การบริโภคถือเป็นกลไกหลักในการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการเพื่อชีวิตของผู้คนที่ดีขึ้น ปัจจุบันตลาดผู้บริโภคในประเทศยังคงปรับตัวดีขึ้น ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองของปี 2566 รายจ่ายการบริโภคต่อหัวของคนจีนยังคงเติบโตในเชิงบวก โดยอัตราการเติบโตสะสมใน ไตรมาสที่สองอยู่ที่ร้อยละ 7.6
ด้านโครงสร้างการบริโภคทั่วไป นักวิชาการและหน่วยงานวิจัยส่วนใหญ่มักจะวิเคราะห์จากสถิติสามด้าน คือ วัตถุประสงค์ของการบริโภค พฤติกรรมการบริโภค และประเภทอุตสาหกรรมของสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งโดยปกติจะนำข้อมูลข้างต้นมาใช้ในการวิเคราะห์ แต่เมื่อประเทศกำลังเผชิญกับการบริโภคแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องเพิ่มมุมมองใหม่ ๆ ในการเพิ่มความเข้าใจในมิติการบริโภครูปแบบใหม่ของผู้บริโภคได้อย่างละเอียดมากขึ้น จึงเกิดเป็นมิติใหม่ในการบริโภคของผู้คนในประเทศจีน ดังนี้
- การบริโภครายวัน : การบริโภคแบบนี้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายของแต่ละบุคคล โดยมีเป้าหมายเพื่อตอบสนองความต้องการแบบรายวัน โดยผู้บริโภคจะวางแผนบริโภคเป็นวันต่อวัน ซึ่งสัดส่วนการบริโภคสินค้าแต่ละชนิดจะมีความชัดเจนขึ้น เช่น สัดส่วนการบริโภคเพื่อยังชีพลดลง และส่วนการบริโภคเพื่อการพัฒนาและความบันเทิงเพิ่มมากขึ้น
2. การบริโภคจากอิทธิพลของคุณภาพและแบรนด์สินค้า : การบริโภคสินค้าคุณภาพและแบรนด์ เพื่อตอบสนองความต้องการที่ทันสมัยและสร้างชีวิตที่ดีกว่า แนวคิดการบริโภคแต่เดิมมีการแบ่งระดับสินค้าไว้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าคุณภาพต่ำไปสูงหรือสินค้าที่เป็นแบรนด์ระดับต่ำไปสูง แต่อย่างไรก็ตาม ภายใต้อิทธิพลของแนวคิดคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคอาจชอบรถยนต์พลังงานใหม่มากกว่ารถยนต์แบรนด์หรูหราแบบเดิม ดังนั้นอิทธิพลจากแนวคิดต่อคุณภาพสินค้าและแบรนด์สินค้าจึงมีความสำคัญต่อการบริโภคเช่นกัน
3. การบริโภคเพื่อเติมเต็มความรู้สึกตนเอง : เป็นการบริโภคเพื่อตอบสนองด้านอารมณ์ ความสุข และประสบการณ์ของตนเอง โดยไม่คำนึงว่าเป็นสินค้าจำเป็นต่อชีวิตประจำวันหรือไม่ ข้อมูลวิจัย เผยแพร่โดย iiMedia Research ระบุว่า ในปี 2565 ประชากรในยุคที่เกิดหลัง 90 และ 00 ของจีน มีจำนวน 320 ล้านคน ได้กลายเป็น กำลังใหม่ของการบริโภคภายในประเทศ โดยผู้บริโภคในกลุ่มนี้กว่าร้อยละ 60 มุ่งเน้นการบริโภคที่สร้างความพึงพอใจและความสุขให้กับตนเอง นองจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะตัว และยังต้องสามารถเพิ่มคุณค่าทางอารมณ์ได้อีกด้วย
4. ร่วมสร้างการบริโภค : เป็นรูปแบบการบริโภคที่สร้างปฏิสัมพันธ์เชิงลึกร่วมกันระหว่างแบรนด์สินค้ากับผู้บริโภค ผู้บริโภคยุคใหม่ ให้ความสำคัญกับการแสดงออก ความรู้สึกการมีส่วนร่วม และมีแรงจูงใจจากการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ผู้ผลิตหรือแบรนด์ที่เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะเป็นส่วนช่วยในการพัฒนา ส่งเสริมการขาย และสร้างการยอมรับสินค้าจากผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
5. การบริโภคแบบดิจิทัล : รูปแบบการบริโภคดิจิทัลเกิดขึ้นจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจ เป็นกิจกรรมการบริโภคที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รูปแบบการบริโภคอย่างช้อปปิ้งออนไลน์ การสตรีมมิ่งออนไลน์ การดูแลทางการแพทย์ออนไลน์ เป็นต้น ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จากสถิติที่เกี่ยวข้องแสดงให้เห็นว่า ในปี 2565 มูลค่าของเศรษฐกิจดิจิทัลในจีนสูงถึง 50.2 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 YoY ซึ่งจัดเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นส่วนผลักดันให้ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 41.5
6. การบริโภคแบบเชื่อมโยง : เป็นการบริโภคที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของผู้บริโภค โดยมีรูปแบบการบริโภคอย่างมีระดับ สวยงาม ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืน อาทิ เพื่อสะท้อนถึงความสามัคคีทางสังคมระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ผู้คนจึงเลือกการบริโภคสินค้าสีเขียว และคาร์บอนต่ำเพิ่มมากขึ้น หรือ เพื่อส่งเสริมสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต ผู้คนจึงเลือกการบริโภคสินค้าที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ ปราศจากสารเคมี เป็นต้น
ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : รูปแบบการบริโภคข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการบริโภค และแนวโน้มการบริโภคในอนาคตของผู้บริโภคจีน ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้การตลาดมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จึงเป็นโอกาสของไทยในการศึกษาแนวโน้ม ข้อบกพร่อง ปัญหา ข้อได้เปรียบ จากรูปแบบการบริโภคที่เกิดขึ้น เพื่อนำมาวางแผนกลยุทธ์ทางการขาย และแสวงหาโอกาสเข้าสู่ตลาดจีนมากยิ่งขึ้น
ที่มา
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1778155123150380183&wfr=spider&for=pc:
เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
28 ธันวาคม 2566
อ่านข่าวฉบับเต็ม : ลักษณะและแนวโน้มรูปแบบการบริโภคในปัจจุบันของคนจีน