หน้าแรกTrade insightอาหารแปรรูป > รัฐบาลฮังการีขยายเวลาตรึงราคาสินค้าอาหารต่อถึง 30 มิ.ย. 66 แบงก์ชาติเริ่มส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ย

รัฐบาลฮังการีขยายเวลาตรึงราคาสินค้าอาหารต่อถึง 30 มิ.ย. 66 แบงก์ชาติเริ่มส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ย

ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ วันที่ 24-28 เมษายน 2566
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 นาย Gergely Gulyás รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีที่ต้องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของประชาชนที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ที่เลขหลักเดียวภายในสิ้นปีนี้ คณะรัฐมนตรีฮังการีจึงมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการขยายมาตรการตรึงราคาสินค้าอาหารพื้นฐานในระดับราคาค้าปลีก ประจำวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ได้แก่ แป้งสาลีอเนกประสงค์ น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำตาลทรายนม UHT ไขมันต่ำ 2.8% เนื้อหมูส่วนสะโพก และเนื้อไก่ส่วนอก ปีก และหลัง รวมถึงไข่ไก่ขนาดกลางและมันฝรั่ง ในระดับราคาค้าปลีกประจำวันที่ 30 กันยายน 2565 ต่อไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566

นอกจากนี้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนเพิ่มเติม รัฐบาลฮังการีจะขอความร่วมมือให้ร้านค้าปลีกที่มีสาขาและซุปเปอร์มาร์เก็ตทุกแห่งในประเทศ ยกเว้นร้านขายของชำอิสระขนาดเล็กในชุมชน จัดแคมเปญลดราคาสินค้าอาหารพื้นฐาน 20 ประเภท เช่น เนื้อสัตว์ปีก ชีส ขนมปัง ขนมอบ ผัก ผลไม้ เป็นต้น โดยรัฐบาลจะประกาศรายละเอียดประเภทสินค้าอีกครั้งหนึ่ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 โดยกำหนดให้ในแต่ละสัปดาห์ ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกต้องลดราคาขายของสินค้าอย่างน้อย 1 รายการ จากประเภทสินค้าทั้งหมด 20 ประเภทสินค้า โดยการดำเนินการทั้งหมดจะมีเจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบ

อัปเดต: เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา เว็บไซต์รัฐกิจจานุเบกษาฮังการีได้เผยแพร่รัฐกฤษฎีกาฉบับที่ 162/2023 ว่าด้วยการบังคับจัดทำโปรโมชั่นลดราคาสินค้าอันสืบเนื่องมาจากภาวะเงินเฟ้อ โดยให้มีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน จนถึง 30 กันยายน 2566 ดังต่อไปนี้

  1. เนื้อสัตว์ปีก
  2. เนื้อหมู เนื้อวัว และเนื้อสัตว์บกประเภทอื่นๆ
  3. เนื้อปลาและปลากระป๋อง
  4. ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์
  5. นม ครีม และสารทดแทนนม
  6. โยเกิร์ตและของหมักดองอื่นๆ
  7. ผลิตภัณฑ์นมอื่นๆ
  8. ชีส
  9. เนยและมาการีน
  10. ไขมันประเภทอื่นๆ (ทั้งจากพืชและสัตว์)
  11. ขนมปัง
  12. ขนมอบ เบเกอรี่
  13. พาสต้าชนิดแห้ง ข้าว และธัญพืชอื่นๆ
  14. แป้ง น้ำตาล และผลิตภัณฑ์แป้งแปรรูป
  15. ผักสด
  16. ผลไม้สด
  17. น้ำผักผลไม้
  18. อาหารสำเร็จรูป เครื่องเทศ และเครื่องปรุงรส
  19. กาแฟและชา
  20. น้ำแร่และน้ำอัดลม

ในประเด็นการปกป้องภาคการเกษตรในท้องถิ่นในประเทศที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากภาวะโรคระบาดและภัยแล้งมาหลายปี รัฐบาลฮังการีเดินหน้าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทานช่วงเกษตรกร และสั่งระงับการนำเข้าสินค้าอาหารจากยูเครนที่มีราคาถูกกว่าผลิตผลทางการเกษตรของฮังการี เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคยุโรปกลาง เช่น โปแลนด์ และสโลวาเกีย โดยขยายขอบเขตสินค้าการเกษตรของยูเครนที่ห้ามนำเข้ามาในประเทศเพื่อการจำหน่ายในตลาดชั่วคราว จนกว่าสหภาพยุโรปจะแก้ปัญหาสินค้าการเกษตรราคาตกต่ำได้ ได้แก่ ธัญพืช เมล็ดพืชน้ำมัน น้ำผึ้ง ไวน์ ขนมปัง น้ำตาล เนื้อสัตว์ และผักผลไม้ต่างๆ อย่างไรก็ตาม หากเป็นการนำเข้าเพื่อส่งต่อไปยังจุดหมายปลายทางประเทศอื่น ฮังการียังคงอนุญาตให้ขนส่งสินค้าผ่านแดนได้

อนึ่ง นับตั้งแต่มีการบรรลุข้อตกลงระเบียงทะเลดำ (Black Sea Grain Initiative) ระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ทำกับตุรกีและสหประชาชาติ ที่เปิดโอกาสให้ยูเครนกลับมาส่งออกธัญพืชของตนได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 หลังการขนส่งสินค้าหยุดชะงักลงจากภาวะสงคราม สินค้าการเกษตรของยูเครนที่มีราคาถูกกว่าของประเทศสมาชิกอื่นๆ ในสหภาพยุโรปก็ไปตกค้างอยู่ในภูมิภาคยุโรปกลาง เนื่องจากปัญหาคอขวดด้านโลจิสติกส์ สินค้าระบายออกไม่ทัน ส่งผลกระทบต่อระดับราคาของสินค้าอาหารในตลาดภูมิภาคยุโรป

ด้านนโยบายการเงิน เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งชาติฮังการี มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยดอกเบี้ยอ้างอิงระยะข้ามคืน (Overnight Rate) ระหว่างธนาคารพาณิชย์ลง 450 bps จาก 25% มาสู่ระดับ 20.5% โดยก่อนหน้านี้ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติฮังการี นาย Barnabas Virág แถลงว่า ธนาคารแห่งชาติฮังการีกำลังพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยในอนาคต เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการกู้ยืมเงินและการลงทุน อย่างไรก็ตาม ธนาคารฯ ยังมองว่า ยังต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 13% เพื่อรอประเมินผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ให้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อที่ยังพุ่งสูงต่อเนื่อง และเงินสกุลโฟรินท์ที่กำลังแข็งค่าขึ้นในช่วงเดือนเมษายน

ข้อคิดเห็นของ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์

การขยายเวลาตรึงราคาสินค้าอาหารต่อครั้งนี้ แม้ว่าจะเป็นปัจจัยบวกในการช่วยเหลือผู้บริโภคด้านราคาสินค้า แต่ในแง่หนึ่งอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจฮังการีในเชิงมหภาค กล่าวคือ แม้รัฐบาลฮังการีจะตั้งเป้าหมายเพื่อรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในตัวเลขหลักเดียวภายในสิ้นปีนี้ แต่มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอาหารในประเทศ ที่ต้นทุนสินค้าที่แท้จริงสูงกว่าราคาที่ตรึงไว้มาก นำไปสู่การขาดแคลนสินค้าในท้องตลาด โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท รวมทั้ง เป็นโอกาสในการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าประเภทอื่นๆ ของผู้ประกอบการ เพื่อชดเชยกำไรที่หายไปจากสินค้าอาหารพื้นฐาน ทั้งนี้ หากผู้ส่งออกไทยที่ต้องการขายสินค้าในหมวดสินค้าอาหาร 20 ประเภทนี้ (ประเภทสินค้าทั้ง 20 ประเภทนี้ รัฐบาลจะประกาศเป็นทางการอีกครั้ง) ก็อาจจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน หากราคาสินค้าสูงกว่าราคาที่รัฐบาลตรึงราคาไว้

การระงับนำเข้าสินค้าเกษตรของยูเครน และแนวโน้มเงินสกุลโฟรินท์ที่เริ่มแข็งค่าขึ้น ทำให้สินค้านำเข้าราคาถูกลง อาจเป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกไทยในการขยายการส่งออกสินค้าอาหารและธัญพืชมายังฮังการี ทั้งนี้ ผู้ส่งออกไทยต้องตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าสินค้าของตนได้มาตรฐานสหภาพยุโรป ก่อนจะติดต่อหาคู่ค้าในประเทศ และต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงในตลาดภูมิภาคยุโรปกลาง เพื่อปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดคล้องกับสถานการณ์

Magyarország Kormány, Mandiner, Pénzcentrum

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login