“จำนวนประชากรสูงอายุในสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นในขณะที่อัตราการเกิดในปัจจุบันลดลงอย่างเห็นได้ชัด”
ปัจจุบันสหรัฐอเมริกามีจำนวนประชากรภายในประเทศทั้งสิ้นราว 334 ล้านคน แบ่งเป็น กลุ่มประชากร Millennials (อายุระหว่าง 27 – 42 ปี) ร้อยละ 22 ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด รองลงมา ได้แก่ กลุ่มประชากร Baby Boomers (อายุระหว่าง 59 – 77 ปี) ร้อยละ 21 กลุ่มประชากร Generation Z (อายุระหว่าง 11 – 26 ปี) ร้อยละ 20 กลุ่มประชากร Generation X (อายุระหว่าง 43 – 58 ปี) ร้อยละ 19 กลุ่มประชากรเด็ก (เกิดหลังปี พ.ศ. 2555) ร้อยละ 13 และกลุ่มผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 78 ปีขึ้นไป ร้อยละ 5 ตามลำดับ
ทั้งนี้ จากข้อมูลรายงานพยากรณ์ประชากรปี 2565 (Vintage 2022 Population Estimates) โดยสำนักสำมะโนประชากรสหรัฐฯ (U.S. Census Bureau) เปิดเผยว่า ในช่วงระหว่างปี 2564 – 2565 ค่าเฉลี่ยอายุของประชากรชาวอเมริกัน (Median Age) มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.2 ปี เป็นประมาณ 38.9 ปี ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวแสดงให้เห็นการปรับตัวเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) ที่ชัดเจนมากขึ้นในสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังพบว่า กว่าหนึ่งในสามของประชากรในสหรัฐฯ มีอายุมากกว่า 40 ปีซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูงแม้ว่าสหรัฐฯ จะมีอัตราการเกิดใหม่สูงกว่าอัตราการตายก็ตาม แต่หากพิจารณาอัตราการเกิดยังพบว่ามีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องตลอดในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งหากอัตราการเกิดในสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับปัจจุบัน จะส่งผลทำให้ค่าเฉลี่ยอายุประชากรในสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตและส่งผลให้สหรัฐฯ ก้าวย่างเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว
ทั้งนี้ รัฐที่ประชากรมีค่าเฉลี่ยอายุสูงในปี 2565 ได้แก่ รัฐเมน ประมาณ 44.8 ปี รัฐนิวแฮมป์เชียร์ ประมาณ 43.3 ปี รัฐฮาวาย ประมาณ 40.7 ปี รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย ประมาณ 42.8 ปี รัฐแอละแบมา ประมาณ 39.4 ปี และ รัฐเทนแนสซี ประมาณ 39.1 ปี ส่วนประชากรในรัฐเท็กซัสและรัฐยูทาห์มีค่าเฉลี่ยอายุต่ำที่สุดในประเทศ 35.5 ปี และ 31.9 ปี ตามลำดับ
ส่วนเขต (County) ซึ่งมีขนาดประชากรมากกว่า 100,000 คนที่ประชากรมีค่าเฉลี่ยอายุสูง (มีผู้เกษียณอายุจำนวนมาก) ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐฟลอริดาได้แก่ เขต Sumter ประมาณ 68.1 เขต Charlotte 60.2 ปี เขต Sarasota ประมาณ 57.5 ปี และเขต Citrus ประมาณ 57 ปี ตามลำดับ
สำหรับเขตซึ่งมีขนาดประชากรมากกว่า 100,000 คน ที่ประชากรมีค่าเฉลี่ยอายุต่ำกว่า 30 ปี (ส่วนมากเป็นเขตมหาวิทยาลัย) ได้แก่ เขต Utah รัฐยูทาห์ ประมาณ 25.7 ปี เขต Cache รัฐยูทาห์ ประมาณ 25.8 ปี เขต Brazos รัฐเทกซัส ประมาณ 26.7 ปี เขต Onslow รัฐนอร์ทแคโลไลนา ประมาณ 27.6 ปี เขต Tippecanoe รัฐอินดีแอนา ประมาณ 28.8 ปีเขต Clark รัฐจอร์เจีย ประมาณ 29.1 ปี และเขต Webb รัฐเทกซัส ประมาณ 29.8 ปี
นอกจากนี้ รายงานฉบับดังกล่าวยังได้แสดงข้อมูลสำคัญของประชากรชาวอเมริกันแต่ละกลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มประชากรผิวขาว
- ปี 2565 มีประชากรผิวขาวในสหรัฐฯ ประมาณ 260 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
- รัฐแคลิฟอร์เนียมีประชากรผิวขาวมากที่สุด ประมาณ 29 ล้านคน รองลงมา ได้แก่ รัฐเทกซัสประมาณ 23 ล้านคน และรัฐฟลอริดาประมาณ 17 ล้านคน ตามลำดับ
- รัฐเซาท์แคโรไลนามีอัตราการขยายตัวของประชากรผิวขาวสูงที่สุดในสหรัฐฯ ประมาณ ร้อยละ 2.0 รองลงมา คือ รัฐฟลอริดาร้อยละ 1.9
- กลุ่มประชากรผิวดำ
- สหรัฐฯ มีประชากรผิวดำทั้งสิ้นประมาณ 50 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมดในประเทศ โดยมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
- รัฐเทกซัสมีจำนวนประชากรผิวดำมากที่สุดในสหรัฐฯ จำนวนทั้งสิ้น 4.3 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9
- รัฐเมนมีอัตราการขยายตัวของประชากรผิวดำเร็วที่สุดร้อยละ 7
- เขตที่มีประชากรผิวดำอาศัยอยู่มากที่สุด คือ เขต Cook รัฐอิลลินอยส์ประมาณ 2 ล้านคน รองลงมา คือ เขต Harris รัฐเทกซัสประมาณ 1.03 ล้านคน
- กลุ่มประชากรชาวเอเชีย
- สหรัฐฯ มีประชากรชาวเอเชียทั้งสิ้นประมาณ 24.6 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
- รัฐแคลิฟอร์เนียมีชาวเอเชียอาศัยมากที่สุดประมาณ 7.2 ล้านคน รองลงมา ได้แก่ รัฐนิวยอร์ก2 ล้านคน และรัฐเทกซัส 1.9 ล้านคน ตามลำดับ นอกจากนี้ รัฐแคลิฟอร์เนียและรัฐมอนทานายังเป็นรัฐที่มีอัตราการขยายตัวของชาวเอเชียสูงที่สุดในสหรัฐฯ
- กลุ่มประชากรฮิสแปนิก
- สหรัฐฯ มีประชากรฮิสแปนิกทั้งสิ้นประมาณ 63.66 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
- รัฐแคลิฟอร์เนียมีประชากรฮิสแปนิกอาศัยมากที่สุดในสหรัฐฯ ประมาณ 15.78 ล้านคน รองลงมา ได้แก่ รัฐเทกซัส ประมาณ 12.06 ล้านคน และรัฐฟลอริดาประมาณ 6.02 ล้านคน ตามลำดับ
- รัฐเซาท์ดาโกตามีอัตราการขยายตัวของประชากรฮิสแปนิกมากที่สุดในสหรัฐฯ ร้อยละ 6.8 ในขณะที่รัฐนิวยอร์กเป็นเพียงรัฐเดียวที่มีจำนวนประชากรฮิสแปนิก ลดลงประมาณร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
แนวโน้มการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีสุขภาพและการแพทย์ในปัจจุบันมีส่วนสำคัญช่วยให้ประชากรทั่วโลกมีค่าเฉลี่ยอายุเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วรวมถึงสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนประชากรสูงอายุและค่าเฉลี่ยอายุประชากรเพิ่มมากขึ้น อีกทั้ง ยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มต่อเนื่องในอนาคต
ทั้งนี้ จากข้อมูลสถิติพบว่า ปัจจุบันมีจำนวนชาวอเมริกันที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10,000 คนต่อวัน โดยคาดว่าภายในปี 2575 สหรัฐฯ จะมีจำนวนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าจำนวนประชากรเด็ก เนื่องจากแนวโน้มอัตราการเกิดในประเทศลดลงชาวอเมริกันรุ่นใหม่บางส่วนให้ความสำคัญมุ่งมั่นกับการทำงานและการใช้ชีวิตของตนเองมากกว่าการสร้างครอบครัวและการมีบุตร
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันกลุ่มประชากรรุ่นใหม่ทั้ง Generation Z และ Millennials จะเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดและมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ตาม แต่หากพิจารณาปัจจัยด้านรายได้และกำลังการซื้อเฉลี่ยต่อคนของประชากรกลุ่มดังกล่าวแล้วยังพบว่า กลุ่มประชากรสูงอายุโดยเฉพาะ Generation X และBaby Boomers ยังคงมีแนวโน้มสูงกว่าราวร้อยละ 20 อีกทั้ง ยังมีรายได้และความมั่นคงทางรายได้ค่อนข้างสูง โดยหากคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจพบว่า กลุ่มประชากรชาวอเมริกันอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปมีมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น 8.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 (ข้อมูลล่าสุด) หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40.43 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติสหรัฐฯ ในปีเดียวกันซึ่งสูงที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประชากรทั้งหมด ดังนั้น จึงยังถือว่าประชากรสูงอายุยังมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ สูงและเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการเพื่อพิจารณาขยายตลาดในอนาคต
ทั้งนี้ แม้ว่ากลุ่มประชากรผู้สูงอายุชาวอเมริกันส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมและการแสดงออกว่าตนเองไม่มีความแตกต่างและต้องการบริโภคสินค้าและบริการเช่นเดียวกันกับกลุ่มผู้บริโภคอื่น ๆ ก็ตาม แต่ก็ยังมีผู้บริโภคบางส่วนที่ต้องการบริโภคสินค้าและบริการที่ออกแบบเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุเพื่อส่งเสริมสุขภาพและอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น อุปกรณ์สำหรับช่วยในการเคลื่อนที่ อุปกรณ์เตือนความจำติดตามข้อมูลทางสุขภาพ อุปกรณ์สื่อสารกับครอบครัว อุปกรณ์บริหารร่างกาย เสื้อผ้าสวมใส่ง่าย เครื่องสำอาง ครีมบำรุง และอาหารเสริม เป็นต้น
นอกจากนี้ การศึกษาพฤติกรรมความชอบและการเลือกซื้อของประชากรกลุ่มนี้ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับประชากรกลุ่มอื่นจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาสินค้าและบริการได้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้
โดยสามารถสรุปข้อมูลพฤติกรรมที่สำคัญของผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวได้ ดังนี้
- ประชากรสูงอายุมีนิสัยมัธยัสถ์ชอบเก็บออมเนื่องจากประชากรบางส่วนได้หยุดทำงานแล้วมีรายได้ลดลง จึงทำให้มักจะใช้เงินไปกับสินค้าและบริการที่เห็นว่าคุณสมบัติและราคาสอดคล้องเหมาะสมและจำเป็นต่อการใช้ชีวิต
- ประชากรสูงอายุนิยมซ่อมแซมต่อเติมบ้านพักอาศัยให้น่าอยู่ตลอดเนื่องจากมีเวลาใช้ชีวิตที่บ้านมากขึ้นและช่วยลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุภายในบ้าน
- ประชากรสูงอายุกลุ่มที่เกษียณอายุแล้วมักจะนิยมเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อนมากขึ้น
- ประชากรสูงอายุส่วนใหญ่มีปัญหาทางด้านสายตา ดังนั้น จึงมักจะเลือกซื้อสินค้าที่แสดงอักษรขนาดเหมาะสมมองเห็นได้ชัดเจน
- ประชากรสูงอายุบางส่วนไม่คุ้นเคยกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จึงมักจะเลือกซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่การใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน
- ประชากรผู้สูงอายุมักจะระมัดระวังและเลือกรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพและไม่ส่งผลกระทบต่อข้อจำกัดด้านสุขภาพ
- ประชากรผู้สูงอายุมักจะเลือกซื้อสินค้าเครื่องประดับขนาดใหญ่เพื่อให้เหมาะสมกับสัดส่วนรูปร่าง
- ประชากรผู้สูงอายุมักจะเลือกซื้อเสื้อผ้าเครื่องนุ่งหมที่สวมใส่และถอดออกง่ายไม่ยุ่งยาก
“ตัวอย่างสินค้าผู้สูงอายุที่น่าจะมีโอกาสในตลาดสหรัฐฯ”
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)