ความพยายามในการสร้างความสามารถในการฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้รับการสนับสนุนจากการเปิดตัวยุทธศาสตร์ระดับชาติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมุ่งหน้าสู่ปี 2030 และจุลสารเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเปิดตัวยุทธศาสตร์ใหม่และจุลสารเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าวจัดขึ้นที่นครหลวงเวียงจันทน์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา
ผู้ที่เข้าร่วมงานได้แก่ นายภูวง หลวงไซชะนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนางสาวโซโนมิ ทานากะ ผู้อำนวยการประจำประเทศลาวประจำธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ซึ่งในพิธี นายภูวงค์ ฯ แสดงความขอบคุณ ADB ที่มีส่วนร่วมในการสร้างยุทธศาสตร์ระดับชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนถึงปี 2030 และจุลสารที่เกี่ยวข้อง
“เอกสารเหล่านี้กำหนดเป้าหมาย วัตถุประสงค์ หลักการพื้นฐาน และโครงการที่มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนถึงปี 2030”
“โครงการเหล่านี้เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนทั้งในระดับส่วนกลางและระดับท้องถิ่น และมีเป้าหมายที่จะเสริมสร้างการปรับตัวและยกระดับความสามารถในการฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดจนมาตรการต่าง ๆ การดำเนินการ ติดตาม ประเมินผล และรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานครั้งนี้” นายภูวงค์ ฯ กล่าว
“เอกสารเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการกำหนดและบูรณาการงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สู่การเป็นยุทธศาสตร์ แผนงาน และโครงการที่ดำเนินการโดยกระทรวงและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ในระดับส่วนกลางและระดับท้องถิ่น โดยมีจุดมุ่งหมายสูงสุดในการลดและการชะลอภาวะโลกร้อน
รัฐบาลลาวพร้อมด้วยรัฐบาลอื่น ๆ ทั่วโลกต่างมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาสภาพภูมิกาศเปลี่ยนแปลง โดยสปป.ลาวได้ให้สัตยาบันเป็นส่วนหนึ่งของหลายข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ในปี 1995 พิธีสารเกียวโตว่าด้วยเรื่องการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2003 และข้อตกลงปารีสว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปี 2016 ทั้งนี้ สปป.ลาวยังเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศแรกที่ลงนามเป็นสมาชิกในการเคลื่อนไหวครั้งนี้
ในปัจจุบันกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังร่างยุทธศาสตร์เพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและพระราชกฤษฎีกาควบคุมคาร์บอนเครดิตใน สปป.ลาว ซึ่งจะใช้เป็นกรอบการทำงานให้กับรัฐบาลทั้งในส่วนกลางและระดับท้องถิ่น นอกจากนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการงานด้านนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยและดูดซับก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050
****************************
ที่มา Vientiane Times
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เวียงจันทน์ สปป.ลาว
อ่านข่าวฉบับเต็ม : ลาวจับมือ ADB เสริมความแข็งแกร่งความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ