หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > สหรัฐฯ กับความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ – สคต. ชิคาโก

สหรัฐฯ กับความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ – สคต. ชิคาโก

“การผิดนัดชำระหนี้จะส่งผลกระทบต่อค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐทำให้อ่อนค่าผู้ประกอบการในตลาดอาจชะลอการนำเข้าสินค้าและบริการ”

สหรัฐอเมริกากำลังต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายทางเศรษฐกิจอีกครั้ง หลังจากที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Mrs. Jenet Yellen รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ (U.S. Department of Treasury) ได้ส่งสัญญาณความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะต้องประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินครั้งใหม่หากสภา คองเกรสไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการพิจารณาขยายเพดานหนี้สาธารณะของประเทศได้ทันวันที่ 1 มิถุนายนที่จะถึงนี้เพื่อจ่ายหนี้ที่กำลังจะครบกำหนด ปัจจัยดังกล่าวยิ่งเป็นการตอกย้ำทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันกำลังประสบปัญหาภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงปัญหาในภาคสถาบันการเงินซึ่งล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้ทวีความรุนแรงมากขึ้นหากสหรัฐฯ ไม่สามารถชำระหนี้ได้ทันตามกำหนด อีกทั้ง ยังอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและการลงทุนในต่างทั่วโลกด้วย

โดยสำนักงบประมาณรัฐสภา (The Congressional Budget Office) และกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ประเมินสถานการณ์ว่า หากสหรัฐฯ ไม่สามารถชำระหนี้ได้ทันตามกำหนดเพียงหนึ่งสัปดาห์จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศทำให้หดตัวลงประมาณร้อยละ 0.6 และจะก่อให้เกิดการว่างงานอย่างน้อย 500,000 ตำแหน่ง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลทำให้ปัญหาหนี้สินในกลุ่มชาวอเมริกันรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต อีกทั้ง ยังจะกระทบต่อความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ของผู้บริโภคชาวอเมริกันในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ หากสถานการณ์ดังกล่าวยืดเยื้อขยายเวลานานกว่า 3 เดือนคาดว่า จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (Great Recession) และทำให้เกิดการว่างงานมากขึ้น โดยคาดว่า จะมีผู้ว่างงานในตลาดเพิ่มขึ้นราว 8.3 ล้านคน นอกจากนี้ ยังจะส่งผลกระทบทำให้ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงราวร้อยละ 45 และส่งผลกระทบต่อเงินเก็บสะสมสำหรับการเกษียณของชาวอเมริกันด้วย

แม้ว่าปัจจุบันตลาดแรงงานสหรัฐฯ จะยังคงมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานสหรัฐฯ อยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 3.4 ก็ตาม แต่ภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ซึ่งยังคงอยู่ในระดับสูงและสวนทางกับแนวโน้มการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้างในตลาดกลับส่งผลทำให้ชาวอเมริกันต้องนำเงินเก็บสะสมบางส่วนมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากขึ้น ส่งผลทำให้ยอดเงินเก็บสะสมของครัวเรือนชาวอเมริกันลดลงจากช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งอยู่ในระดับ 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเหลือเพียงราว 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ในขณะที่ระดับหนี้บัตรเครดิตของชาวอเมริกันกลับปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากราว 5.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดเป็นกว่า 9.86 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 16 เท่า

นักเศรษฐศาสตร์หลายรายเห็นว่า การผิดชำระหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ซึ่งขยายตัวเต็มเพดานที่กำหนดแล้วตั้งแต่วันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมานั้น จะกลายเป็นชนวนปัญหาใหญ่ที่จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกในอนาคต ทั้งนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ คาดว่า จะเบิกจ่ายเงินสดที่มีอยู่ไปสำหรับการดำเนินมาตรการพิเศษต่างๆ (Extraordinary Measures) หมดลงภายในช่วงวันที่ 1 มิถุนายนนี้ อย่างไรก็ตาม วันที่งบประมาณสหรัฐฯ จะหมดลงจริงอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับการจัดเก็บรายได้ภาษีของปีที่ผ่านมาซึ่งสหรัฐฯ เพิ่งจะครบกำหนดการยื่นเอกสารรายงานภาษีเมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ปัจจัยด้านปัญหาในระบบสถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ธนาคารรายใหญ่ 3 รายในสหรัฐฯ (ธนาคาร Silicon Valley Bank ธนาคาร Signature Bank New York และธนาคาร First Republic Bank) ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินจนต้องปิดตัวลงภายในช่วงระยะเวลาเพียง 2 เดือนยิ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความกดดันและความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้นด้วย

โดยล่าสุดประธานาธิบดีโจ ไบเดนมีกำหนดการหารือร่วมกับ Mr. Kevin McCarthy ประธานสภาฯ เพื่อหาทางออกร่วมกันในวันอังคารนี้ ทั้งนี้ Mr. McCarthy มีท่าทีสนับสนุนการขยายเพดานหนี้สาธารณะสหรัฐฯ และต้องการให้ ดำเนินมาตรการตัดลดงบประมาณใช้จ่ายลง ในขณะที่กฎหมายพลังงานสะอาด (Clean Bill) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายประธานาธิบดีและสภาผู้แทนราษฎรกลับเป็นตัวการสำคัญผลักดันให้ปริมาณหนี้สาธารณะและงบประมาณใช้จ่ายสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา สหรัฐฯ ได้พิจารณาผ่านกฎหมายปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะของประเทศแล้วทั้งสิ้น 78 ครั้ง

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

สหรัฐฯ เป็นประเทศผู้บริโภครายใหญ่ที่มีปริมาณหนี้สาธารณะสูงที่สุดในโลก ปัจจุบันสหรัฐฯ มีหนี้สาธารณะอยู่ที่ประมาณ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นระดับเต็มเพดานหลังจากที่มีการปรับเพิ่มในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการช่วยเหลือต่างๆ ทำให้สหรัฐฯ จำเป็นที่จะต้องเลือกใช้วิธีการปรับเพิ่มเพดานหนี้เพื่อเป็นทางออกสำหรับการบริหารจัดการงบประมาณในอนาคต

อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าการพิจารณาผ่านร่างกฎหมายขยายระดับเพดานหนี้สาธารณะสหรัฐฯ ครั้งล่าสุดกลับยังคงไม่สามารถหาข้อตกลงได้เนื่องจากฝ่ายรีพลับลิกันมีนโยบายสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าวโดยมีเงื่อนไขว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องตัดลดงบประมาณค่าใช้จ่ายลงในขณะที่ฝ่ายทำเนียบขาวกลับต้องการให้เพิ่มระดับเพดานหนี้สาธารณะโดยปราศจากเงื่อนไขดังที่เคยปฎิบัติมาแล้วสามครั้งในช่วงรัฐบาลก่อนหน้านี้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวหากลากยาวไปอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่กำลังได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยในตลาดอยู่แล้วและอาจจะรุนแรงถึงขั้นก่อให้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจได้ในอนาคต

ทั้งนี้ หากพิจารณาในรายละเอียดแม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นสหรัฐฯ โดยก่อนหน้านี้ได้เคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะคล้ายๆ กันมาแล้วในช่วงรัฐบาลประธานาธิบดีบิล คลินตันเมื่อปี 2538 และประธานาธิบดีบารัค โอบามาเมื่อ    ปี 2556 แต่เหตุการณ์ครั้งนี้กลับแตกต่างออกไปจากสองครั้งที่ผ่านมาของสหรัฐฯ เนื่องจากฝ่ายทำเนียบขาวเองที่ไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขของฝ่ายรีพลับลิกันจึงทำให้ไม่สามารถพิจารณาผ่านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวได้

ดังนั้น จึงตกเป็นภาระหนักของประธานาธิบดีในการกำหนดท่าทีต่อปัญหาดังกล่าวเนื่องจากหากยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวก็จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโนบายด้านพลังงานสะอาดซึ่งเป็นนโนบายสำคัญของพรรคเดโมเครตในขณะที่หากปล่อยให้ปัญหาดังกล่าวยืดเยื้อก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และฐานเสียงของพรรค     เดโมเครตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงดังกล่าวที่กำลังเริ่มเข้าใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีหน้าด้วย

ปัจจัยด้านความเป็นไปได้ในการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนเป็นตัวแปรสำคัญที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบในตลาดในขณะนี้ทำให้สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับวิกฤติทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ได้หลังจากที่รอดพ้นวิกฤตอย่างฉิวเฉียดในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดที่ผ่านมาจากการดำเนินนโนบายกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล นอกจากนี้ ปัจจัยดังกล่าวยังอาจจะส่งผลกระทบต่อความต้องการบริโภคสินค้าและบริการในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าขนาดใหญ่ เช่น รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ทำให้ตลาดมีแนวโน้มหดตัวลงมากขึ้นได้

อีกทั้ง หากสหรัฐฯ ปล่อยให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ในเดือนมิถุนายนนี้จะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ ซึ่งนักลงทุนถือว่าเป็นการลงทุนที่แทบจะปราศจากความเสี่ยงทำให้ตลาดการลงทุนเปลี่ยนไป (Shifting) มีความเป็นไปได้ที่นักลงทุนในตลาดจะลดปริมาณการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และลดความต้องการเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะส่งผลทำให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในตลาด โดยปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลทำให้ราคาสินค้าและบริการนำเข้าจากต่างประเทศ ปรับตัวสูงขึ้นและอาจจะทำให้ผู้ประกอบการในตลาดพิจารณาลดปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการลงซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยได้เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดนำเข้าสินค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรพิจารณาติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในตลาดในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในชั้นนี้เชื่อว่า ความพยายามในการเจรจาของทั้งสองฝ่ายจะทำให้สหรัฐฯ สามารถบรรลุการเจรจาเพื่อผ่านร่างกฎหมายและจ่ายชำระหนี้ได้ทันตามกำหนดและไม่น่าจะส่งผลกระทบรุนแรงจนก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจตามที่หลายฝ่ายกังวล

สำนักข่าว NBC

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login