ร้าน Drug Store พากันหันมาจำหน่ายเนื้อสด ผักผลไม้ราคาย่อมเยาเช่นเดียวกับซูเปอร์มาร์เก็ต และแย่งชิงลูกค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต ยอดจำหน่ายรวมระหว่างเดือนมกราคม – สิงหาคม 2566 ของร้าน Drug Store ทั้งหมดในเขตโฮกุริกุ (จังหวัดโทยามะ จังหวัดอิชิคาวะ และจังหวัดฟุกุอิ) สูงกว่ายอดจำหน่ายรวมของซูเปอร์มาร์เก็ตในเขตเดียวกันเป็นครั้งแรก
จากการสำรวจโดยสมาคม Japan Association of Chain Drug Stores พบว่า ปี 2566 ร้าน Drug Store มียอดจำหน่ายสินค้าประเภทอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 หรือมียอดจำหน่ายเท่ากับ 2.4064 ล้านล้านเยน (ประมาณ 5.7 แสนล้านบาท) สัดส่วนยอดจำหน่ายสินค้าอาหารเทียบกับยอดจำหน่ายโดยรวมเท่ากับร้อยละ 28 มากกว่ายอดจำหน่ายเครื่องสำอางที่มีสัดส่วนร้อยละ 18 สินค้าประเภทอาหารแตกต่างจากสินค้าเวชภัณฑ์หรือเครื่องสำอางที่ผู้บริโภคซื้อประมาณเดือนละ 1 – 2 ครั้ง แต่อาหารเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องรับประทานทุกวัน หากสามารถทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้ออาหารที่ร้าน Drug Store ได้ ก็จะเป็นการเพิ่มจำนวนการเยือนร้าน สินค้าประเภทเวชภัณฑ์มีอัตรากำไรค่อนข้างสูง ทำให้ร้าน Drug Store สามารถจำหน่ายสินค้าประเภทอาหารในราคาย่อมเยาซึ่งเป็นจุดแข็งของร้าน Drug Store
บริษัท KUSURI NO AOKI Co., Ltd. ที่มีร้าน Drug Store ประมาณ 900 แห่งในเขตโฮกุริกุ ตั้งเป้าให้ร้าน Drug Store ในเครือ (เว้นร้านขนาดเล็ก) จำหน่ายสินค้าอาหารประเภทผักและเนื้อสดให้ครบทุกแห่งภายในเดือนพฤษภาคม 2568 สำหรับปีนี้ บริษัทตั้งเป้าจะปรับปรุงร้าน 250 แห่งเพื่อขยายพื้นที่จำหน่ายสินค้าอาหารสด ซึ่งประธานบริษัทให้ความเห็นในงานแถลงผลประกอบการบริษัทว่า “เมื่อร้านมีสินค้าประเภทอาหารครบครัน จะช่วยให้ผู้บริโภคซื้อของได้สะดวกขึ้นเพราะครบในจุดเดียว ไม่จำเป็นต้องแวะซื้อของหลายแห่ง” บริษัทได้เริ่มวางจำหน่ายสินค้าอาหารภายในร้าน Drug Store เมื่อปี 2557 เพื่อสร้างความแตกต่างจากร้าน Drug Store รายอื่นๆ ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทั่วประเทศและมีการแข่งขันสูง ซึ่งในช่วงแรกได้วางจำหน่ายเฉพาะร้านขนาดใหญ่ แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID – 19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปโดยผู้บริโภคต้องการซื้อทั้งยาและอาหารในคราวเดียวกัน ทำให้บริษัทตัดสินใจเพิ่มจำนวนร้าน Drug Store ของบริษัทเกือบทั้งหมดให้มีพื้นที่จำหน่ายอาหาร แต่เนื่องจากร้าน Drug Store ส่วนใหญ่จำหน่ายสินค้า เช่น เครื่องสำอาง เวชภัณฑ์ ของใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นสินค้าที่สามารถอยู่ได้นาน จึงไม่มีความรู้ในการบริหารจัดการสินค้าอาหารสดหรืออาหารแปรรูป บริษัท KUSURI NO AOKI Co., Ltd. จึงได้เข้าซื้อกิจการของซูเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่นและขยายธุรกิจให้เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน บริษัทได้เข้าซื้อกิจการซูเปอร์มาร์เก็ต 8 บริษัท แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องปกติที่ร้าน Drug Store จะเข้าซื้อกิจการซูเปอร์มาร์เก็ต แต่การเข้าซื้อกิจการก็ทำให้บริษัทได้บุคลากรและความรู้ในการบริหารสินค้าประเภทอาหารสดเพิ่มขึ้นด้วย
ในทางกลับกันบริษัท Genky stores. Inc. ที่มีร้าน Genky Drug Store ประมาณ 400 แห่งที่อยู่ในจังหวัดฟุกุอิเป็นส่วนใหญ่ ได้จัดจำหน่ายสินค้าอาหารโดยบริหารจัดการด้วยตัวเอง โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทได้สร้างโรงงานเพื่อผลิตอาหารกล่องและกับข้าวสำเร็จรูปที่จังหวัดโทยามะเพื่อเป็นศูนย์จัดส่งสินค้าประเภทอาหารให้กับร้าน Drug Store ในเครือของบริษัท เป็นเรื่องแปลกที่บริษัทจัดจำหน่ายเครื่องสำอางและเวชภัณฑ์สร้างโรงงานผลิตอาหารแปรรูปและบริหารจัดการการขนส่งด้วยตัวเอง แต่บริษัท Genky stores. Inc. ต้องการจำหน่ายสินค้าอาหารในราคาถูกทุกวัน (EDLP : Every Day Low Price) จึงจำเป็นต้องสร้างโรงงานแปรรูปอาหารเป็นของตัวเองเพื่อลดต้นทุนการขนส่งและการแปรรูปอาหาร และการที่บริษัทสามารถผลิตและขนส่งอาหารได้ด้วยตัวเอง ทำให้บริษัทมีสินค้า Private Brand จำหน่ายราว 2,000 ชนิด ซึ่งบริษัทมีแผนสร้างโรงงานและศูนย์กระจายสินค้าลักษณะนี้อีกที่จังหวัดชิงะในปี 2567 และจังหวัดไอจิในปี 2568 และจากที่ บริษัท Genky stores. Inc. และบริษัท KUSURI NO AOKI Co., Ltd. ซึ่งเป็นร้าน Drug Store นำสินค้าอาหารวางจำหน่ายภายในร้าน ทำให้ 3 จังหวัดในเขตโฮคุริคุ มียอดจำหน่ายรวมของร้าน Drug Store ในช่วงเดือนมกราคม – เดือนสิงหาคม แซงหน้าซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นครั้งแรก ไม่ใช่เพียงเขตโฮกุริกุเท่านั้นที่ร้าน Drug Store เริ่มหันมาจำหน่ายอาหารแบบซูเปอร์มาร์เก็ต ร้าน Drug Store ในเขตคันโตและคิวชูก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวเช่นกัน เช่น บริษัท CREATE SD.CO., LTD. จังหวัดคานางาวะที่อยู่ในเขตคันโต ได้เข้าซื้อกิจการซูเปอร์มาร์เก็ต Yuri Store เมื่อปี 2563 เป็นต้น
บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
ปัจจุบัน ด้วยค่าแรงและค่าสาธารณูปโภคที่สูงขึ้น ทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่นอยู่ในสถานการณ์ลำบากและบางแห่งต้องเลิกกิจการไป ส่วนร้าน Drug Store ซึ่งมีสินค้าจำหน่ายหลากหลาย และมีสินค้ากลุ่มเวชภัณฑ์ที่สามารถทำผลกำไรได้ เมื่อร้าน Drug Store หันมาจำหน่ายสินค้าอาหารจึงสามารถตั้งราคาที่ย่อมเยากลายเป็นคู่แข่งสำคัญของซูเปอร์มาร์เก็ต ปัจจุบัน ร้าน Drug Store ของญี่ปุ่นมีสินค้าจำหน่ายหลากหลาย ทั้งเวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง ของใช้ในชีวิตประจำวัน อาหารสด อาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารสัตว์เลี้ยง ถุงน่อง กางเกงชั้นใน ฯลฯ นับว่าร้าน Drug Store มีสินค้าครบครันทำให้ผู้บริโภคมีช่องทางในการเลือกซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น ร้าน Drug Store จึงอาจกลายเป็นช่องทางจำหน่ายที่น่าสนใจสำหรับสินค้าไทยนอกเหนือจากเครื่องสำอางไทยที่กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคญี่ปุ่นที่สามารถหาซื้อได้ในร้าน Drug Store
ฉบับที่ 9 ประจำวันที่ 25 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2566
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
แปลและเรียบเรียงจาก หนังสือพิมพ์ Nikkei ฉบับวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566
ภาพประกอบข่าวจากเว็บไซต์
https://www.kusuri-aoki-recruit.jp/yakuzai/
อ่านข่าวฉบับเต็ม : “ยอดจำหน่ายร้าน Drug Store พลิกแซงหน้าซูเปอร์มาร์เก็ตในเขตโฮคุริกุ”