หน้าแรกTrade insightข้าว > สถานการณ์ธัญพืชในช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2566 ในจีน

สถานการณ์ธัญพืชในช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2566 ในจีน

ธัญพืชในประเทศจีน แบ่งออกเป็นช่วงเก็บเกี่ยวฤดูร้อน และฤดูใบไม้ร่วง โดยที่ผ่านมาในประเทศจีนมีการเก็บเกี่ยวธัญพืชในฤดูร้อนแล้ว ในส่วนของข้าวเปลือกมีการเก็บเกี่ยวแล้วกว่าร้อยละ 70 ของผลผลิตในฤดูการแรก คาดว่าในช่วงเก็บเกี่ยวทั้งหมดจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปริมาณผลผลิตธัญพืชทั่งหมดในช่วงเก็บเกี่ยวฤดูร้อน ปี 2566 อยู่ที่ 146.13 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนหน้า 1.22 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 0.9 YoY โดยมีผลผลิตข้าวสาลีอยู่ที่ 134.53 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 0.9 YoY ปริมาณผลผลิตธัญพืชในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ลดลงเล็กน้อย แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง ยังคงมีความเสถียรภาพ สาเหตุหลักที่ผลผลิตธัญพืชในช่วงเก็บเกี่ยวฤดูร้อนที่ลดลง ส่วนใหญ่มาจากผลกระทบจากสภาพอากาศเป็นหลัก โดยมีฝนตกชุกหนักในมณฑลเหอหนาน และมณฑลส่านซี ที่ตรงกับช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวข้าวสาลี นอกจากนี้ ฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ยังแห้งแล้งอย่างต่อเนื่อง ผลผลิตธัญพืชฤดูร้อนในมณฑลยูนนาน กุ้ยโจวและสถานที่อื่น ๆ ลดลง อย่างไรก็ตาม ในมณฑลผู้ผลิตหลักอื่น ๆ เช่น ซานตง อันฮุย เหอเป่ย และเจียงซู มีผลกระทบเพียงเล็กน้อย และผลผลิตธัญพืชในฤดูร้อนยังคงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ปริมาณการเก็บเกี่ยวผลผลิตธัญพืชและข้าวเปลือกในฤดูร้อน คิดเป็นเพียง 1 ใน 4 ของผลผลิตทั้งปี ซึ่งปริมาณผลผลิตรวมทั้งปีจะมากน้อยเพียงใด ยังคงต้องติดตามผลการเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูใบไม้ร่วง

จากปริมาณผลผลิตทางการเกษตรโดยรวมของประเทศจีน ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ผลิตภัณฑ์สินค้าทางการเกษตรในประเทศจีนยังคงมีเพียงพอ ราคามีการปรับขึ้นก่อนจะลดลง ความผันผวนทางด้านราคาโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ปกติ เมื่อพิจารณาจากด้านราคาของธัญพืชสามประเภทหลัก ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวสาลี และข้าวโพด โดยรวมยังคงเสถียรภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์และอุปทานของข้าวเปลือกมีความสมดุล และราคาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อุปทานในตลาดข้าวสาลียังคงทรงตัว ราคาปรับตัวลดลงในระดับสูง และการบริโภคข้าวโพดที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์มีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ราคาข้าวโพดมีการปรับเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ราคารับซื้อข้าวเปลือกเฉลี่ยอยู่ที่ 1.39 หยวนต่อครึ่งกิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 YoY ราคาขายส่งข้าวสาลีเฉลี่ยอยู่ที่ 1.48 หยวนต่อครึ่งกิโลกรัม ลดลงร้อยละ 3.7 YoY และราคาขายส่งข้าวโพดเฉลี่ยอยู่ที่ 1.35 หยวนต่อครึ่งกิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 YoY

จากสถิติศุลกากรจีน แสดงให้เห็นว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน 2566 ประเทศจีนนำเข้าธัญพืชจำนวน 15.20 ล้านต้น คิดเป็นมูลค่า 55,140 ล้านหยวน และในช่วงมกราคม-มิถุนายน 2566 จีนนำเข้าธัญพืชรวมทั้งสิ้น 83.40 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 YoY คิดเป็นมูลค่า 313,230 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 YoY ในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม จีนนำเข้าข้าวสะสม 1.64 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 43.64 YoY โดยในเดือนพฤษภาคม จีนนำเข้าข้าวจากประเทศเวียดนามปริมาณสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งที่ 159,100 ตัน รองลงคือ อินเดีย (ปริมาณนำเข้า 29,900 ตัน) ไทย (ปริมาณนำเข้า 25,900 ตัน)  ปากีสถาน (ปริมาณนำเข้า 22,100 ตัน) และกัมพูชา (ปริมาณนำเข้า 16,900 ตัน) ตามลำดับ

ด้านการส่งออก ในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566 จีนมีปริมาณส่งออกธัญพืชรวมทั้งสิ้น 730,000 ตัน ลดลงร้อยละ 30.1 YoY คิดเป็นมูลค่า 575.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 12.9 YoY  โดยมีปริมาณการส่งออกข้าวสะสมของจีนอยู่ที่ 400,000 ตัน ลดลงจากปีก่อนหน้า 330,000 ตัน

ด้านนโยบาย

เพื่อรับประกันความมั่งคงทางอาหารในประเทศ และการปรับปรุงนโยบายด้านราคาข้าวให้มีความเสถียรภาพมากขึ้น ในปี 2566 ยังคงมีการจำกัดปริมาณรับซื้อราคาข้าวเปลือกขั้นต่ำ โดยมีนโยบายเกี่ยวข้องหลัก ๆ ดังนี้

1.จากปริมาณการรับซื้อราคาข้าวเปลือกขั้นต่ำ ในปี 2566 มีการจำกัดปริมาณการรับซื้อข้าวเปลือกขั้นต่ำที่ 50 ล้านตัน (ข้าวเม็ดยาว 20 ล้านต้น และข้าวเมล็ดสั้น 30 ล้านตัน) โดยแบ่งล็อตแรก 45 ล้านตัน (ข้าวอินดิกา 18 ล้านตัน ข้าวจาปอนิกา 27 ล้านตัน) ไม่จัดสรรถึงมณฑล และล็อตที่ 2 จำนวน 5 ล้านตัน (ข้าวอินดิกา 2 ล้านตัน,ข้าวจาปอนิกา 3 ล้านตัน) จัดสรรถึงมณฑลตามความต้องการ

  1. เสริมสร้างการตรวจสอบทางสถิติและรายงานความคืบหน้าปริมาณสินค้าเชิงรุก เพื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถดำเนินการวิจัยแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
  2. เสริมสร้างกำกับดูแลตลาด สร้างมาตรฐานระเบียบของตลาดการหมุนเวียนธัญพืช ตรวจสอบและจัดการกับการละเมิดกฎหมายและข้อบังคับอย่างเคร่งครัดในกระบวนการซื้อและจัดเก็บธัญพืช
  3. ปรับปรุงระบบการควบคุมดูแลรายได้ของเกษตรกรเพาะปลูกให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น
  4. คิดค้นแหล่งการผลิตใหม่ของระบบอาหารให้หลากหลายมากขึ้น
  5. สร้างระบบการตรวจสอบที่เข้มงวดเพื่อควบคุมดูแลระเบียบของความปลอดภัยของธัญพืช
  6. ฟื้นฟูความเจริญของชนบทด้วยบุคลากร ทรัพยากร และงบประมาณที่พอเพียง
  7. พัฒนาเกษตรกรรมด้วยการปฏิรูปและเทคโนโลยีที่ทันสมัย

ในปีนี้สภาพอากาศที่เปลี่ยนโดยรวมยังถือว่ายังอยู่ในระดับที่รับมือได้ บางพื้นที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นเล็กน้อย แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกมากนัก ข้าวบางส่วนถูกกระจายออกสู่ตลาด และกำลังทยอยกระจายเพิ่มมากขึ้น อุปทานมีความเพียงพอ แต่ความต้องการยังคงไม่สูงมากนัก หากจะปรับราคาขึ้นยังคงเป็นอุปสรรค ผู้ประกอบการด้านข้าวในประเทศยังคงมีความกังวลและไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน

ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : ธัญพืชเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงทางการตลาด เนื่องจากเป็นส่วนประกอบสำคัญของปศุสัตว์ตลอดจนอาหารมนุษย์ เป็นสินค้าที่มีความต้องการบริโภคอยู่ตลอดเวลา ซึ่งความมั่นคงด้านอาหารเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่จีนให้ความสำคัญมาโดยตลอด นอกจากนี้ จีนยังคงยืนยันไม่มีการกักตุนอาหาร และภาคการผลิตเพียงพอในการบริโภค ที่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในประเทศ

ข้อมูลสถิติประมวลโดย Global Trade Atlas ระบุว่า เดือนมกราคม – มิถุนายน ปี 2566 จีนนำเข้าข้าว (HS Code 1006 : Rice) รวมทั้งสิ้น 1.79 ล้านตัน (ลดลงร้อยละ 49.75 YoY)  มีมูลค่า 933 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลงร้อยละ 37.32 YoY) โดยจีนนำเข้าข้าวจากประเทศเวียดนามปริมาณสูงสุด 688,225 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 38.43 ของปริมาณการนำเข้าข้าวทั้งหมดของจีน) รองลงมาคือประเทศพม่าปริมาณนำเข้า 378,310 (คิดเป็น21.13%) ซึ่งไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 3 มีปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ 216,354 ตัน (ลดลงละ 40.29 YoY) คิดเป็นมูลค่า 135 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลงร้อยละ 33.44 YoY ) คิดเป็นร้อยละ 14.43 ของมูลค่าการนำเข้าข้าวทั้งหมดของจีน อันดับที่ 4 คือ อินเดีย มีปริมาณนำเข้า 212,717 ตัน (ลดลงร้อยละ 82.69 YoY) และ อันดับ 5 ปากีสถาน มีปริมารนำเข้า 145,793 ต้น (ลดลงร้อยละ 84.03 YoY) โดยมีข้อสังเกตว่า 6 เดือนแรกของปี 2566 จีนนำเข้าข้าวในภาพรวมลดลงร้อยละ 49.75 โดยในแหล่งนำเข้า 5 อันดับแรก จีนนำเข้าลดลงทั้งสิ้น ยกเว้น นำเข้าจากเวียดนามมีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 56.55 ซึ่งจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หลังจากเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ที่ผ่านมา อินเดียประกาศห้ามส่งออกข้าวขาว ที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ จากความกังวลความมั่นคงการบริโภคภายในประเทศที่อาจไม่เพียงพอ เนื่องจากผลผลิตเสียหายจากมรสุม ทำให้ราคาขายเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ เป็นประเด็นที่น่าจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอินเดียเป็นผู้ส่งออกข้าวปริมาณมากที่สุดของโลก โดยปี 2565 อินเดียส่งออกข้าวไปทั่วโลกปริมาณสูงถึง 22.24 ล้านตัน รองลงมาได้แก่เวียดนาม จำนวน 4.85 ล้านตัน และไทยเป็นอันดับ 3 ส่งออกมูลค่า 7.695 ล้านตันไปทั่วโลก ทั้งนี้ มณฑลกว่างตงมีการนำเข้าข้าวมากที่สุด (คิดเป็น 40.23% ของการนำเข้าทั้งหมด) รองลงมาคือกรุงปักกิ่ง (31.74%) มณฑลยูนหนาน (6%) มณฑลฝูเจี้ยน (5.94%)  และ มณฑลอันฮุย (3.09%) ตามลำดับ

ที่มา:

http://finance.people.com.cn/n1/2023/0721/c1004-40041020.html

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1771537287653460501&wfr=spider&for=pc

https://www.gov.cn/govweb/lianbo/fabu/202307/content_6891730.htm

https://finance.sina.com.cn/money/future/agri/2023-07-09/doc-imyzzuex6483342.shtml

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1770350655507527827&wfr=spider&for=pc

http://admin.screnhe.gov.cn/zwgk/tzgg/4477345.shtml

เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

4 สิงหาคม 2566

Login