หน้าแรกTrade insightการลงทุนระหว่างประเทศ > วีซ่าเข้าสหรัฐฯ เพื่อวัตถุประสงค์ลงทุนทำธุรกิจ/การจ้างงานในธุรกิจที่ขาดแคลนแรงงาน

วีซ่าเข้าสหรัฐฯ เพื่อวัตถุประสงค์ลงทุนทำธุรกิจ/การจ้างงานในธุรกิจที่ขาดแคลนแรงงาน

ข้อมูลข้างล่างนี้ เป็นเพียงข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้นที่มาจากการสรุปข้อมูลจากเอกสารของภาครัฐบาลสหรัฐฯที่เกี่ยวข้องคือ U.S. Department of Homeland Security ที่ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยจำนวนมากที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายและไม่ถูกระบุไว้ในข้อมูลข้างต้น เป้าหมายของเอกสารนี้เพื่อบอกเล่าผู้สนใจถึงโปรแกรมวีซ่าของสหรัฐฯเพื่อใช้เป็นแนวทางในการค้นหาข้อมูลละเอียดสมบูรณ์เพิ่มเติมเท่านั้น ไม่สามารถถือได้ว่าเป็นข้อมูลถูกต้องสมบูรณ์ และไม่มีคุณสมบัติใดๆที่เข้าข่ายเป็นการให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย สคต ลอสแอนเจลิสแนะนำให้ผู้สนใจที่ต้องการได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ถูกต้องและคำปรึกษาด้านกฎหมายต้องติดต่อขอรับจากเจ้าหน้าที่และหรือนักกฎหมายที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

ข้อมูลล่าสุดในเดือนธันวาคม 2022 จัดทำโดย IMF ระบุว่า สหรัฐฯเป็นจุดหมายอันดับหนึ่งของการลงทุนต่างชาติ ในปี 2021

Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) คาดการณ์ในเดือนเมษายน 2023 ว่า แม้ว่าการลงทุนของต่างชาติทั่วโลกในปี 2022 จะลดลงร้อยละ 24 แต่สหรัฐฯ จะยังคงเป็นจุดหมายอันดับหนึ่งของการลงทุนจากต่างชาติในปีในปี 2022

การเติบโตของแนวโน้มการแสวงหาอุปทานสินค้าจากภายในสหรัฐฯและจากประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง การแข่งขันอย่างรุนแรงในตลาดการค้า และการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แรงงานในภาคธุรกิจบริการ เป็นเงื่อนไขที่ผู้ประกอบการไทยอาจนำไปพิจารณาความเป็นไปได้ในการลงทุนในสหรัฐฯที่จะช่วยสร้างโอกาสการเข้าถึงตลาดได้โดยรวดเร็วขึ้น อาจช่วยลดค่าใช้จ่ายในด้านโลจิกติกส์และห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงสามารถเข้าใจและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดีมากขึ้น เช่น การทำธุรกิจการผลิตหรือการประกอบสินค้า การเปิดสาขา การจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าของโรงงานทำธุรกิจนำเข้าส่งตรงเข้าสู่ผู้บริโภค และอื่นๆ หรือการลงทุนเปิดธุรกิจบริการที่เป็นลักษณะเฉพาะของไทย เช่น ร้านอาหาร สปา สถาบันสอน/สถานออกกำลังกายด้วยศิลปะมวยไทย เป็นต้น

สหรัฐฯมี incentives จำนวนมาก ทั้งในระดับรัฐบาลกลาง รัฐบาลมลรัฐ และรัฐบาลท้องถิ่น สำหรับสนับสนุนนักลงุทนต่างชาติ นอกจากนี้กฎหมายการเข้าเมืองสหรัฐฯยังเปิดโอกาสให้แก่การลงทุนในทุกระดับเงินทุน และแรงงานในทุกระดับความรู้
ลักษณะการลงทุนและการนำเข้าแรงงานต่างชาตินักลงทุนและนักธุรกิจไทยอาจพิจารณาใช้ประโยชน์ คือ
1. การลงทุนที่จะได้รับสถานภาพการเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรอย่างถูกกฎหมายในสหรัฐฯโดยอัตโนมัติ เป็นการลงทุนที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงและมีเงื่อนไขจำนวนมาก
2. การลงทุนเพื่อที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากและจะไม่ได้รับสถานภาพการเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรอย่างถูกกฎหมายในสหรัฐฯโดยอัตโนมัติ
3. แรงงานที่สามารถนำเข้าสหรัฐฯได้

EB-5 Visa หรือ Employment-based fifth preference
EB-5 Visa เป็นวีซ่าสำหรับนักธุรกิจประเภท immigrant investor ที่ต้องการเดินทางไปลงทุนทำธุรกิจในสหรัฐฯและสมัครขอรับสถานะภาพเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรถูกกฎหมายในสหร้ฐฯ (Green Card holder) สำหรับตนเองและคู่สมรสและบุตรที่มีอายุต่ำกว่า 21 ปีที่ยังไม่แต่งงาน

ในเดือนมีนาคม 2022 ฝ่ายบริหารรัฐบาลประธานาธิบดี Biden ออกกฎหมาย EB-5 Reform and Integrity Act ปฏิรูปโปรแกรม EB-5 Visa เปลี่ยนเงื่อนไขสำหรับนักลงทุนที่ยื่นขอวีซ่าหลังวันที่ 15 มีนาคม 2022 สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้ คือ

1. การลงทุนต้องเป็นลักษณะ capital investment ที่เป็นการนำเงินสดไปลงทุนซื้อสินทรัพย์ พัฒนาเทคโนโลยี่ ขยายการผลิต หรือสร้างสิ่งก่อสร้าง สร้างธุรกิจใหม่ (หมายถึงการเปิดธุรกิจใหม่อย่างถูกกฎหมาย) โดยต้องเป็นการลงทุนทำธุรกิจอย่างแท้จริงที่เป็น for-profit และ at-risk commercial enterprises คือจะนำมาซึ่งความเสี่ยงที่จะทำกำไรหรือขาดทุน และมีเป้าหมายเพื่อการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว สิ่งที่ไม่ถือเป็นการลงทุนสำหรับขอรับ EB-5 คือ การแสดงความตั้งใจจะลงทุน การซื้อหุ้นเพื่อรับเงินปันผล การดำเนินกิจกรรมใดๆที่ไม่ใช่เพื่อการค้า เช่น การซื้อและดูแลจัดการที่อยู่อาศัยส่วนตัว

2. ผู้ลงทุนต้องพิสูจน์ได้ว่าเป็นเจ้าของตามกฎหมายของธุรกิจที่ลงทุนและทำงานบริหารธุรกิจนั้นๆด้วยตนเอง

3. ผู้ลงทุนต้องพิสูจน์ว่าเงินทุนนั้นเป็นของตนเองอย่างแท้จริงและสามารถนำออกมาใช้ได้ทุกเมื่อที่ต้องการ และต้องมาจากแหล่งเงินและวิธีการได้มาที่ถูกกฎหมาย เงินลงทุนที่เป็นเงินกู้หรือที่ได้รับเป็นของขวัญ ต้องมีหลักฐานสนับสนุน เช่น เอกสารกู้เงินและหลักฐานแสดงว่านักลงทุนคือผู้รับผิดชอบหนี้ดังกล่าวแต่ผู้เดียว หรือเอกสารรับรองการให้เป็นของขวัญ เป็นต้น เงินลงทุนต้องถูกนำไปใช้ในการลงทุนได้นานไม่ต่ำกว่า 2 ปี

4. ธุรกิจที่ลงทุนต้องสร้างงาน โดยตรง (งานที่นักลงทุนเป็นผู้จ้างโดยตรง) หรือทางอ้อม (ธุรกิจอื่นที่การลงทุนเข้าไปทำธุรกิจด้วย/ใช้บริการ)

(4.1) ให้แก่แรงงานอเมริกันที่ถูกกฎหมายไม่ต่ำกว่า 10 คน แรงงานเหล่านี้ต้องคนสัญชาติอเมริกัน คนที่อยู่อาศัยถาวรอย่างถูกกฎหมายในสหรัฐฯ หรือผู้อพยพที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในสหรัฐฯได้ ทั้งนี้ ไม่นับรวมตัวนักลงทุน คู่สมรส บุตร คนที่ไม่มีสถานะเป็นผู้อพยพ เช่น คนที่ถือ H-1B Nonimmigrant Visa และคนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในสหรัฐฯ
(4.2) ต้องเป็นงานประจำถาวร (permanent) หมายถึงระยะเวลาจ้างงานไม่ต่ำกว่า 2 ปี การจ้างงานต้องเป็นการจ้างงานเต็มเวลา หมายถึง เวลาทำงานต่ำสุด 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ไม่นับรวมชั่วโมงการทำงานนอกเวลา (overtime)

5. วงเงินลงทุน
(5.1) ขั้นต่ำ 1,050,00 เหรียญฯ สำหรับการลงทุนในเมืองใหญ่
(5.2) เงินลงทุนขั้นต่ำ 800,000 เหรียญฯ สำหรับการลงทุน (รวมถึงการรับทำโปรเจคด้านโครงสร้าง – infrastructure project ที่บริหารจัดการโดยภาครัฐ) ในพื้นที่เป้าหมายที่รัฐบาลสหรัฐฯต้องการสร้างงาน (สหรัฐฯจะมีรายชื่อของพื้นที่นี้ให้นักลงทุนเลือก หรือนักลงทุนจะเลือกพื้นที่ของตนเองและขอให้รัฐบาลพิจารณาอนุมัติว่ามีคุณสมบัติเป็นพื้นที่เป้าหมายฯได้) หรือ Targeted Employment Area ที่ปกติแล้วหมายถึง พื้นที่ชนบทที่มีคนอยู่อาศัยไม่เกิน 20,000 คน หรือ พื้นที่ที่มีอัตราว่างงานสูง (อย่างน้อยในระดับร้อยละ 150 ของอัตราว่างงานเฉลี่ยของประเทศ)
(5.3) วงเงินลงทุนทั้งสองรายการนี้จะถูกปรับเปลี่ยนทุกๆ 5 ปี กำหนดเวลาปรับเปลี่ยนครั้งต่อไปในวันที่หรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2027

6. สหรัฐฯมีโควต้า EB-5 Visa รวม ปีงบประมาณละ 10,000 ราย (ปีงบประมาณ 1 ตุลาคม – 30 กันยายน) และกำหนดจำนวนโควต้าสำหรับเฉพาะแต่ละประเทศแตกต่างกันออกไป ปกติแล้วโควต้ารวมแต่ละปีจะไม่เต็ม ยกเว้นโควต้าเฉพาะประเทศที่อาจเต็ม สัดส่วนร้อยละของโควต้าในแต่ละปีงบประมาณ จัดสรรตามพื้นที่ลงทุน คือ พื้นที่ชนบท (20%) พื้นที่ที่มีอัตราว่างงานสูง (10%) infrastructure project (2%) การลงทุนในพื้นที่เหล่านี้จะได้รับการพิจารณาก่อนเป็นอันดับแรก

7. ระยะเวลาดำเนินการและค่าใช้จ่ายเพื่อสมัครขอรับ EB-5 Visa ขึ้นอยู่กับว่าผู้สมัครอยู่ในสหรัฐฯหรืออยู่นอกสหรัฐฯ และสถานที่ลงทุน

8. ผู้ลงทุนที่สมัครและได้รับ EB-5 Visa และต้องอยู่อาศัยในสหรัฐฯจริงเพื่อทำธุรกิจ หลังจากนั้นจึงจะสามารถเริ่มต้นกระบวนการสมัครขอรับสถานะภาพการเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรอย่างถูกกฎหมายในสหรัฐฯ ในเบื้องต้นจะได้รับสถานภาพผู้อยู่อาศัยอย่างถูกกฎหมายเป็นการชั่วคราว (conditional residency) นาน 2 ปี เมื่อครบกำหนดแล้วสามารถสมัครขอสถานภาพการเป็นผู้อยู่อาศัยอย่างถูกกฎหมายในสหรัฐฯอย่างถาวรได้นาน 10 ปี และจะต้องต่ออายุสถานภาพทุกๆ 10 ปี ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้อยู่อาศัยถาวรอย่างถูกกฎหมายในสหรัฐฯจะสามารถเข้าสู่กระบวนการยื่นขอสิทธิเป็นพลเมืองสหรัฐฯได้

9. กระบวนการยื่นขอ EB-5 Visa สำหรับนักลงทุนที่อยู่นอกสหรัฐฯกระทำที่สถานทูตสหรัฐฯในประเทศ สำหรับนักลงทุนที่อยู่ในสหรัฐฯแล้วต้องยื่นขอปรับสถานะภาพที่หน่วยงาน U.S. Citizenship and Immigration Service – USCIS

E-2 Treaty Investor

E-2 Visa เป็น nonimmigrant visa ออกให้แก่นักธุรกิจจากประเทศที่มีการทำสนธิสัญญาใดๆไว้กับสหรัฐฯ (treaty countries) รวมถึงประเทศไทย ให้สามารถเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในสหรัฐฯหรือให้ลูกจ้างของนักลงทุน/องค์กรที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดเพื่อเดินทางเข้าไปทำธุรกิจในสหรัฐฯได้ แต่จะไม่ได้รับสถานภาพเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรโดยอัตโนมัติ
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ขอ E-2 Visa

  1. นักลงทุนหรือลูกจ้างของนักลงทุนต้องพิสูจน์ว่าเป็นคนสัญชาติของประเทศที่มีการทำสนธิสัญญาไว้กับสหรัฐฯ
  2. อยู่ในระหว่างการลงทุนในธุรกิจในสหรัฐฯหรืออยู่ในระหว่างเตรียมการจะลงทุนในอนาคตอันใกล้
  3. ผู้ที่อยู่ในสหรัฐฯแล้วอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สามารถยื่นขอเปลี่ยนสถานะภาพเป็น E-2 ได้ในสหรัฐฯ
  4. ต้องพิสูจน์ว่าเงินลงทุนได้มาโดยสุจริต
  5. U.S. Citizenship and Immigration Service – USCIS ไม่จำกัดวงเงินลงทุนสำหรับการขอ E-2 Treaty Investor มีรายงานว่า USCIS อาจจะพิจารณาวงเงินที่ต่ำถึง 50,000 เหรียญฯ แต่ USCIS ระบุว่า วงเงินลงทุนต้องสูงมากพอกับค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการซื้อ/การก่อตั้งธุรกิจและบริหารธุรกิจ และมากพอที่จะทำให้การลงทุนประสบความสำเร็จได้ และวงเงินลงทุนทั้งหมดต้องผูกมัดอยู่กับการนำมาใช้จ่ายเพื่อดำเนินการลงทุนแต่เพียงอย่างเดียว ดังนั้น นักลงทุนจำเป็นที่ต้องนำเอาอัตราเงินเฟ้อและเงื่อนไขอื่นๆในพื้นที่ลงทุนมาเป็นองค์ประกอบในการตั้งวงเงินลงทุนเพื่อขอวีซ่า
  6. วัตถุประสงค์ในการเข้าสหรัฐฯเพื่อพัฒนาและลงทุนตรงในธุรกิจ โดยต้องแสดงหลักฐานว่ามีส่วนเป็นเจ้าของหรือในการควบคุมปฏิบัติการทางธุรกิจนั้นๆในฐานะผู้บริหารจัดหารหรืออื่นๆ อย่างน้อยร้อยละ 50
  7. ต้องเป็นการลงทุนในธุรกิจที่เป็น for-profit และ at-risk commercial enterprises หมายถึงเป็นการลงทุนที่มีโอกาสทั้งทำกำไรและขาดทุน
  8. ประเภทของธุรกิจที่ลงทุนต้องมีศักยภาพที่จะสร้างรายได้ที่จะสนับสนุนการดำรงชีวิตอยู่ในสหรัฐฯของนักลงทุนได้นานอย่างน้อย 5 ปีนับจากวันที่เริ่มลงทุน
  9. E-2 Treaty Visa ต้องสร้างแรงงานในสหรัฐฯ แต่ USCIS ไม่กำหนดบังคับจำนวนแรงงานขั้นต่ำที่ต้องจ้าง นักลงทุนที่เป็นเจ้าของธุรกิจอาจจ้างแรงงานต่างชาติได้ แต่ต้องเป็นแรงงานจากประเทศเดียวกันกับนักลงทุนและต้องมีสัญชาติของประเทศที่ทำสนธิสัญญาต่างๆไว้กับสหรัฐฯ (treaty country) และมีคุณสมบัติว่าปฏิบัติงานได้จริง
  10. นักลงทุนและลูกจ้างที่ถือ E-2 Treaty Visa ได้รับอนุญาตให้อยู่ในสหรัฐฯนานสุดครั้งละ 2 ปี หลังจากนั้นต้องยื่นเรื่องเพื่อขอต่อวีซ่าซึ่งสามารถขอต่อได้โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง หากได้รับอนุมัติให้ต่อวีซ่า อายุวีซ่าของการต่อแต่ละครั้งจะนานสุด 2 ปี เช่นกัน
  11. ผู้ถือ E-2 Treaty Visa สามารถเดินทางออกนอกประเทศสหรัฐฯได้ แต่เมื่อเดินทางกลับสหรัฐฯ จะอยู่ที่การตัดสินใจของ U.S. Customs and Border Patrol Officer (CBP) ว่าจะยอมให้เข้าประเทศหรือไม่ ถ้ายอม CBP อาจจะประทับวีซ่า E-2 นาน 2 ปีให้

EB-3 Visa – Employment-Based Immigration สำหรับแรงงานต่างชาติ

1. คุณสมบัติของแรงงานที่สามารถยื่นขอ EB-3 Visa

(1) เป็นแรงงานมีฝีมือเชี่ยวชาญ (skilled worker) หมายถึงงานที่กำหนดว่า ผู้รับจ้างทำงานต้องได้รับการศึกษา ฝึกอบรม และมีประสบการณ์ในการทำงาน อย่างน้อย 2 ปี
(2) เป็นแรงงานผู้เชี่ยวชาญในสายอาชีพ (professional) หมายถึงงานที่กำหนดว่า ผู้รับจ้างทำงานต้องได้รับการศึกษาอย่างน้อยระดับปริญญาของสหรัฐฯหรือเทียบเท่า ในสายอาชีพที่เป็น professionals
(3) แรงงานอื่นที่ไม่มีฝีมือเชี่ยวชาญ หมายถึงแรงงานที่ไม่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญ ผู้รับจ้างอาจจะผ่านการฝึกอบรมหรือมีประสบการณ์ในการทำงานต่ำกว่า 2 ปี
(4) แรงงานในข้อ (1) (2) และ (3)
– ต้องเป็นแรงงานที่ ไม่สามารถหาแรงงานในประเทศสหรัฐฯที่ทำได้
– ต้องมีเอกสารรับรองจากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ อนุญาตให้นายจ้างสามารถนำแรงงานนั้นเข้าไปทำงานในสหรัฐฯ
– ต้องมีหลักฐานว่าได้รับข้อเสนอจ้างงานเต็มเวลาและเป็นงานถาวร จากนายจ้างในสหรัฐฯ
(5) แรงงานในข้อ (1) และ (3) ต้องเป็นแรงงานถาวร ไม่ใช่แรงงานชั่วคราว (temporary) หรือแรงงานเฉพาะฤดูกาล (seasonal)

2. กระบวนการขอนำเข้าแรงงานต่างชาติ โดยสรุป

2.1 นายจ้างเข้าสู่กระบวนการขอ permanent labor certification จาก Employment and Training Administration (ETA) กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ (U.S. Department of Labor – DOL) เพื่อรับรองว่าไม่มีแรงงานสหรัฐฯที่มีคุณสมบัติที่จะปฏิบัติงานนั้นๆได้อยู่ในพื้นที่จ้างงาน พิสูจน์ด้วยการประกาศโฆษณา รับสมัครงานในพื้นที่นาน 30 วัน และเงื่อนไขการจ้างแรงงานต่างชาตินั้นต้องเป็นไปตามตัวบทกฎหมายแรงงานสหรัฐฯและจะไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อค่าจ้างและสภาวะการทำงานของการจ้างงานที่คล้ายคลึงกันของแรงงานในประเทศสหรัฐฯ
2.2 นายจ้างยื่น Labor Certification ที่ได้รับจาก DOL ไปยื่นคำร้องต่อ USCIS ขอนำเข้าแรงงานต่างชาติโดยนายจ้างต้องแสดงให้เห็นว่าสามารถจ่ายเงินค่าจ้างได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการยื่นหลักฐานที่เป็นรายงานประจำปีของการทำธุรกิจ เอกสารเสียภาษีให้รัฐบาลกลางสหรัฐฯ และเอกสารการเงินที่ผ่านการรับรองถูกต้องจากสถาบันการเงินในสหรัฐฯ
2.3 แรงงานที่ USCIS อนุมัติให้เข้าไปทำงานในสหรัฐฯได้ ต้องเข้าสู่กระบวนการสัมภาษณ์ที่สถานทูตสหรัฐฯในประเทศต้นสังกัด โดยเจ้าหน้าที่ของ U.S. Department of State ซึ่งจะตัดสินว่าจะให้วีซ่าหรือไม่

3.  USCIS กำหนดโควต้าสำหรับแรงงานต่างชาติไว้ประมาณ 40,000 รายต่อปี

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส
20 มิถุนายน 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login