หน้าแรกTrade insightข้าว > สคต. เซี่ยเหมินจับมือผู้นำเข้าข้าว ส่งต่อข้าวหอมมะลิไทย สู่หมื่นครอบครัว ฉลองตรุษจีนอย่างอบอุ่น

สคต. เซี่ยเหมินจับมือผู้นำเข้าข้าว ส่งต่อข้าวหอมมะลิไทย สู่หมื่นครอบครัว ฉลองตรุษจีนอย่างอบอุ่น

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน และ บริษัท Xiamen Mifeng C&O Trading จำกัด ผู้นำเข้าข้าวไทย ยี่ห้อ กระต่ายทอง (Golden Rabbit) ซึ่งได้รับความร่วมมือที่ดีจากหน่วยงานภาครัฐจีน ได้แก่ CCPIT Fujian CCPIT Yongtai  สภากาชาดมณฑลฝูเจี้ยน สภากาชาดอำเภอหย่งไท่ จัดกิจกรรมเพื่อสังคมบริจาคข้าวหอมมะลิไทย จำนวน 10 ตัน ภายใต้ธีม “ส่งต่อความรักสู่หมื่นครอบครัว ฉลองตรุษจีนอย่างอบอุ่น” ณ Bo Ai Yi Zhan สภากาชาดอำเภอหย่งไท่ ให้แก่ตัวแทนครอบครัวผู้ประสบภัยธรรมชาติ และผู้ยากไร้ในตำบลจางเฉิง และตำบลเฉิงเฟิง โดยมีชาวบ้านจำนวน 20 ครัวเรือนเป็นตัวแทนขึ้นรับมอบสิ่งของ นอกจากนี้ ยังได้จัดสรรกระจายข้าว ให้กับอีกหลายครัวเรือนในหมู่บ้านต่าง ๆ ในตำบลจางเฉิง และตำบลเฉิงเฟิง ถือเป็นโอกาสในการแบ่งปันหอมมะลิไทยฤดูกาลใหม่ให้แก่ชาวบ้านได้ลิ้มรส โดยเฉพาะในโอกาสปีใหม่ของจีนที่กำลังจะมาถึงนี้ ในส่วนข้าวหนึ่งส่วนได้มอบให้กับสภากาชาดมณฑลฝูเจี้ยน เพื่อนำไปการกระจายและจัดสรรแก่ชาวบ้านที่ขาดแคลนรายได้ หรือมีรายได้น้อยในหมู่บ้านอื่น ๆ ต่อไป

 

 

นางสาวนันท์นภัส งามแม้น ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมินได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมินได้รับการสนับสนุนจากบริษัท Xiamen Mifeng C&O Trading จำกัด ร่วมกันจัดกิจกรรมบริจาคข้าวหอมมะลิไทยติดต่อกันปีนี้เป็นครั้งที่ 12 และยังได้เปิดเผยตัวเลขนำเข้าข้าวจากไทย ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวสำคัญ 3 อันดับแรกของโลก โดยใน 11 เดือนแรกของปี 2566 ไทยส่งออกข้าวไปทั่วโลกรวมทั้งสิ้นกว่า 7.95 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และจีนนำเข้าข้าวทั้งสิ้น 2.37 ล้านตัน เป็นการนำเข้าจากไทย 353,261 ตัน มูลค่านำเข้าคิดเป็น 216 ล้านเหรียญสหรัฐ  ทั้งนี้ เมื่อดูจากปริมาณการนำเข้าแล้ว ไทยเป็นแหล่งนำเข้าข้าวที่ใหญ่อันดับที่ 3 ของจีน รองลงจากเวียดนามและเมียนมา นอกจากนี้ ยังได้แบ่งปัน วิธีเลือกข้าวหอมมะลิไทยแท้ที่นำเข้าแบบบรรจุทั้งถุงจากไทย เพื่อให้วางใจว่าได้รับประทานข้าวหอมมะลิไทยแท้ๆ คุณภาพพรีเมี่ยม โดยได้แนะนำตราสัญลักษณ์รวงข้าวสีเขียว จากกรมการค้าต่างประเทศ และวิธีการดูบาร์โค้ดของสินค้า เป็นต้น ทำให้ผู้เข้าร่วมงานได้รู้จักวิธีเลือกซื้อข้าวหอมมะลิไทย มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถเลือกซื้อข้าวไทยพรีเมี่ยมได้ในกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทยซึ่งสคต.เซี่ยเหมินได้ร่วมมือกับซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งออฟไลน์และแพลตฟอร์มออนไลน์

 

การบริจาคข้าวในครั้งนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นถึงการสร้างมิตรภาพระหว่างไทยจีนเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมการยกจิตวิญญาณ เสริมสร้างการแบ่งปันและการอุทิศตน ส่งความอบอุ่นและความห่วงใยจากทุกภาคส่วนของสังคม อันเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ที่เป็นอำนาจในการชักจูงหรือโน้มน้าวผู้คนในประเทศอื่นๆ ให้ปฏิบัติตาม หรือ ใช้ของนั้นๆ ด้วยการสร้างสินค้า ภาพลักษณ์ หรือความชื่นชมการใช้อิทธิพลการให้คุณค่าทางสังคม แบ่งปันน้ำใจและความเป็นเพื่อนมนุษย์

 

ตำบลหยงไท่ เมืองฝูโจว ตั้งอยู่ทางตอนกลางของมณฑลฝูเจี้ยน และอยู่ในตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองฝูโจว มีพื้นที่ 2,229.86 ตารางกิโลเมตร จำนวนประชากรประมาณ 281,000 คน สถิติจากเว็บไซต์รัฐบาลอำเภอหย่งไท่ ระบุว่า ในปี 2566 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของตำบลหย่งไท่อยู่ที่ 38,440 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 YoY  องค์ประกอบทางเศรษฐกิจตำบลหย่งไท่ มีพื้นฐานสำคัญจากภาคอุตสาหกรรม (Secondary Industry) คิดเป็นมูลค่า 20,720 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 YoY ภาคบริการ (Tertiary Industry) คิดเป็นมูลค่า 10,710 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 2.3 YoY และ ในส่วนของภาคการเกษตร (Primary Industry) มีบทบาทต่ำสุด มีมูลค่า 7,010 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 YoY รายได้เฉลี่ยตัวของชาวเมืองอยู่ที่ 41,363 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 YoY และรายได้เฉลี่ยตัวของคนในชนบทอยู่ที่ 21,401 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 YoY

 

ตำบลหย่งไท่มีการเน้นด้านอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมไม้ไผ่ ไม้เถาวัลย์สาน อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ และอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสิ่งทอ เป็นหลัก ผลิตภัณฑ์เด่นของตำบล ส่วนใหญ่เป็นผลไม้แช่อิ่ม (อาทิ บ๊วย ลูกพลัม ลูกพลับ ลูกพรุนแห้ง เป็นต้น ซึ่งลูกพลัมสีแดงอบแห้งของตำบลหย่งไท่ เคยได้รับให้เป็น “สินค้าเกษตรแบรนด์ดังของมณฑลฝูเจี้ยน” นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์จำพวกเห็ด ชาเขียว ชาน้ำมัน (Camellia oleifera) เหล้าหมักปรุงอาหาร ไม้ไผ่สาน ไม้คอร์ก (Cork Wood) แกะสลัก และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของตำบลยังติดอันดับ 1 ใน 100 ของอำเภอที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของจีน โดยได้รับเลือกให้เป็น “สถานที่ต้นแบบในด้านบูรณาการวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว” ของจีน โดยตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2566 อําเภอหย่งไท่ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งหมด 9.45 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.9 YoY มีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมประมาณ 5,195 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.5 YoY และ จากการหารือกับ รองปลัดอำเภอหย่งไท่ และ CCPIT หย่งไท่ เห็นว่าเมืองหย่งไท่ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชาวจีนที่ได้รับความนิยมในการมาแช่น้ำร้อน และจะมีการจัดเทศกาลท่องเที่ยวเป็นประจำทุกปี ได้แสดงความสนใจการจัดเทศกาลอาหารไทยในเมืองหย่งไท่ ซึ่งเมืองหย่งไท่เป็นเมืองรองขนาดเล็ก อาหารไทยยังไม่เป็นที่รู้จักสำหรับประชาชนในเมือง จึงยังมีช่องว่างที่จะเปิดตลาดอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดเมืองรอง

 

      ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : การจัดกิจกรรมบริจาคข้าว นอกจากเป็นกิจกรรมตอบแทนสังคม ยังเป็นโอกาสประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่ดีของข้าวไทยไปยังพื้นที่ที่ยังไม่ค่อยรู้จักข้าวไทย ตามยุทธศาสตร์กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เจาะตลาดเมืองรอง ส่งเสริมการรับรู้ด้านข้าวไทยในวงกว้าง นับเป็นโอกาสในการขยายช่องทางการกระจายสินค้าข้าวของไทย รวมถึงเป็นการกระชับความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำเข้าข้าวรายสำคัญ

 

จากการสอบถามผู้นำเข้าข้าว บริษัท Xiamen Mifeng C&O Trading จำกัด ถึงสถานการณ์การนำเข้าข้าวในปี 2566 ที่ผ่านมา พบว่า บริษัทนำเข้าข้าวไทยอยู่ที่ 5,000 ตัน ซึ่งปริมาณการนำเข้าน้อยลดลงจากปี 2565 เนื่องจากได้รับผลกระทบทางด้านราคาที่ปรับสูงขึ้น แต่ออย่างไรก็ตาม อัตราค่าบริการด้านการขนส่งมีการปรับตัวลง บวกกับราคาข้าวปี 2567 ก็ปรับลดลงจากปีก่อนหน้า คาดว่า ในปี 2567 จะมีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น คาดว่าปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 6,000 – 7,000 ตัน ทั้งนี้ บริษัทแจ้งว่า ข้าวล็อตแรกของปี 2567 จะมาถึงท่าเรือเร็วกว่ากำหนดถึง 2 เดือน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการกระจายสินค้าภายในประเทศได้เร็วขึ้น

 

ข้อมูลสถิติประมวลโดย Global Trade Atlas ระบุว่า ปี 2566 จีนนำเข้าข้าว (HS Code 1006 : Rice) รวมทั้งสิ้น 2.60 ล้านตัน (ลดลงร้อยละ 57.82 YoY)  มีมูลค่า 1,407.58 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลงร้อยละ 46.32 YoY) โดยจีนนำเข้าข้าวจากประเทศเวียดนามปริมาณสูงสุด (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36 ของปริมาณการนำเข้าข้าวทั้งหมดของจีน) รองลงมาคือประเทศพม่า (20.82%) ตามลำดับ ซึ่งไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 3 มีปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ 461,671 ตัน (ลดลงร้อยละ 39.85 YoY) คิดเป็นมูลค่า 298.38 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลงร้อยละ 28.95 YoY ) คิดเป็นร้อยละ 21.20 ของมูลค่าการนำเข้าข้าวทั้งหมดของจีน ทั้งนี้ มณฑลกว่างตงมีการนำเข้าข้าวจากไทยปริมาณมากที่สุด (คิดเป็น 41.05% ของปริมาณการนำเข้าข้าวทั้งหมด) รองลงมาคือกรุงปักกิ่ง (25.92%) มณฑลหยูนหนาน (10.36%) มณฑลฝูเจี้ยน (6.18%) และ มณฑลอันฮุย (5.51%) ตามลำดับ

 

                    ที่มา

https://www.iimedia.cn/c400/96795.html

เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

26 มกราคม

อ่านข่าวฉบับเต็ม : สคต. เซี่ยเหมินจับมือผู้นำเข้าข้าว ส่งต่อข้าวหอมมะลิไทย สู่หมื่นครอบครัว ฉลองตรุษจีนอย่างอบอุ่น

Login