ : สะพานเชื่อมฟินเทคอาเซียน

ฟินเทคในอาเซียนและประเทศสิงคโปร์

การลงทุนด้าน Fintech ในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มสูงขึ้นถึง 5,700 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ภายใน 9 เดือนแรกของปี 2565 ซึ่งมากกว่าการลงทุนทั้งหมดในภูมิภาครวมกันตั้งแต่ปี 2561 -2563 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2023 รายงานจากบริษัท PWC Singapore สมาคมฟินเทคแห่งสิงคโปร์ (Singapore Fintech Association : SFA) และคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งสิงคโปร์ (Singapore Economic Development Board : EDB) ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มที่ดีและเหมาะสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเงิน เนื่องจากการขยายตัวของสังคมเมืองและประชากรวัยหนุ่มสาวที่มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ส่งผลให้สิงคโปร์ ทำหน้าที่เป็น “สะพานเชื่อมที่ยอดเยี่ยม” สำหรับบริษัทต่างๆ ที่ต้องการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจด้วยโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีและทางการเงินที่ดี ซึ่งทำให้ได้เปรียบมากกว่าในการไปลงทุนในประเทศเกิดใหม่ (Emerging Countries)

ในปี 2565 รายงานของบริษัท PWC Singapore ธนาคาร UOB ระบุว่า การลงทุนฟินเทคในประเทศสิงคโปร์และอินโดนีเซีย รวมกันเป็น 3 ใน 4 ส่วนของประเทศในภูมิภาคอาเซียนรวมกันทั้งหมด และสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีจำนวนบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในฟินเทคมากที่สุดอยู่ที่ 1,580 บริษัท จากประเทศในกลุ่มอาเซียนหกประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม (ข้อมูลเดือนพฤศจิกายน 2565)

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมดังกล่าวยังมีความท้าทายระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่อุปสรรคทางเศรษฐกิจมหภาคและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ทำให้การดำเนินงานหยุดชะงัก และนำไปสู่การปลดพนักงานจำนวนมากการลงทุนในอุตสาหกรรมฟินเทคทั่วโลกลดลงเหลือ 75,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2565 จาก 139,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมนี้มีมูลค่าตลาดสูงถึง 194,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2565 และคาดว่า จะเติบโตในอัตราทบต้นที่ร้อยละ 16.8 ต่อปี ระหว่างปี 2566 ถึง 2571 ซึ่งจะสูงถึง 492,810 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การให้บริการชำระเงินมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมฟินเทค ภาคการชำระเงินดิจิทัลทั่วโลกคาดว่าจะมีมูลค่าธุรกรรมรวม 9.47 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2566 และคาดว่า จะมีจำนวนผู้ใช้สูงถึง 5,480 ล้านคน ภายในปี 2567 ในขณะเดียวกัน Neo banking หรือธนาคารที่ให้บริการเฉพาะธุรกรรมทางดิจิทัลอย่างเดียว คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ทั่วโลก 28.9% โดยคาดว่า ในปี 2566 มูลค่าเฉลี่ยในการทำธุรกรรมต่อผู้ใช้งานจะอยู่ที่ 18,000 เหรียญสิงคโปร์ นอกจากนี้ 114 ประเทศ ซึ่งคิดเป็น 95% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ทั่วโลก ได้ใช้งาน หรือกำลังพิจารณาที่จะใช้สกุลเงินดิจิทัล ซึ่งเป็นสกุลเงินกลางเพื่อใช้ในการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 35 ประเทศในปี 2563 และ
ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore : MAS) ได้เปิดตัวโครงการ Ubin+ เพื่อศึกษาข้อมูลการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศข้ามพรมแดนโดยใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currencies : CBDCs) ระหว่างประเทศฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์

จากรายงานของ PwC,SFA และ EDB ระบุว่า สามองค์ประกอบ ที่จะกำหนดรูปแบบอุตสาหกรรมฟินเทคโลก ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI)  ความยั่งยืน (Sustainability) และความน่าเชื่อถือดิจิทัล (Digital Trust) สิงคโปร์มีนโยบายมากมายเพื่อสนับสนุนบริษัทในอุตสาหกรรมฟินเทค เช่น AI Singapore ซึ่งเป็นโครงการวิจัยและนวัตกรรมระดับชาติ ได้นำเสนอ AI International Grant Call เพื่อให้ทุนสนับสนุนการวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ผ่านพันธมิตรระหว่างสิงคโปร์และประเทศอื่นๆ มูลนิธิ AI Verify ซึ่งเปิดตัวในเดือนมิถุนายน 2566 โดยสำนักงานพัฒนาสื่อสารสารสนเทศ (Infocomm Media Development Authority) เป็นกรอบการทดสอบและกำกับควบคุม AI เป็นที่แรกในโลก ที่อนุญาตให้สามารถทดลองใช้งาน AI อย่างเหมาะสม รายงานยังระบุว่า รัฐบาลสิงคโปร์กำลังทำงานอย่างหนักในด้านความยั่งยืน โดยในปี 2564 Enterprise Singapore ได้ประกาศจัดสรรงบประมาณ 242 ล้านเหรียญสิงคโปร์ สำหรับโครงการ Enterprise Sustainability Program เพื่อช่วยเหลือบริษัทในประเทศให้มีการพัฒนาความสามารถด้านความยั่งยืน เพื่อให้สามารถแข่งขันในระบบ Green Economy (ระบบเศรษฐกิจที่เน้นการพัฒนาและใช้งานทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างยั่งยืนและมีการรักษาสิ่งแวดล้อม) ได้ดียิ่งขึ้น

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ฟินเทคกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากในอุตสาหกรรมการเงินทั่วโลก ดังนั้นธนาคาร สถาบันการเงิน หรือหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) ต่างๆ ทั้งในไทยและสิงคโปร์ต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมมากขึ้น เพื่อรับมือกับนวัตกรรมการเงินรูปแบบใหม่ๆ กฎระเบียบให้สอดรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆ และโมเดลธุรกิจการเงินใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

แหล่งที่มาภาพ/ข้อมูล : StraitsTimes : www.straitstimes.com/business/fintech-funds-soar-to-57b-in-asean-s-pore-an-excellent-bridge-for-investing-firms-report

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login