นาย Le Minh Hoan รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท ระบุว่า ความต้องการข้าวที่มากขึ้นในตลาดต่างประเทศส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดเวียดนามสูงขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
สมาคมอาหารเวียดนาม (Vietnam Food Association: VFA) แสดงให้เห็นว่าราคาส่งออกข้าวหัก 5% ของเวียดนามอยู่ที่ 638 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน และข้าวหัก 25% อยู่ที่ 618 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 105 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ในเดือนกรกฎาคม 2566 ราคาข้าวตลาดโลกอยู่ระดับสูงสุดในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาเฉลี่ยในตลาดข้าวเปลือกในเวียดนามในเดือนสิงหาคม 2566 อยู่ที่ 7,786 ด่ง ต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ข้าวขาวระดับพรีเมียมเพิ่มขึ้นสูงสุด โดยมีราคา 14,925 ด่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.4 ข้าวหัก 5% อยู่ที่ 14,633 ด่ง ต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.7 ข้าวหัก 15% และ 25% อยู่ที่ 14,033 ด่ง ต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 27
มีผู้ค้าจำนวนมากต้องแข่งขันกันเสนอราคาเพื่อซื้อข้าวจากชาวนาในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ผลิตข้าวที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ทำให้ราคาสูงขึ้นไปอีก บริษัทส่งออกข้าวบางแห่งรายงานว่าต้นทุนวัตถุดิบสำหรับพันธุ์ข้าวบางพันธุ์เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 50 เพียงหนึ่งเดือนก่อนหน้า การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้โรงงานข้าวต้องลดกำลังการผลิตเนื่องจากความยากลำบากในการจัดหาวัตถุดิบและขยายเวลาการส่งมอบให้กับลูกค้า
รัฐมนตรีกระทรวงฯ ได้ส่งรายงานไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการขึ้นราคา รวมถึงการห้ามส่งออกข้าวที่ออกโดยรัฐบาลบางแห่งในภูมิภาคที่ผลิตข้าวหลักทั่วโลก ซึ่งแสดงความกังวลและย้ำถึงความสำคัญของการหลีกเลี่ยงการขึ้นราคาเนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคในประเทศ อย่างไรก็ตาม จะต้องคำนึงถึงอุตสาหกรรมส่งออกข้าวของเวียดนาม ก่อนที่จะใช้มาตรการเพื่อควบคุมการส่งออก ชาวนาในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงยังคงอยู่ในฤดูปลูกข้าว หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน เวียดนามจะยังสามารถส่งออกข้าวได้ 7-8 ล้านตันในปี 2566
ณ ปัจจุบัน พื้นที่ผลิตข้าวมีเพียงประมาณร้อยละ 20 ของพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่อยู่ภายใต้การทำเกษตรแบบพันธสัญญา ส่วนที่เหลือปล่อยให้เป็นการค้าอย่างอิสระ ด้วยอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นและอุปทานที่จำกัด ราคามีแนวโน้มจะสูงขึ้นในอนาคต
กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าได้ออกคำสั่งเพื่อส่งเสริมการค้า พัฒนาตลาดส่งออก และรักษาเสถียรภาพราคาในประเทศ ภายใต้คำสั่งดังกล่าว มาตรการตรวจสอบและควบคุมที่เข้มงวดยิ่งขึ้นจะถูกนำไปใช้กับกิจกรรมการค้าข้าวในจุดขายส่งและขายปลีก ตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต ศูนย์การค้า และคลังสินค้าทั่วประเทศ เพื่อควบคุมการเก็งกำไร การกักตุน และการกำหนดราคาที่ไม่สมเหตุสมผล
(จาก https://vietnamnews.vn/)
ข้อคิดเห็น สคต
ในช่วงที่ผ่านมา ด้วยการที่อินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกได้ประกาศห้ามการส่งออกข้าว ซึ่งส่งผลให้ราคาอาหารหลักทั่วโลกสูงขึ้น สำหรับผู้ส่งออกในอุตสาหกรรมข้าวเวียดนามจะได้รับผลกระทบทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมข้าวเวียดนามผ่านช่องทางราคาและปริมาณการส่งออก ความต้องการข้าวในตลาดโลกจมีแนวโน้มมากเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยจะมีโอกาสอย่างมากสำหรับเวียดนามในการส่งเสริมการส่งออกข้าวในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 เวียดนามส่งออกข้าวไปต่างประเทศ 4.84 ล้านตัน มูลค่า 2,580 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ราคาข้าวในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของเวียดนามเมื่อปลายเดือนกรกฎคม 2566 ที่ระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี หลังจากอินเดียห้ามส่งออกข้าว อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกในอุตสาหกรรมข้าวเวียดนามจำเป็นจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ท่ามกลางความไม่แน่นอนสูงของปัจจัยเสี่ยงทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ทั้งในปัจจุบันและอนาคต แม้ว่าเวียดนามจะเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ 3 อันดับแรกของโลก แต่เวียดนามต้องนำเข้าข้าวประมาณ 1 ล้านตันต่อปีจากอินเดียเพื่อแปรรูป การห้ามส่งออกของอินเดียจะทำให้อุปทานในตลาดเวียดนามตึงเครียด ซึ่งผลักดันราคาให้สูงขึ้นและข้าวหอมหลายชนิดราคาเพิ่มขึ้น ซึ่งการรับประกันความมั่นคงด้านอาหารและความต้องการบริโภคภายในประเทศยังคงมีความสำคัญสูงสุด
ที่มา: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)