หน้าแรกTrade insightเกษตรอื่นๆ > วิกฤตผักสดในเอสโตเนีย

วิกฤตผักสดในเอสโตเนีย

ปริมาณสินค้าอาหารโดยเฉพาะผักสดที่เพาะปลูกภายในประเทศเอสโตเนียปรับตัวลดลงน้อยกว่าร้อยละ 50 เนื่องจากเกษตรกรเอสโตเนียไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลิตผลได้ทันต่อความต้องการของตลาด โดยสาเหตุหลักมาจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรกรรมของเอสโตเนียที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด 19 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเอสโตเนียได้แก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการนำเข้าผักสดจากต่างประเทศ และนำมาบรรจุผลิตภัณฑ์เพื่อวางจำหน่ายภายในตลาดเอสโตเนีย โดยผักสดที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ อาทิ แตงกวา มะเขือเทศ ผักสลัด ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้ามาจาก เยอรมนี กลุ่มประเทศยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก

ข้อมูลเพิ่มเติม/ข้อคิดเห็นของสคต.

1. การนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นและสินค้าที่วางจำหน่ายจะมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ สินค้าอาหารและเกษตรในกลุ่มประเทศบอลติกรวมถึงเอสโตเนียได้มีการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด 19 มาจนถึงภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และช่วงภาวะเงินเฟ้อในสหภาพยุโรป ซึ่งปัจจุบัน ราคาสินค้าเกษตรในเอสโตเนียในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 30-60 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564

2. ปัจจุบันพื้นที่เกษตรกรรมที่จดทะเบียนเพาะปลูกผักสดในเอสโตเนียมีพื้นที่ประมาณ 12,000 ไร่ ซึ่งผู้ผลิตสินค้าเกษตรของเอสโตเนียคาดว่าเกษตรกรเอสโตเนียจะปรับลดพื้นที่การเพาะปลูกผักสดลงอีกประมาณร้อยละ 40-50 ในฤดูกาลเพาะปลูกของปี 2566-2567 นี้ เนื่องจากภาวะอากาศที่ผันผวนและปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร ที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้

3. หลายประเทศในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกได้แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร โดยเปิดโอกาสให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ แรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากนอกสหภาพยุโรป เช่น เบลารุส จอร์เจีย อินเดีย คาซัคสถาน และมอลโดวา อย่างไรก็ดี แรงงานที่มีความเชี่ยวชาญการใช้เครื่องจักรกลเกษตรและแรงงานฝีมือยังคงเป็นที่ต้องการอยู่เป็นจำนวนมาก

ที่มา : Estonian National Broadcasting

Login