สรุปสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนมิถุนายนและไตรมาสที่ 2 ของปี 2564
ภาพรวม
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิถุนายน 2564 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสำคัญจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปา รวมถึงอาหารสดบางประเภทมีราคาลดลง ขณะที่ราคาสินค้ากลุ่มพลังงานยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่ชะลอลง
ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมิถุนายน 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 1.25 (YoY) ชะลอตัวลงจากร้อยละ 2.44 ในเดือนก่อนหน้า เป็นผลจากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มพลังงานที่ขยายตัวร้อยละ 8.95 และการสูงขึ้นของอาหารสดบางประเภท โดยเฉพาะ เนื้อสุกร ไข่ไก่ ผลไม้สด และน้ำมันพืช ขณะที่มาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปา และการลดลงของอาหารสดบางประเภท โดยเฉพาะข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และผักสด เป็นปัจจัยทอนที่ส่งผลให้เงินเฟ้อในเดือนนี้ชะลอตัว สำหรับสินค้าในหมวดอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ สอดคล้องกับปริมาณผลผลิตและความต้องการในช่วงสถานการณ์ที่ยังมีการระบาดของโควิด-19
ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อหักอาหารสด และพลังงานออกแล้ว (เงินเฟ้อพื้นฐาน) ขยายตัวร้อยละ 0.52 (YoY) ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.49 ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2564 สูงขึ้นร้อยละ 0.38 (MoM) เฉลี่ยไตรมาสที่ 2 ปี 2564 สูงขึ้นร้อยละ 2.36 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.74 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเฉลี่ย 6 เดือน (ม.ค.- มิ.ย.) ปี 2564 สูงขึ้นร้อยละ 0.89 (AoA)
การขยายตัวของเงินเฟ้อในเดือนนี้ นอกจากปัจจัยด้านพลังงานและอาหารสดบางชนิดแล้ว ยังมีสัญญาณที่ชี้ว่าความต้องการสินค้าหลายชนิดเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกและนำเข้า อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ดัชนีราคาผู้ผลิต มูลค่าการส่งออก อัตราการใช้กำลังการผลิต ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า และยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์และรถจักรยานยนต์ ขณะที่รายได้เกษตรกรก็ยังคงขยายตัวได้ อย่างต่อเนื่องตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิด
แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2564
แนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ยังคงได้รับอิทธิพลจากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัวในหลายประเทศ ส่งผลดีต่อการส่งออกและภาคการผลิตที่ต่อเนื่องกับการส่งออก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปียังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19ในประเทศยังเป็นข้อจำกัดที่ชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลต่อรายได้และการบริโภคโดยรวม ประกอบกับโอกาสที่ภาครัฐจะมีการใช้หรือขยายมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐอีกครั้ง โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาทำให้อัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อดังกล่าว จะเคลื่อนไหวในกรอบที่จำกัดและไม่เกินกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคาร แห่งประเทศไทยที่ร้อยละ 1.0 – 3.0
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับสมมติฐานการประมาณการเงินเฟ้อเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยราคาน้ำมันดิบดูไบจะเคลื่อนไหวในช่วง 60 – 70 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนจะเคลื่อนไหวในช่วง 30 – 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ และอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) จะอยู่ที่ร้อยละ 1.5 – 2.5 คาดว่าเงินเฟ้อ ทั้งปี 2564 จะอยู่ในกรอบร้อยละ 0.7–1.7 (ค่ากลางอยู่ที่ +1.2) ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง
อ่านรายละเอียดฉบับเต็ม: click
ที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)