ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติสาธารณรัฐเช็ก รายงานข้อมูลยอดค้าปลีกในเช็ก ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12 โดยตัวเลขยอดค้าปลีกแสดงให้เห็นถึงการชะลอตัวของธุรกิจค้าปลีก ที่ลดลงจากร้อยละ 9.5 ในเดือนมีนาคม เป็นร้อยละ 7.7 ในเดือนเมษายน โดยยอดขายอาหารและยอดขายสินค้า Non-Food ลดลงร้อยละ 9.3 และ 9.5 ตามลำดับ
เมื่อเทียบรายปี พบว่าตัวเลขยอดขายในร้านค้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน ลดลงมากที่สุดร้อยละ 16.5 การสื่อสารลดลงร้อยละ 5 เครื่องสำอางและอุปกรณ์อาบน้ำ ลดลงร้อยละ 3.8 อย่างไรก็ดี พบว่ามียอดขายสินค้าบาง่รายการที่ขยายตัว อาทิ ยอดขายยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 6 เนื่องจากการผลิตรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 30 และยอดขายเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7 เมื่อเทียบเป็นรายปี (และเมื่อเทียบรายเดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3) เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงที่ลดลง ร้อยละ 16.7
ตัวเลขยอดค้าปลีกที่ลดลงส่วนใหญ่ ยกเว้นยานยนต์และเชื้อเพลิง สะท้อนให้เห็นถึงภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและสถานการณ์รายได้ของประชาชนที่ลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ที่เกือบร้อยละ 13 นอกจากนี้ ราคาสินค้าอาหารที่พุ่งขึ้นมากได้แก่ ราคาเนื้อสัตว์และราคาน้ำตาล เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 และร้อยละ 60 ตามลำดับ สำหรับราคาสินค้าและบริการในเดือนเมษายน 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 และร้อยละ 10.1 ตามลำดับเมื่อเทียบปีต่อปี ขณะที่สินค้าที่ปรับขึ้นตามปกติทุกปีแต่ปรับขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่า ได้แก่ สินค้าตกแต่ง/อุปกรณ์ในครัวเรือน และการบำรุงรักษาบ้าน
เว็บไซต์ต่าง ๆ ได้ออกมาเผยข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ กำลังซื้อและค่าจ้าง ต่าง ๆ อาทิ Kurzy.cz (ผู้ให้บริการข่าวสารออนไลน์เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน หุ้น และสินค้าทางการเงิน) เผยว่าในปีที่ผ่านมา ค่าจ้างที่แท้จริงในสาธารณรัฐเช็กลดลงประมาณร้อยละ 7 และกำลังซื้ออยู่ที่จุดต่ำสุดในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ เว็บไซต์ AkcniCeny.cz เผยว่าในเดือนพฤษภาคมนี้ ชาวเช็กเกือบ 6 ใน 10 มีการซื้ออาหารลดลงอย่างมากเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อ และเว็บไซต์ Peníze.cz (พอร์ทัลอินเทอร์เน็ตเช็กเกี่ยวกับการเงินส่วนบุคคล) เผยว่าประมาณ 2 ใน 3 ของคนทำงานในเช็กทั้งหมดมีรายได้น้อยกว่าค่าจ้างเฉลี่ย ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 41,000 เช็กคราวน์ ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ จากสำนักงานสถิติแห่งชาติเช็ก แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในสาธารณรัฐเช็ก แต่ผู้บริโภคก็ยังคงรู้สึกกดดันจากราคาที่สูงขึ้น
ข้อเสนอแนะ/โอกาส/แนวทาง
ขณะนี้ยอดค้าสินค้าปลีกในสาธารณรัฐเช็กมีจำนวนลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าในกลุ่มของผลิตภัณฑ์ครัวเรือนสะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังคงลดการใช้จ่าย เนื่องจากรายได้หรือกำลังซื้อที่แท้จริงลดลง ตลาดในประเทศจึงยังมีดีมานด์ค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้ากลุ่มที่ไม่ใช่อาหาร และเป็นสินค้าที่ไม่จำเป็นในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ดี ปัจจัยบวกยังคงมีให้เห็นเมื่อพิจารณาภาพรวมภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากยอดขายสินค้ายานยนต์ และการผลิตรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้เห็นทิศทางบวกของตลาด เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ เริ่มมียอดขายเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยกลุ่มสินค้าของใช้ ของแต่งบ้าน ควรวางแผนและชะลอการขายในตลาดที่ยังคงมีดีมานด์ค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้ การเก็บข้อมูลความต้องการของลูกค้า โดยสังเกตจากเวปไซต์ออนไลน์ของท้องถิ่น เก็บข้อมูลสินค้าที่มีขายดี เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการวางแผนการผลิต การกำหนดขนาดและราคาของสินค้าได้อย่างเหมาะสม อาทิ การนำเสนอราคาโปรโมชั่นพิเศษ การปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ และปรับให้ขนาดและราคาถูกลง เพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับลูกค้า เนื่องจากผู้บริโภคมีรายได้ลดลง ต้องการลดรายจ่าย จึงต้องการซื้อสินค้าที่มีขนาดเล็กลงและราคาไม่สูงนัก เป็นต้น
สำหรับในกลุ่มสินค้าชิ้นส่วน/ส่วนประกอบยานยนต์ เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมาซึ่งตลาดได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ Covid-19 ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงที่ขาดแคลนชิปในการผลิต ดังนั้น เมื่อยอดขายยานยนต์เริ่มขยายตัว จึงเป็นโอกาสของผู้ผลิต/ผู้ประกอบการไทยสำหรับสินค้ากลุ่มนี้
*********************************
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)