ขอบเขต H.S. 2103 ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส, H.S. 210410 ซุปสำเร็จรูป แบบเป็นผง ก้อน น้ำซุป, H.S. 2922 42 21 006 ผงชูรส
———————————————————
ซอสและเครื่องปรุงรสถือเป็นสิ่งจำเป็นในการใช้เพิ่มรสชาติให้กับอาหารมีการบริโภคอย่างแพร่หลายในไต้หวัน ในครัวเรือนส่วนใหญ่จะมีผลิตภัณฑ์ที่เตรียมไว้เป็นประจำ เช่น ซีอิ๊ว เกลือ น้ำตาล ซอสถั่วเหลือง น้ำส้ม ซาฉา(ซอสสุกี้) เต้าเจี้ยว ซอสพริก น้ำมันงา ฯลฯ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นสินค้าแบรนด์ท้องถิ่นที่ครองตลาดอยู่ก่อนเป็นเวลายาวนาน บางอย่างเป็นซอสที่มีรสชาติค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ของชาวไต้หวัน ในการรับประทานอาหารนอกบ้านที่ภัตตาคาร ร้านหรือแผงขายอาหาร ทางร้านมักจะมีซอสหรือเครื่องปรุงรสที่เหมาะกับอาหารชนิดต่างๆ ไว้บริการเช่นกัน
ชาวไต้หวันเปิดกว้างในการเรียนรู้และซึมซับวัฒนธรรมและอาหารของชาติอื่น ๆ จึงทำให้ชาวไต้หวันมีความคุ้นเคยและยอมรับซอสและเครื่องปรุงรสต่างชาติ โดยปัจจุบันอาหารไทยได้รับความนิยมและมีภัตตาคารไทยแพร่หลายมากขึ้น จึงทำให้ชาวไต้หวันรู้จักและคุ้นเคยกับการบริโภคซอสหรือน้ำจิ้มชนิดต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบของอาหารไทย รวมถึงมีการซื้อมาไว้ใช้ปรุงรสอาหารบริโภค เช่น เครื่องแกง น้ำปลา น้ำจิ้มไก่ย่าง ซอสพริก ซุปก้อน น้ำซุป ฯลฯ
ซอสและเครื่องปรุงรสที่จำหน่ายในตลาดแบ่งตามกรรมวิธีการผลิตได้ดังนี้
1) ผลิตโดยการหมักหรือดอง เช่น ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว ซอสเถียนเมี้ยน(หมักจากหมั่นโถว) มิโซ(miso) เต้าหู้ยี้ พริกดอง ขิงดอง ฯลฯ
2) ผลิตโดยการปรุงหรือผสม เช่น น้ำมันหอย ซอสบ๊วย มายองเนส ซอสมะเขือเทศ ซอสสุกี้(ซาฉา) ซอสเกี๊ยว ฯลฯ
3) ผลิตโดยการบดโม่ เช่น น้ำมันงา วาซาบิ มัสตาร์ด ฯลฯ
- ภาวะการบริโภค
ปี 2022 มูลค่าตลาดซอสและเครื่องปรุงรสในไต้หวันเท่ากับ 14,564 ล้านเหรียญไต้หวัน (อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญไต้หวัน เท่ากับ 1.10 บาทโดยประมาณ) โดยประมาณการมูลค่าตลาดในปี 2023 มีแนวโน้มหดตัวลงเล็กน้อยเหลือ 14,359 ล้านเหรียญไต้หวัน เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีการระบาดโรคโควิด ประชาชนใช้เวลาอยู่กับบ้านมากขึ้น จึงมีการปรุงอาหารในบ้านส่งผลให้ตลาดขยายตัวเกินกว่า 10% อย่างไรก็ดี หลังโรคระบาดสงบลงคาดว่าตลาดจะเริ่มปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติ
สินค้าประเภทต่างๆ ที่จำหน่ายในท้องตลาดมีสัดส่วนดังนี้
– ซอส (สัดส่วน 46.8%) เช่น ซีอิ๊ว ซอสพริก มายองเนส ซอสหอยนางรม น้ำสลัด ซอสมะเขือเทศ ซอสบาร์บีคิว ฯลฯ
– ส่วนผสมและเครื่องปรุง (19.6%) เช่น ซุปก้อน ซุปน้ำ ผงชูรส เครื่องเทศและสมุนไพร ฯลฯ
– ของหมักดอง (23.6%) เช่น กระเทียมดอง ผักดอง ฯลฯ
– ซอสและเครื่องปรุงอื่นๆ (10%)
แผนภูมิ 1 มูลค่าตลาดซอสและเครื่องปรุงรสในไต้หวัน
- การผลิต
จากข้อมูล Industrial Production Monthly Statistic, MOEA, Taiwan ในปี 2022 ไต้หวันผลิตซอสและเครื่องปรุงรส มูลค่า 19,515 ล้านเหรียญไต้หวัน (1 เหรียญไต้หวัน = 1.10 บาทโดยประมาณ) ลดลง 10.07% เทียบกับปี 2021 การผลิตซีอิ๊วมีมูลค่า 6,037 ล้านเหรียญไต้หวัน สัดส่วนสูงถึง 45% ของการผลิตซอสและเครื่องปรุงรสทั้งหมด เนื่องจากซีอิ๊วเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาหารชาวจีนสืบทอดมายาวยานเกินกว่า 2,000 ปี อย่างไรก็ตาม ซีอิ๊วที่ผลิตในไต้หวันมีสีและรสชาติคล้ายกับโซยุของญี่ปุ่น เนื่องจากไต้หวันเคยอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น (ระหว่าง 1895 – 1945) จึงได้รับการถ่ายทอดกรรมวิธีการผลิตซี่อิ๊วแบบญี่ปุ่น ผู้ผลิตซี่อิ๊วรายใหญ่ในไต้หวันมี 6 บริษัท คือ Kimlan, Wei Chuan, Wan Ja Shan, Uni-President, Ve Wong, Kikkoman โดยครองตลาดซีอิ๊วรวมกันประมาณ 85%
โรงงานผลิตซอสและเครื่องปรุงรสในไต้หวัน มีจำนวน 409 ราย (ข้อมูลจาก Factory Operation Census Report จัดทำโดย Ministry of Economic Affairs, Taiwan สำรวจเมื่อปี 2020) ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตขนาดกลางและย่อม ผู้ผลิตรายใหญ่ปรากฏตามแผนภูมิ 2
แผนภูมิ 2 ส่วนแบ่งการตลาดผู้ผลิตซอสและเครื่องปรุงรสในไต้หวัน
% Share (NBO) – Retail Value RSP – 2022
ที่มา Euromonitor 2022
- การส่งออก
ในปี 2022 ไต้หวันส่งออกซอสและเครื่องปรุงรสมูลค่ารวม 133.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.3% เทียบกับปี 2021 ตลาดส่งออกหลัก 5 อันดับแรก คือ สหรัฐฯ(20.9%) ฮ่องกง(15.4%) จีน(11.3%) อินโดนีเซีย(7.3%) สิงคโปร์(5.4%) สำหรับไทยอยู่ลำดับที่ 25 มีสัดส่วน 0.4%
ตารางที่ 1 มูลค่าการส่งออกซอสและเครื่องปรุงรสของไต้หวัน ปี 2018 – 2022
Rank | Countries | M. USD. | %Share | %Growth | ||||
2018 | 2019 | 2020 | 2021 | 2022 | 2022 | ’22/’21 | ||
1 | United States | 19.60 | 21.57 | 20.91 | 23.26 | 27.78 | 20.9 | 19.5% |
2 | Hong Kong | 11.41 | 13.59 | 16.46 | 19.41 | 20.47 | 15.4 | 5.5% |
3 | China | 23.90 | 23.59 | 26.09 | 22.18 | 15.01 | 11.3 | -32.3% |
4 | Indonesia | 6.07 | 7.86 | 7.86 | 9.00 | 9.69 | 7.3 | 7.7% |
5 | Singapore | 4.94 | 5.80 | 5.86 | 7.40 | 7.24 | 5.4 | -2.2% |
25 | Thailand | 0.46 | 0.89 | 0.44 | 0.41 | 0.47 | 0.4 | 16.8% |
Others | 51.00 | 50.39 | 55.16 | 48.44 | 52.41 | 39.4 | 8.2% | |
World | 117.37 | 123.69 | 132.78 | 130.09 | 133.08 | 100.0 | 2.3% |
ที่มา: Directorate General of Customs, Taiwan (HS 2103, 210410, 2922422100)
แผนภูมิ 3 การส่งออกซอสและเครื่องปรุงรส แยกตามประเภทสินค้า ของไต้หวัน ปี 2022
ที่มา: Directorate General of Customs, Taiwan (HS 2103, 210410, 2922422100)
4. การนำเข้า
4.1 การนำเข้าโดยรวม
ในปี 2022 ไต้หวันนำเข้าซอสและเครื่องปรุงรสมูลค่า 201.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 0.29% เทียบกับปี 2021 แหล่งนำเข้าสำคัญ 5 อันดับแรกคือ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ไทย เกาหลีใต้ จีน อินโดนีเซีย
ตารางที่ 2 มูลค่าการนำเข้าซอสและเครื่องปรุงรสของไต้หวัน ปี 2018 – 2022
Countries | M.USD | Ratio(%) | Change(%) | |||||
2018 | 2019 | 2020 | 2021 | 2022 | 2022 | ’22/’21 | ||
Japan | 68.30 | 71.40 | 80.24 | 86.30 | 77.36 | 38.40 | -10.37 | |
United States | 22.96 | 22.73 | 23.57 | 24.83 | 21.92 | 10.88 | -11.73 | |
Thailand | 14.21 | 15.95 | 12.71 | 18.51 | 21.74 | 10.79 | 17.45 | |
Korea, South | 6.28 | 7.18 | 9.45 | 14.56 | 17.75 | 8.81 | 21.88 | |
China | 13.99 | 13.84 | 13.71 | 17.05 | 15.91 | 7.90 | -6.66 | |
Indonesia | 6.69 | 6.40 | 7.12 | 7.38 | 6.40 | 3.18 | -13.32 | |
Italy | 3.42 | 3.60 | 4.84 | 5.06 | 6.28 | 3.12 | 24.06 | |
Vietnam | 3.21 | 3.66 | 3.69 | 6.00 | 6.14 | 3.05 | 2.39 | |
Malaysia | 3.51 | 3.60 | 4.75 | 4.52 | 5.76 | 2.86 | 27.41 | |
Hong Kong | 4.64 | 5.14 | 3.79 | 3.52 | 5.73 | 2.84 | 62.94 | |
Others | 12.70 | 14.33 | 13.73 | 14.30 | 16.46 | 8.17 | 15.12 | |
World | 159.92 | 167.82 | 177.60 | 202.03 | 201.44 | 100.00 | -0.29 |
ที่มา: Directorate General of Customs, Taiwan (HS 2103, 210410, 2922422100)
แผนภูมิ 4 สัดส่วนการนำเข้าซอสและเครื่องปรุงรสจากทั่วโลก ของไต้หวัน ปี 2022
ที่มา: Directorate General of Customs, Taiwan (HS 2103, 210410, 2922422100)
4.2 การนำเข้าจากไทย
การนำเข้าซอสและเครื่องปรุงรสจากไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2022 ไต้หวันนำเข้าซอสและเครื่องปรุงรสจากไทยมูลค่า 21.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 17.45% เทียบกับปี 2021 และเพิ่มขึ้น 52.99% เทียบกับ 5 ปีก่อน (ปี 2018) โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดในปี 2021 – 2022 การนำเข้าซอสและเครื่องปรุงรสจากไทยเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยได้อานิสงส์จากการที่ประชาชนมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้นและทดลองทำอาหารรับประทานเองที่บ้าน
แผนภูมิ 5 สัดส่วนการนำเข้าซอสและเครื่องปรุงรสจากไทย ของไต้หวัน ปี 2022
ที่มา: Directorate General of Customs, Taiwan (HS 2103, 210410, 2922422100)
- ช่องทางการจำหน่าย
ช่องทางหลักในการจำหน่ายสินค้าซอสและเครื่องปรุงรสในไต้หวัน ปี 2022 คือซูเปอร์มาร์เก็ต โดยมีสัดส่วนสูงถึง 55.4% ของมูลค่าตลาด ถือเป็นช่องทางที่เข้าถึงผู้บริโภคกว้างขวาง ในไต้หวันมีซูเปอร์มาร์เก็ตที่สำคัญซึ่งตั้งอยู่ตามย่านการค้าและชุมชน เช่น PXmart (1,145 สาขา) Simple Mart (813 สาขา) Carrefour Market (246 สาขา) ส่วนซูเปอร์มาร์เก็ตในไต้หวันที่เจาะลูกค้าระดับบนมักจะตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า เช่น Breeze, Mia C’bon (Carrefour), City Super ฯลฯ
ช่องทางจำหน่ายรองลงมาคือ ไฮเปอร์มาร์เก็ตมีสัดส่วน 20.6% ของมูลค่าตลาด ห้างที่สำคัญ เช่น Carrefour (68 สาขา), RT Mart (21 สาขา), a.mart (15 สาขา), Costco (13 สาขา) ฯลฯ
อีคอมเมิร์ส ถือเป็นช่องทางการขายที่สำคัญ แม้ปัจจุบันสัดส่วนเพียง 6.2% ของมูลค่าตลาด แต่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นตามไลฟสไตล์คนรุ่นใหม่ที่นิยมการช้อปปิ้งออนไลน์ แพล็ตฟอร์มออนไลน์ที่สำคัญ คือ Shopee, Momo, PChome, Ruten, Yahoo ฯลฯ นอกจากนี้ ห้างโมเดิร์นเทรดส่วนใหญ่มักจะมีแพล็ตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ของตนเองด้วย
แผนภูมิ 5 สัดส่วนช่องทางจำหน่ายซอสและเครื่องปรุงรสในไต้หวัน คำนวณตามมูลค่าตลาดปี 2022
ที่มา Euromonitor 2022
- การตลาด
สินค้าซอสและเครื่องปรุงรสที่วางจำหน่ายในไต้หวันมีหลายเกรดและหลายราคา ผู้บริโภคอยู่ในฐานะได้เปรียบมีสินค้าให้เลือกหลากหลาย ผู้ผลิตรายใหญ่นิยมใช้กลยุทธ์โหมโฆษณาและลดราคาจำหน่าย มีการจัดโปรโมชั่นบ่อยครั้ง เช่น การซื้อ 1 แถม 1 หรือซื้อชื้นที่ 2 ลดครึ่งราคาเป็นต้น ผู้ผลิตรายย่อยจึงจำเป็นต้องลดต้นทุนเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ เช่น การใช้กระบวนการทางเคมีลดเวลาหมักซีอิ๊วให้สั้นลง หรือหันไปพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงโดยเน้นว่าเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติด้วยกรรมวิธี ผลิตแบบดั้งเดิมและกำหนดราคาจำหน่ายสูงกว่าสินค้าทั่วไป 2- 3 เท่า
ผู้ประกอบการบางรายเจาะตลาดลูกค้าวัยหนุ่มสาว Gen. Z ใช้กลยุทธ์ Story Marketing และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่โดดเด่น การเน้นคุณประโยชน์ด้านสุขภาพ การย้อนความทรงจำอดีต การสร้างตัวเลือกหลายรสชาติ เป็นการตอบโจทย์พฤติกรรมการกินของคนรุ่นใหม่ โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้มีแนวโน้มยอมรับผลิตภัณฑ์ที่มีรสเผ็ดมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงมีการผลิตสินค้าใหม่ เช่น ซอสพริกแบบชนพื้นเมืองหรือแบบจีนฮากกา หรือพยายามผสมผสานซอสพริกต่างชาติ เช่น ซอสขิงเผ็ดเกาหลี ซอสพริกแบบไทยหรือเวียดนาม ฯลฯ
7. สินค้าไทยในไต้หวัน
ไทยเป็นแหล่งนำเข้าซอสและเครื่องปรุงรสสำคัญอันดับ 3 ของไต้หวัน สินค้าไทยวางจำหน่ายแพร่หลายในไต้หวันครอบคลุมทุกระดับทั้งในซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านของชำทั่วไป และร้านสินค้าอาเซียน สินค้าที่วางจำหน่ายอย่างแพร่หลาย ได้แก่ เครื่องแกง น้ำปลา น้ำจิ้มไก่ย่าง ซอสพริก ซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำ น้ำมันหอย กะปิ ปลาร้า ซอสมะเขือเทศ น้ำพริกต้มยำ น้ำบ๊วย ซอสผัดไทย ซอสส้มตำ น้ำจิ้มอาหารทะเล ผงปรุงรส ซุปผง ซุปก้อน ฯลฯ เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ชาวไต้หวันมีความซื่อสัตย์ต่อแบรนด์ซี่อิ๊วท้องถิ่นสูง แต่สินค้าซี่อิ๊วไทยสามารถแทรกซึมเข้าสู่ตลาดได้ ผู้นำเข้าใช้กลยุทธ์ในการโฆษณาว่า ซีอิ๊วไทยเป็นซีอิ๊วขาวมีสีจางกว่า เนื่องจากผลิตด้วยการหมักตามธรรมชาติ และไม่ได้ปรุงแต่งกลิ่นด้วยสารเคมี
ผู้บริโภคกลุ่มหลักที่ซื้อสินค้าซอสและเครื่องปรุงรสของไทยคือชาวไต้หวันที่นิยมอาหารไทย ลูกค้ากลุ่มนี้มักจะซื้อสินค้าผ่านทางห้างโมเดิร์นเทรด นอกจากนี้ การที่ร้านอาหารไทยในไต้หวันมีจำนวนมากถึงประมาณ 1,000 แห่ง ทำให้ร้านอาหารเป็นช่องทางที่ใช้สินค้าซอสและเครื่องปรุงรสของไทยมาก โดยที่ร้านอาหารไทยมักจะจัดซื้อจากผู้นำเข้าหรือผู้ค้าส่งในไต้หวัน ยกเว้นร้านอาหารแฟรสไชส์ที่มีสาขาจำนวนมาก อาจมีการจัดตั้งแผนกนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องปรุงจากต่างประเทศเอง ลูกค้ากลุ่มรองลงมาคือชาวไทยและชาวเอเซียนทำงานและพำนักอาศัยในไต้หวัน ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ซึ่งมีวัฒนธรรมการบริโภคคล้ายคลึงกัน คาดว่ามีอยู่ประมาณ 800,000 คน เฉพาะชาวไทยมีประมาณ 10% หรือ 80,000 คน ผู้บริโภคกลุ่มนี้มักจะซื้อสินค้าที่ร้านสินค้าอาเซียนเป็นหลัก
ราคาจำหน่ายปลีกซอสและเครื่องปรุงรสไทยบางส่วน สำรวจทางเว็บไซต์ Shopee, Momo, PChome ในไต้หวัน ณ เดือน กันยายน 2566 ปรากฏดังนี้
– ซอสน้ำจิ้มไก่ย่าง แม่ประนอม 130 ml 35.20 บาท, Taya 920 g. 121.- บาท
– น้ำจิ้มสะเต๊ะ Blue Elephant 190 ml 152.90 บาท, Madam Pum 220 g 97.90 บาท
– เครื่องแกงเขียวหวาน (เจ) แม่ประนอม 50 g 64.90 บาท
– เครื่องแกงเผ็ด deSIAM 70 g 97.90 บาท, J-LEK 195 g 99 บาท, LOBO 50 g 38.50 บาท
– ซอสต้มยำ Cock 454 g 185.90 บาท, Blue Elephant 190 ml 152.90 บาท, Nang Fah 227 g 82.50 บาท
– กะปิ ตาชั่ง 400 g 174.90 บาท, Vthai 200 g 93.50 บาท
– น้ำพริกเผา ฉั่วฮะเส็ง 114 g 49.50 บาท, แม่ประนอม 228 g 189.20 บาท, Blue Elephant 220 g 259.60 บาท
– น้ำปลา SMED 300 ml 60.50 บาท, ABALONE 300 ml 181.50 บาท
– ซอสพริกศรีราชา KAI 530 g 305.80 บาท
– ซอสก๊วยเตี๋ยวเรือ Nang Fah 250 g 82.50 บาท
– ซอสบ๊วย Madam Pum 370 g 104.50 บาท
หมายเหตุ อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญไต้หวัน = 1.10 บาทโดยประมาณ
8. กฎระเบียบและภาษีศุลกากร
8.1 สำนักงานอาหารและยาของไต้หวัน (Taiwan FDA) กำหนดห้ามไม่ให้มี สาร 3-MCPD ในซีอิ๊วเกิน 0.4 ppm. อ้างอิงตาม Sanitation Standard for Limit of 3-Monochloro-1, 2-propanediol in Soy Sauce ทั้งนี้ สาร 3-MCPD คือสาร 3-monochloropropane-1,2-diol (3-MCPD) จัดเป็นสารก่อมะเร็ง เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตที่ใช้กรดเกลือในการย่อยสลายโปรตีนของพืช เช่น ถั่วเหลือง
8.2 การนำเข้าอาหารเข้ามาในไต้หวันต้องผ่านการตรวจสารตกค้าง โดยต้องไม่เกินกว่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด Maximum Residue Limits (MRLs) ที่ FDA ไต้หวันกำหนด หากตรวจพบสารตกค้าง สินค้าจะถูกทำลายหรือส่งกลับทั้งหมด พร้อมทั้งถูกเพิ่มความเข้มงวดในการสุ่มตรวจครั้งต่อไป ปริมาณการใช้วัตถุเจือปนในอาหาร (Food Additive) ต้องเป็นไปตาม Standard for Specification, Scope, Application and Limitation of Food Additive และต้องเป็น Food Additive ที่ได้รับการอนุญาตจาก FDA ให้ใช้ได้ ตามบัญชี Approved Additives ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 800 ชนิด โดย Food Additives ที่ไม่อยู่ในบัญชีดังกล่าว ไม่สามารถนำมาใช้ได้ ข้อมูลเพิ่มเติมปรากฏที่ https://www.fda.gov.tw/ENG/index.aspx
8.3 ภาษีศุลกากร
รายการ | พิกัดศุลกากร | อัตราภาษีนำเข้า |
ซอสและเครื่องปรุงรส | H.S. 2103 | 0 – 15% |
ซุปสำเร็จรูป | H.S. 210410 | 10 – 15% |
ผงชูรส | H.S. 2922 21 006 | 5% |
9. สรุป
ไต้หวันมีการนำเข้าซอสปรุงรสปีละ 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 3 มีสัดส่วนประมาณ 10% ของการนำเข้าทั้งหมด สินค้าซอสและครื่องปรุงรสของไทยถือว่ามีศักยภาพในตลาดไต้หวัน มีกลุ่มผู้บริโภคชาวไทยและชาวเอเชียอาคเนย์ และภัตตาคารร้านอาหารไทยรองรับอยู่แล้ว และยังแนวโน้มเติบโตในกลุ่มผู้บริโภคชาวไต้หวันเพิ่มได้อีกตามกระแสความนิยมอาหารไทย
การเจาะตลาดไต้หวัน ผู้ประกอบการไทยควรเลือกผู้นำเข้าที่มีช่องทางจำหน่ายที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ พยายามพัฒนาสินค้าที่จุดเด่นแตกต่างจากผู้อื่นโดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับสุขภาพ เช่น ไร้สารปรุงแต่ง ใช้กรรมวิธีธรรมชาติ เกลือต่ำ น้ำตาลต่ำ ฯลฯ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ควรมีความทันสมัย การผลิตสินค้าบรรจุขวดขนาดเล็กสำหรับครอบครัวเล็ก หรือผู้ที่ทดลองเริ่มทำอาหารไทยรับประทานเอง ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้โดยง่าย นอกจากนี้การอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภค โดยการแจกสูตรการปรุงอาหารต่างๆ จะทำให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น
ผู้ประกอบการไทยอาจขยายตลาดด้วยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า โดยมีงานที่สำคัญคือ
– Taipei International Food Fair จัดในกรุงไทเป ช่วงมิถุนายน เป็นงานแสดงสินค้าอาหารใหญ่ที่สุดในไต้หวัน เน้นการเจรจาธุรกิจ (B2B) ข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.foodtaipei.com.tw
– Kaohsiung Food Show จัดที่เมืองเกาสุง (Kaohsiung) ทางภาคใต้ของไต้หวัน ในช่วงเดือนตุลาคม เป็นงานเจรจาธุรกิจ (B2B) และค้าปลีก (B2C) จัดงาน 4 วัน ข้อมูลเพิ่มเติมที่ https://www.foodkh.com.tw/en/index.html
ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกไทยที่ประสงค์จะขยายตลาดไปยังไต้หวันสามารถค้นหารายชื่อผู้นำเข้าได้จากแหล่งต่าง ๆ ดังนี้
Taiwan External Trade and Development Council https://www.taiwantrade.com/home.html
Bureau of Foreign Trade, Taiwan https://fbfh.trade.gov.tw/fb/web/queryBasicf.do
Importers and Exporters Association of Taipei https://www.ieatpe.org.tw/en/member.aspx
Taichung Importers & Exporters Chamber of Commerce
http://www.ieat.org.tw/desktopdefault.aspx?portalid=0&panelid=24&tabindex=0&tabid=0
Taiwan Yellow Pages http://www.taiwan-yellowpages.com.tw/
——————————————
รายงานโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2)
โทรศัพท์ 886-2-2723 1800 โทรสาร 886-2-2723 1821
อีเมล : thaicom.taipei@msa.hinet.net
กันยายน 2566
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)