หน้าแรกTrade insightทุเรียน > รายงานสถานการณ์ภาพรวมสินค้าผลไม้ในประเทศเวียดนาม

รายงานสถานการณ์ภาพรวมสินค้าผลไม้ในประเทศเวียดนาม

  1. ภาพรวมสถานการณ์

1.1 สถานการณ์ตลาดและการผลิตในประเทศ

เวียดนามมีผลิตผลไม้ประมาณกว่า 12 ล้านตันต่อปี โดยส่วนใหญ่จำหน่ายในประเทศ และมีผลไม้บางชนิดที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนามกำหนดเป้าหมายภายในปี 2568 ผลิตผลไม้ 14 ล้านตัน โดยผลไม้สำคัญ เช่น แก้วมังกร มะม่วง กล้วย ลิ้นจี่ ลำไย ส้ม ส้มโอ สับปะรด เงาะ ทุเรียน ขนุน เสาวรส อะโวคาโด และน้อยหน่าจะมีผลผลิตรวมประมาณ 11-12 ล้านตัน

ในปี 2565 เวียดนามมีพื้นที่ปลูกผลไม้รวม 1.21 ล้านเฮกตาร์ (+3.5%) พื้นที่ปลูกผลไม้บางชนิดเพิ่มขึ้น เช่น ทุเรียน ขนุน ฝรั่ง น้อยหน่า และส้มโอ ในไตรมาสแรกของปี 2566 ผลผลิตของผลไม้หลายชนิดเพิ่มขึ้น เช่น ทุเรียน 108,300 ตัน (+27.8%) ขนุนถึง 142,900 ตัน (+20.7) ส้ม 310,400 ตัน (5.9%) กล้วยถึง 671,300 ตัน  (+2.6%) มะม่วง 184,400 ตัน (+1.9%) ส่วนแก้วมังกรมีผลผลิตอยู่ที่ 340,000 ตัน (-2.8%)

จากข้อมูลของกรมเพาะปลูกพืช กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566  ผลผลิตผลไม้ของเวียดนามจะมีปริมาณกว่า 2.6 ล้านตัน ประกอบด้วยกล้วยประมาณ 460,000 ตัน ทุเรียน 300,000 ตัน และลิ้นจี่ 330,000 ตัน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการเก็บเกี่ยวสับปะรด มะม่วง ส้ม และแก้วมังกรหลายแสนตัน ซึ่งถือว่าอุปทานผลไม้มีจำนวนมาก

1.2 ข้อมูลสถิติการค้า

1.2.1 การนำเข้า

สถิติการนำเข้าผักผลไม้ของเวียดนามในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 ดังนี้

ประเทศ ม.ค– เม.ย 2565

(ล้านเหรียญสหรัฐฯ)                            

ม.ค– เม.ย 2566

(ล้านเหรียญสหรัฐฯ)                            

อัตราการเติบโต                 (%)    

       

ทั่วโลก 551 560 1.6
ไทย 10.1 12.7 25.7

            ที่มา: กรมศุลกากรเวียดนาม

            ตามสถิติของกรมศุลกากรเวียดนาม ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 เวียดนามนำเข้าผักผลไม้จากประเทศต่างๆ มูลค่า 560 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน 212 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  (+5.6%) สหรัฐอเมริกา 85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-61.6%) ออสเตรเลีย 41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+73%) เมียนมา 37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-7.4%)  และไทย 13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+25.7%) ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 9 สำหรับส่วนแบ่งตลาด จีนมีสัดส่วนร้อยละ 37.8 สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 15.22 ออสเตรเลีย   ร้อยละ 7.41 และเมียนมา ร้อยละ  6.7 เป็นต้น

ผลไม้ที่มีการนำเข้ามากที่สุด ได้แก่ แอปเปิ้ลคิดเป็นร้อยละ 13 องุ่นและส้มอย่างละร้อยละ 8 เชอร์รี่ร้อย 4 และประเภทอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 37

จากสถิติของ thenewmenucom ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 ผลไม้ที่เวียดนามนำเข้าจากไทย ได้แก่ ลำไยสด มะม่วงสด เงาะ ทุเรียน มังคุด และผลไม้อื่นๆ

1.2.2 การส่งออก

สถิติการส่งออกผลไม้ของเวียดนามในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 ดังนี้

ประเทศ ม.ค– เม.ย 2565

(ล้านเหรียญสหรัฐฯ)                            

ม.ค– เม.ย 2566

(ล้านเหรียญสหรัฐฯ)                            

อัตราการเติบโต                 (%)            
ทั่วโลก 1,166 1,371 17.6
ไทย 33.5 30.3 -9.6

          ที่มา: กรมศุลกากรเวียดนาม

          ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 เวียดนามส่งออกผักผลไม้มูลค่า 1,371  ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 โดยผลไม้ส่งออกสำคัญ เช่น แก้วมังกร กล้วย และทุเรียน ตลาดส่งออกผลไม้สำคัญของเวียดนาม คือ จีน 805 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+300%) สหรัฐฯ 73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-16.3%) เกาหลีใต้ 66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+9.5%) ญี่ปุ่น 54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+8.4%) และไทย 30.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-9.6%) ไทยเป็นตลาดส่งออกผลไม้อันดับที่ 5 ของเวียดนาม

จากอัตราการเติบโตร้อยละ 17.6 ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 สินค้าผักผลไม้จึงกลายเป็นจุดเด่นในกิจกรรมการส่งออกของเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกผักผลไม้ไปยังตลาดจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้ส่งเสริมการเติบโตในเชิงบวกของอุตสาหกรรมผักผลไม้ ศักยภาพในการส่งออกผักและผลไม้ไปยังประเทศจีนมีมากเนื่องจากความต้องการของตลาดสูง

จังหวัด Bac Giang (ภาคเหนือ) ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีผลผลิตลิ้นจี่มากที่สุดในเวียดนาม คาดว่า ผลผลิตลิ้นจี่ในปีนี้จะกว่า 180,000 ตัน ระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่ประมาณวันที่ 20 พฤษภาคม ถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2566        โดยผลผลิตลิ้นจี่ที่ได้มาตรฐานส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ประมาณ 1,500 ตัน

  1. โอกาส อุปสรรคและความท้าทาย

           โอกาส

           ผลไม้ไทยค่อนข้างได้รับความนิยมในเวียดนาม เพราะผู้บริโภคยอมรับในคุณภาพของผลไม้ไทยที่สูงกว่าผลไม้ชนิดเดียวกันที่สามารถปลูกได้ในประเทศทั้งขนาดและรสชาติ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยสามารถเพิ่ม        การส่งออกผลไม้ที่เวียดนามไม่มีหรือมีคุณภาพดีกว่า เช่น มะม่วงเขียวเสวย เงาะ มังคุด และส้มโอทับทิมสยาม  เป็นต้น

           อุปสรรค

ในไตรมาสที่สองของปี 2566 ผลผลิตผลไม้ของเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 2.6 ล้านตัน อุปทานผลไม้มีจำนวนมาก เวียดนามจึงส่งเสริมการบริโภคในประเทศและส่งออกด้วย ซึ่งก่อให้เกิดการแข่งขันกับผลไม้ไทยในตลาดเวียดนามและตลาดส่งออกผลไม้ต่างๆ ของไทยอีกด้วย

  1. กลยุทธเจาะตลาดและแผนงานผลักดัน

3.1 สคต. ติดตามสถานการณ์การขนส่งสินค้าผ่านชายแดน และหารือกับศุลกากรด่านชายแดน ท่าเรือและผู้แทนขนส่งเวียดนาม

3.2 สคต. ดำเนินการนัดหมาย และจัดทำ online  B2B สินค้าผลไม้ระหว่างผู้นำเข้าเวียดนามและผู้ประกอบการไทย

3.3 สคต. พบผู้นำเข้าผลไม้ในฮานอย และผู้บริหารของบริษัท Central Retail และบริษํท MM Mega Market (Vietnam) เพื่อผลักดันการนำเข้าผลไม้ไทย

3.4 จัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยผ่านงานแสดงสินค้า Mini Thailand Week และกิจกรรมส่งเสริม      การขาย In-store Promotion

  1. ข้อเสนอแนะ/ประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง

สมาคมผักและผลไม้เวียดนามระบุว่า การส่งออกผักและผลไม้จะยังคงเติบโตเป็นอย่างดีในไตรมาสที่สอง ของปี 2566 สำหรับช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 ทุเรียนเวียดนามยังไม่เข้าสู่ฤดูกาลหลัก จึงส่งออกไปยังตลาดจีนในปริมาณที่ไม่มากนัก ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป ซึ่งเข้าสู่ช่วงเก็บเกี่ยวของทุเรียน ผลผลิตจะมีมาก นอกจากนี้ผลไม้ชนิดอื่นๆ เช่น ขนุน กล้วย และแก้วมังกรยังเป็นสินค้าเกษตรหลักที่จะทำให้มูลค่าการส่งออกไปยังตลาดจีนเพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ว่า การส่งออกผักผลไม้ไปจีนจะมีมูลค่าประมาณ 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2566   คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62.5 ของมูลค่าการส่งออกผักผลไม้ทั้งหมดของเวียดนาม                                                     

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย

Login