หน้าแรกTrade insightอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล > ภาษีมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซเป็นแหล่งรายได้สำคัญของกัมพูชา

ภาษีมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซเป็นแหล่งรายได้สำคัญของกัมพูชา

  • จากรายงานของกรมสรรพากรกัมพูชา (The General Department of Taxation : GDT) ระบุว่า รายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มจากอีคอมเมิร์ซในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) ปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 46 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้จากการดำเนินการและการให้บริการด้านธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์
  • รายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มอีคอมเมิร์ซในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้สูงกว่ารายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มอีคอมเมิร์ซที่รวบรวมตั้งแต่เดือนเมษายนถึงธันวาคมปีที่แล้วเล็กน้อย ซึ่งอยู่ที่ 44 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • แม้ว่ารายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มอีคอมเมิร์ซปีนี้เพิ่มขึ้น แต่ GDT กัมพูชายังได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอีคอมเมิร์ซจากหน่วยงานภาษีในประเทศต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดเก็บรายได้ภาษีธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ ในอนาคต
  • ทั้งนี้ การจัดเก็บรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% สำหรับธุรกรรมอีคอมเมิร์ซของกัมพูชามีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 และบริษัทใหญ่ๆ ที่เสียภาษี ได้แก่ Google, Facebook, YouTube, Alibaba, Microsoft และ TikTok เป็นต้น
  • H.E. Kong Vibol อธิบดีกรมสรรพากรกัมพูชา เปิดเผยว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มจากอีคอมเมิร์ซเป็นแหล่งรายได้ที่มีศักยภาพที่ทำให้รัฐบาลกัมพูชามีงบประมาณของประเทศเพิ่มขึ้น
  • ทั้งนี้ การจัดเก็บรายได้จากภาษีต่างๆ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 มีจำนวนประมาณ 2,312 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยภายในปี 2566 รัฐบาลกัมพูชาได้ตั้งเป้าหมายรายได้จากภาษีไว้ที่ 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับปี 2565

ความเห็นของสำนักงานฯ

  1. ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การเจริญเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซพร้อมกับการพัฒนาอย่างรวดเร็วของ การชำระเงินดิจิทัลได้กลายเป็นเทรนด์ใหม่ในการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในกัมพูชา โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงทำให้นักธุรกิจจำนวนมากหันมาใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ชื่นชอบการซื้อสินค้าทางออนไลน์
  2. วิธีการชำระเงินแบบดิจิทัลของกัมพูชามีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้การชำระเงินซื้อสินค้าทางออนไลน์ง่ายและสะดวกรวดเร็ว จึงทำให้รายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มจากอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ ได้บ่งบอกถึง การเจริญเติบโตในการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของคนกัมพูชา
  3. ปัจจุบันคนกัมพูชามีพฤติกรรมในการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสและช่องทางในการขยายตลาดสู่กัมพูชาของผู้ประกอบการไทยที่อยากขายสินค้าของตนมายังกัมพูชาเพิ่มมากขึ้น โดยผู้ประกอบการไทยสามารถใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการขยายสินค้ามายังตลาดกัมพูชา ได้แก่ Facebook, Instagram, Tik Tok, Tinh Tinh, Mayura และ AliExpress เป็นต้น ทั้งนี้ AliExpress มีศูนย์กระจายสินค้าในไทยและเป็นแพลตฟอร์มที่คนกัมพูชารู้จักมานานหลายปี

 —————————

 Khmer Times

กันยายน 2566

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ, กัมพูชา

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login