หน้าแรกTrade insightเกษตรอื่นๆ > ราคาน้ำมะพร้าวในจีนพุ่งสูงถึง 4,000% อุปทานยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดจีน

ราคาน้ำมะพร้าวในจีนพุ่งสูงถึง 4,000% อุปทานยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดจีน

ตั้งแต่ต้นปี 2566 ที่ผ่านมานี้ จำนวนคำสั่งซื้อของสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ “น้ำมะพร้าว”ในจีน เพิ่มขึ้นมากกว่า 300% เมื่อเทียบเป็นรายปี และจำนวนร้านอาหารที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าวในจีนเพิ่มขึ้นมากกว่า 368% เนื่องด้วยเทรนด์รักสุขภาพของจีนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมะพร้าวเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ทำให้ชาวจีนนิยมอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของมะพร้าวเพิ่มสูงขึ้นมาก ส่งผลให้ราคาน้ำมะพร้าวจึงพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยราคาเพิ่มขึ้นจาก 100 หยวนต่อตันในปีที่แล้วเป็น 4,000 หยวนต่อตันในขณะนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 4,000%

วัตถุดิบของน้ำมะพร้าวส่วนใหญ่มาจากมะพร้าวซึ่งได้รับผลกระทบจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค ทำให้อุปทานวัตถุดิบต้นน้ำยังตึงตัวและราคาก็พุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งการบริโภคมะพร้าวในจีนมีสองประเภท  น้ำมะพร้าวอ่อนและน้ำมะพร้าวแก่ มะพร้าวอ่อนคือมะพร้าวอ่อนปอกเปลือก ซึ่งมักจะรับประทานโดยตรงหลังปอกเปลือก ส่วนมะพร้าวแก่เป็นมะพร้าวแก่ที่มีความชื้นต่ำ ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้สำหรับการแปรรูปเนื้อมะพร้าวแห้ง เป็นที่ทราบกันดีว่าผลผลิตมะพร้าวในไห่หนานต่อปีอยู่ที่ประมาณ 200 ล้านลูก ซึ่งโดยทั่วไปจะขายเป็นมะพร้าวอ่อน และตอบสนองความต้องการการบริโภคของตลาดท้องถิ่นในมณฑลไห่หนาน ซึ่งเมื่อต้องเผชิญกับความต้องการอย่างมากในตลาดน้ำมะพร้าวของจีน ผู้ผลิตต้องหันมาอาศัยนำเข้าน้ำมะพร้าวจากต่างประเทศ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อมูลการบริโภค พบว่า อุปทานยังคงมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของจีน ซึ่งก็ทำให้การแข่งขันการจัดหามะพร้าวในตลาดจีนเป็นไปอย่างดุเดือด จนดันราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในปี 2563 ตลาดจีนมีความต้องการเพียงแค่เนื้อมะพร้าวเป็นหลัก ส่วนน้ำมะพร้าวไม่เป็นที่ต้องการของตลาด จึงต้องขายต่อในราคาต่ำ แต่ปัจจุบันความต้องการน้ำมะพร้าวสูงขึ้น และราคาก็เกือบ 4,000 หยวนต่อตัน นาย Yun Yongyue ผู้ซื้อมะพร้าวในเมืองเหวินชาง มณฑลไห่หนาน กล่าวว่า “ราคามะพร้าวแก่ในปัจจุบันเพิ่มขึ้นประมาณ 20% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ผู้บริโภครับประทานน้ำมากกว่าเนื้อมะพร้าว อุปสงค์มากกว่าอุปทาน สถานการณ์ความต้องการน้ำมะพร้าวในจีนจึงมีความตึงเครียดอย่างมาก ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการผลิตภัณฑ์มะพร้าวของผู้บริโภคภายในจีน มณฑลไห่หนาน ในปีนี้จึงต้องเพิ่มปริมาณการนำเข้ามะพร้าวอย่างมาก นาย Jiang Yifeng รองผู้อำนวยการฝ่ายกำกับดูแลศุลกากรท่าเรือหยางผู่ สังกัดกรมศุลกากรไหโข่ว กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกรกฎาคมปีนี้ ท่าเรือไห่หนานนำเข้ามะพร้าวจำนวน 330,000 ตัน โดยเพิ่มขึ้น 13.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 550 ล้านหยวน ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศต่างๆ เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย อีกทั้ง ตามข้อมูลสื่อข่าวของจีนล่าสุด ระบุว่า บางบริษัทของจีน ยังได้เริ่มมีการตั้งโรงงานในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เพื่อขยายอาณาเขตของอุตสาหกรรมมะพร้าว และเพื่อลดต้นทุนด้านการขนส่งและวัตถุดิบด้วย

เบื้องหลังราคาน้ำมะพร้าวที่พุ่งสูงขึ้นสะท้อนถึงความต้องการและความต้องการเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของผู้บริโภค น้ำมะพร้าวเป็นเครื่องดื่มจากธรรมชาติที่ปราศจากสารปรุงแต่งและมีคุณค่าทางโภชนาการ ได้รับความนิยมจากผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากอุปทานน้ำมะพร้าวของจีน พบว่า ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดจีน ทำให้ราคาจะยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป

ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

สถานการณ์ความต้องการมะพร้าวในจีน จะยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทางสคต.กวางโจว ได้รับแจ้งจากตัวแทนจำหน่ายน้ำมะพร้าวแบรนด์ไทยในจีนว่า ขณะนี้เครื่องดื่มน้ำมะพร้าวแบรนด์ไทยในจีนขาดตลาด และดันราคาน้ำมะพร้าวให้สูงขึ้นตามไปด้วย  นอกจากนี้ ตามรายงานสื่อข่าวของจีน ระบุว่า เนื่องด้วยความต้องการน้ำมะพร้าวที่สูงขึ้นมากในจีน ส่งผลให้เครื่องดื่มน้ำมะพร้าวบางแบรนด์ในจีน มีการเติมน้ำตาล รสชาติ สารกันบูด และสารอื่น ๆ ในระหว่างกระบวนการผลิตทำให้คุณภาพและประสิทธิภาพของน้ำมะพร้าวลดลง

อย่างไรก็ตาม นับว่าเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการส่งออกมะพร้าวและเครื่องดื่มน้ำมะพร้าวของไทย ที่จะสามารถเพิ่มปริมาณการส่งออก และสามารถจำหน่ายในราคาที่สูงขึ้นด้วย ทั้งนี้ ผู้ผลิตเครื่องดื่มน้ำมะพร้าวของไทย ควรติดตามสถานการณ์การบริโภคมะพร้าวของจีนอย่างใกล้ชิด พร้อมปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดจีน พร้อมทั้งรักษาคุณภาพ และรสชาติของเครื่องดื่มน้ำมะพร้าวแบบ100% เพื่อให้ได้รับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจีนต่อไป

https://cj.sina.com.cn/articles/view/1855523174/6e990966001012suh

จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login