เนื้อหาสาระข่าว: สำนักการสำรวจประชากร (U.S. Census Bureau) กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ (U.S. Department of Commerce) ได้รายงานข้อมูลมูลค่าการใช้จ่ายภาคการก่อสร้างในสหรัฐฯ ที่เติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในภาพรวมนั้นจากเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม เติบโตขึ้นกว่า 1% และเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์เอาไว้ ซึ่งดัชนีดังกล่าวในเดือนกันยายนปีนี้ เติบโตมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมาถึง 8.7% ในภาพรวมของการก่อสร้างทั้งในภาครัฐ และภาคเอกชน
อย่างไรก็ตามภาคส่วนย่อยของมูลค่าการใช้จ่ายภาคการก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้างในภาครัฐ และภาคเอกชนนั้นแตกต่างกัน แม้ว่าอัตราการเติบโตจะใกล้เคียงกัน แต่สำหรับในภาคเอกชนนั้นจะมีความโดดเด่นในการลงทุนการก่อสร้างในภาคที่อยู่อาศัยมากกว่า โดยในเดือนกันยายนที่ผ่านมาเติบโตขึ้นกว่า 0.4% ต่อเนื่องจากเมื่อเดือนสิงหาคมที่พุ่งสูงขึ้นกว่า 1.3% ในขณะที่มูลค่าการใช้จ่ายภาคการก่อสร้างในภาครัฐจะโดดเด่นในภาคการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ทางหลวงและถนน สถานศึกษา ระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น โดยในเดือนกันยายนที่ผ่านมาเติบโตขึ้นกว่า 0.4% ต่อเนื่องจากเมื่อเดือนสิงหาคมที่สูงขึ้นกว่า 0.9%
(แผนภาพที่ 1: ดัชนีมูลค่าการใช้จ่ายภาคการก่อสร้างในสหรัฐฯ ปี 2017 – 2023)
การเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องของมูลค่าการใช้จ่ายภาคการก่อสร้างในสหรัฐฯ ที่ปรากฎในช่วงนี้ ถือว่าเป็นสภาวะที่น่าจับตา เนื่องจากเป็นการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด และค่อนข้างเป็นไปในแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2023 ที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากนโยบายภาครัฐของประธานาธิบดีไบเดนส่วนหนึ่ง และปัจจัยทางเศรษฐกิจ และสังคมอื่นๆ ที่เกิดความเปลี่ยนแปลงพอสมควรในช่วงที่ผ่านมา
บทวิเคราะห์: มูลค่าการใช้จ่ายในภาคการก่อสร้างในภาพรวมของสหรัฐฯ ระหว่างเดือนพฤษภาคม – กันยายน ปี 2023 มีอัตราเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 0.4 – 0.9% (อัตราเติบโตสูงสุดอยู่ในเดือนสิงหาคม ที่ 0.9% ) โดยในเดือนกันยายนที่ผ่านมามีมูลค่าการใช้จ่ายในภาคการก่อสร้างสูงถึง 1,996,525 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเกือบ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกแล้วจะพบว่ากว่า 78% เป็นการก่อสร้างของภาคเอกชน และอีก 22% เป็นการก่อสร้างของภาครัฐ
ทำให้เมื่อพิจารณาเรียงลำดับมูลค่าการใช้จ่ายภาคการก่อสร้างในประเภทต่าง ๆ จากภาพรวม 5 อันดับแรก การก่อสร้างที่อยู่อาศัย (Residential) มีสัดส่วนมากที่สุดโดยคิดเป็น 44% ของมูลค่าการใช้จ่ายในภาคการก่อสร้างทั้งหมด โดยมีมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 871,985 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามด้วยการก่อสร้างสถานประกอบการ (Manufacturing) อยู่ที่ประมาณ 10% โดยมีมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 197,828 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่การก่อสร้างอาคารพาณิชย์ (Commercial) อยู่ที่ 6.7% โดยมีมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 131,878 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีการก่อสร้างทางหลวงและถนน (Highway and Street) กับแหล่งพลังงาน (Power) อยู่ที่ 6.6% และ 6.1% โดยมีมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 131,150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 120,299 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ
(แผนภาพที่ 2: ดัชนีมูลค่าการใช้จ่ายภาคการก่อสร้างในภาพรวม เดือนพฤษภาคม – กันยายน 2023)
จากข้อมูลข้างต้นพบว่ามูลค่าการใช้จ่ายภาคการก่อสร้างประเภทที่อยู่อาศัยมีสัดส่วนมากที่สุดนั้น ไม่เพียงเฉพาะในภาพรวม แต่เป็นสัดส่วนมากที่สุดในภาคเอกชนด้วยเช่นกัน โดยมีมูลค่ารวมมากกว่ามูลค่าการก่อสร้างประเภทอื่นๆ รวมกัน โดยคิดเป็นประมาณ 56% จากทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้สามารถแยกตามประเภทของที่อยู่ได้โดยคร่าว 3 ประเภทประกอบด้วย 1. บ้านเดี่ยว (New Single Family) คิดเป็นประมาณ 46% 2. อาคารอยู่อาศัยรวม (New Multifamily) คิดเป็นประมาณ 15.5% และ 3. ที่อยู่อาศัยประเภทอื่นๆ ซึ่งนับรวมการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่ด้วย คิดเป็น 38.5% ในขณะที่การก่อสร้างสถานประกอบการ อาคารพาณิชย์ แหล่งพลังงาน และสำนักงาน มีมูลค่าการใช้จ่ายสำหรับการก่อสร้างเรียงลงมาตามลำดับ
(แผนภาพที่ 3: ดัชนีมูลค่าการใช้จ่ายภาคการก่อสร้างในภาคเอกชน เดือนพฤษภาคม – กันยายน 2023)
สำหรับการพิจารณารายละเอียดมูลค่าการใช้จ่ายภาคการก่อสร้างในภาครัฐของสหรัฐฯ นั้น จะแบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ได้แก่ การก่อสร้างประเภทที่อยู่อาศัย (โครงการบ้านพักของรัฐบาล) อยู่ที่ประมาณ 2.3 % และส่วนที่เหลือกว่า 98% จะเป็นการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญ โดย 5 อันดับแรกประกอบด้วย การก่อสร้างทางหลวงและถนนมีสัดส่วนสูงสุดคิดเป็นประมาณ 30% ของทั้งหมด ตามด้วยสถานศึกษา (Educational) คิดเป็นประมาณ 21.4% ในขณะที่ระบบขนส่ง (Transportation) อยู่ที่ประมาณ 10.2% ในส่วนของระบบสาธารณูปโภค เช่น ระบบบำบัดน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล (Sewage and Waste Disposal) คิดเป็นประมาณ 9.2% และระบบการประปา (Water Supply) อยู่ที่ประมาณ 6% จากทั้งหมด
(แผนภาพที่ 4: ดัชนีมูลค่าการใช้จ่ายภาคการก่อสร้างในภาครัฐ เดือนพฤษภาคม – กันยายน 2023)
หากวิเคราะห์ที่มาของการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของมูลค่าการใช้จ่ายในภาคการก่อสร้างของสหรัฐฯ จะพบว่าจากข้อมูลรายละเอียดการก่อสร้างแต่ละประเภทนั้น มีความเชื่อมโยงกับนโยบายรัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนในด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ เทคโนโลยี Semiconductor และอื่นๆ เพื่อเสริมกำลังการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และเพิ่มอัตราการจ้างงานภายในประเทศผ่านกรอบนโยบาย Bidenomics ซึ่งมีหลักการสำคัญประกอบด้วย
-
-
- ส่งเสริมการลงทุนภาครัฐอย่างชาญฉลาด (Make Smart Public Invest) มุ่งเน้นการลงทุนเพื่อสร้างแล้วพัฒนาโครงสร้างและระบบพื้นฐานทั้งหมด อาทิ ระบบการคมนาคม ระบบโทรคมนาคม แหล่งพลังงานสะอาด และอื่น ๆ เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
-
-
-
- เสริมสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ของแรงงาน (Empowering and Educating Workers) เสริมสร้างศักยภาพและองค์ความรู้เชิงทักษะให้กับแรงงานในภาคส่วนต่าง ๆ ผ่านโปรแกรมอบรม และสนับสนุนการพิทักษ์สิทธิ์ของแรงงาน และความเป็นสหภาพ (Union) ของแรงงาน
-
-
-
- สนับสนุนการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม (Promoting Competition) ปรับปรุงระบบ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการค้า เพื่อสนับสนุนให้เกิดการแข่งขัน ที่เป็นธรรมในตลาดระหว่างผู้ประกอบการรายเล็กและรายใหญ่
-
อีกหนึ่งนโยบายที่สำคัญคือโครงการ Investing in America ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนการสร้าง และพัฒนาโครงสร้างและระบบพื้นฐานที่สำคัญทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งนับถึงปัจจุบันมีการลงทุนไปแล้วมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมีทั้งโครงการของรัฐบาลส่วนกลาง รัฐบาลท้องถิ่นระดับมลรัฐ และสนับสนุนเอกชน ในปัจจุบันมีโครงการที่กำลังดำเนินอยู่ทั้งหมดประมาณ 60,000 โครงการทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมต่างๆ ประกอบด้วย Semiconductors และเครื่องใช้ไฟฟ้า (Electronics) แบตเตอรี่และแหล่งพลังงานไฟฟ้า (EVs and Batteries) ระบบการผลิตพลังงานสะอาด (Clean Energy Manufacturing) เทคโนโลยีชีวภาพ (Biomanufacturing) อุตสาหกรรมหนัก (Heavy Industry) และโครงการเพื่อการสนับสนุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ระบบการคมนาคม ระบบขนส่งสาธารณะ ระบบสาธารณูปโภค และระบบโทรคมนาคมทั้งหมด รวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย
ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: ข้อมูลการเติบโตของการใช้จ่ายภาคการก่อสร้าง สะท้อนให้เห็นถึง ทิศทางการพัฒนา และการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นในสหรัฐฯ ขณะนี้ โดยมีเหตุปัจจัยสนับสนุนหลัก มาจากนโยบายของรัฐบาลกลางในปัจจุบันที่กำลังส่งเสริม และมุ่งเน้นการลงทุนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานประเภทต่างๆ อย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญ
การเจริญเติบโตในลักษณะนี้ของสหรัฐฯ จะเป็นผลดีและเป็นโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจที่เกี่ยวกับการก่อสร้างทั้งหมด ตั้งแต่วัตถุดิบในการผลิตจนถึงวัสดุก่อสร้าง ตลอดจนภาคการบริการอื่นๆ ที่สามารถเป็นประโยชน์ให้กับโครงการก่อสร้างทั้งหลาย ในการเข้าถึงความต้องการสินค้าและบริการในภาคการก่อสร้างของตลาดสหรัฐฯ ผู้ประกอบการไทยในธุรกิจก่อสร้างควรติดตามแนวโน้มการเติบโตที่ต่อเนื่องนี้ภายในภาคการก่อสร้างของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดเพื่อประโยชน์ทางการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในภาคเอกชนทั้งในรูปแบบการสร้างบ้านใหม่และการปรับปรุงที่อยู่อาศัย ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้บริโภคมีความมั่นใจในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ว่าจะไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในปีหน้าที่กำลังจะถึงนี้
ที่มา: Reuters เรื่อง: “US construction spending rises in September” โดย: Lucia Mutikani และ Andrea Ricci สคต. ไมอามี /วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)