เครื่องดื่มเสริมอาหาร (Functional Drinks) คือ ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ที่มีการเติมสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเพิ่มเติมเข้าไปจากการกินดื่มในแต่ละวัน เพื่อที่จะลดความเสี่ยง หรือป้องกัน หรือชะลอ การเกิดโรคต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น (ที่มา : https://www.fit-biz.com/functional-drinks.html) Functional Drink กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก ข้อมูลจาก Precedence Research ระบุว่า ในปี 2565-2573 คาดว่า มูลค่าของตลาดเครื่องดื่มเสริมอาหารทั่วโลกสูงถึง 129,300 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึงร้อยละ 8.94 โดยมีตลาดอเมริกาเหนือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ตลาดเครื่องดื่มเสริมอาหารในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเป็นตลาดศักยภาพที่น่าจับตามอง โดยร้อยละ 20 ของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเสริมอาหารที่ไม่มีแอลกอฮอล์ชนิดใหม่ถูกผลิตในประเทศแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
ในปี 2564 ขนาดของตลาดเครื่องดื่มเสริมอาหาร (Functional Drink) ในประเทศจีนอยู่ที่ 140,270 ล้านหยวน จากรายงาน Frost Sullivan’s ปัจจุบัน ตลาดเครื่องดื่มเสริมอาหารมีอัตราการเติบโตเป็นอันดับที่ 2 ของตลาดเครื่องดื่มทั้งหมดในประเทศ ผู้บริโภคนิยมดื่มเครื่องดื่มเสริมอาหาร มากกว่าเครื่องดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มน้ำผลไม้ ในมุมมองของประเภทเครื่องดื่มเสริมอาหารในประเทศจีน จะเน้นไปที่เครื่องดื่มบำรุงกำลัง และเครื่องดื่มเกลือแร่ที่ให้ความสดชื่น โดยในปี 2564 เครื่องดื่มบำรุงกำลังครองส่วนแบบในตลาดสูง คิดเป็นร้อยละ 55 ของประเภทเครื่องดื่มเสริมอาหารทั้งหมด
แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน เครื่องดื่มเสริมอาหารถูกครอบงำโดยเครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มเกลือแร่ กำลังถูกเปลี่ยนไปให้มีฟังก์ชันใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเน้นไปที่การดูแลด้านสุขภาพในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สุขภาพลำไส้ การควบคุมน้ำหนัก และเสริมสร้างการนอนหลับที่ดี เป็นต้น ผู้บริโภคในปัจจุบัน ไม่ได้มองหาเครื่องดื่มเสริมอาหารในแบบเดิมอีกต่อไป จากการยกระดับการบริโภคของผู้คนในประเทศ ส่งผลให้เทรนด์ความต้องการบริโภคสินค้าเพื่อสุขภาพของผู้คนมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และเครื่องดื่มเสริมอาหารเกิดการขยายตัวในตลาดเพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2565 ขนาดตลาดค้าปลีกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในประเทศสูงถึง 200,100 ล้านหยวน และขนาดตลาดค้าปลีกผลิตภัณฑ์บำรุงกำลังแบบดั้งเดิมอยู่ที่ 114,400 ล้านหยวน อัตราการเติบโตแบบทบต้น (CAGR) ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 8 ต่อปี
จากรายงาน “แนวโน้มและความคาดหวังของผู้บริโภคต่อเครื่องดื่มในปี 2566” ระบุว่า หลังจากผ่านช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ผู้บริโภคกว่าร้อยละ 81 ยินดียอมจ่ายในสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเสริมอาหารเพิ่มมากขึ้น การเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน สร้างสุขภาพลำไส้ บรรเทาความเครียดปรับปรุงการนอนหลับ บำรุงสายตา ควบคุมน้ำหนัก และเสริมสร้างความงาม ล้วนเป็น 6 หน้าที่หลักที่ผู้บริโภคคาดหวังจากเครื่องดื่ม แต่อย่างไรก็ตาม การบริโภคเครื่องดื่มเสริมอาหารต่อหัวในจีน ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีพื้นที่พัฒนาเครื่องดื่มเสริมอาหารในประเทศอีกมาก
ในตลาดจีน ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเสริมอาหารหลายชนิด ได้เน้นผลิตภัณฑ์ไปในด้านเสริมสร้างพลังงานหลังจากการออกกำลังกาย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เครื่องดื่มอิเล็กโทรไลต์กลายเป็นหมวดหมู่เครื่องดื่มเสริมอาหารที่มีการเติบโตเร็วที่สุด เครื่องดื่มอิเล็กโทรไลต์จากแบรนด์ในประเทศอย่าง Alienergy เข้าสู่ตลาดได้เพียง 2 ปี ก็สามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดสูงถึง 1,000 ล้านหยวน แบรนด์มีการเปิดตัวเครื่องดื่มอิเล็กโทรไลต์น้ำตาล 0% แคลอรี่ 0% และยังเสริมสร้างเส้นใยอาหาร ที่ตรงกับความต้องการบริโภคเครื่องดื่มชูกำลังสำหรับผู้หญิงอีกด้วย
ส่วนผสมในเครื่องดื่มเสริมอาหารที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ ได้แก่ คอลลาเจน แอปเปิ้ลไซเดอร์ โปรไบโอติก โอเมก้า 3 และวิตามิน D เป็นต้น ซึ่งส่วนผสมเหล่านี้ มันผูกพันกับการทำงานของภูมิคุ้มกัน สารต้านอนุมูลอิสระ และการเสริมโภชนาการ ตัวอย่างแบรนด์เครื่องดื่มในประเทศออสเตรเลีย Suja Juice ที่เปิดตัวผสมผสานน้ำผลไม้เข้ากับสมุนไพรต่าง ที่สามารถเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน แบรนด์กาแฟ UCC เปิดตัว Coffee Latte ผสมผสานโปรไบโอติก เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมที่ให้ประโยชน์ มักจะได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคสูงกว่า
เครื่องดื่มแบรนด์ Suja Juice เครื่องดื่มแบรนด์ Alienergy
มิติความสนใจของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเสริมอาหารค่อนข้างซับซ้อน ลำดับความกังวลของผู้บริโภค มักจะเริ่มจาก ควรดื่มในจังหวะ หรือสถานการณ์ในรูปแบบไหน รองลงมาคือ สินค้าเหมาะกับกลุ่มผู้บริโภคใด รสชาติ เทคโนโลยี วัตถุดิบ และประสิทธิภาพของสินค้า ตามลำดับ จะเห็นได้ชัดว่าผู้บริโภคให้ความสำคัญกับฉากในการบริโภคเป็นอย่างมาก ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเสริมอาหารจึงจำเป็นต้องให้ความชัดเจน ด้านจังหวะและสถานการณ์ในการบริโภคที่เหมาะสมที่สุด อาทิ ควรดื่มหลังออกกำลังกาย ตอนเสียเหงื่อมาก หรือควรดื่มหลังจากการรับประทานอาหารแบบหนักหน่วงมา เป็นต้น การสร้างฉากบริโภคที่ชัดเจนจะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กลยุทธ์ของแบรนด์เครื่องดื่มเสริมอาหารในตลาดปัจจุบัน คือการสร้างความน่าเชื่อถือ และการรับรองอย่างมืออาชีพ อาทิ ได้การรับรองทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ มีวัตถุดิบและส่วนประกอบจากธรรมชาติที่ผ่านการตรวจสอบคุณประโยชน์ เป็นต้น ฟังก์ชันการทำงานเหล่านี้ จะสามารถช่วยภาพลักษณ์ที่ดี ยกระดับ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้มากยิ่งขึ้น
ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : อัตราการบริโภคเครื่องดื่มเสริมอาหารในประเทศจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าในปีค.ศ. 2025 ตลาดเครื่องดื่ม Functional Drink ของโลกจะมีขนาดถึง 173,230 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5.71 ล้านล้านบาท มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ร้อยละ 7 ปัจจุบัน การบริโภคเครื่องดื่มเสริมอาหารของผู้บริโภคชาวจีน ไม่ได้มีความต้องการเพียงแค่ เครื่องดื่มน้ำอัดลมปราศจากน้ำตาล เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มชา เครื่องดื่มนม และเครื่องดื่มที่มี น้ำตาลและแคลอรีต่ำ เพียงเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับฉาก สถานการณ์การบริโภคเป็นสำคัญ และการทำงานที่เฉพาะเจาะจง จึงจะสามารถดึงดูดความต้องการจากผู้บริโภคได้มากขึ้น นอกจากนี้ การพิจารณานำจุดเด่นด้านสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณเป็นบวกต่อสุขภาพมาเป็นส่วนผสมจะเป็นการเพิ่มโอกาสสินค้าได้อีกทางหนึ่ง
ที่มา:
https://mp.weixin.qq.com/s/HwN_e4MydBmQZ1jRLY77MA
เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
15 กันยายน 2566
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)